ไม่พบผลการค้นหา
สนทนากับแชร์แมนคนใหม่ของ ‘ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์’ ถึงวิธีคิด และการแก้โจทย์ท้าทายมากมาย หลากหลาย ในภารกิจชุบชีวิตร้านหนังสือที่อยู่คู่กับคนไทยมานานเกือบ 30 ปี

เมื่อเริ่มต้นบทสนทนาด้วยประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยี หลายคนมักรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่หวือหวา เซ็กซี่ น่าค้นหาเอาเสียเหลือเกิน ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อพูดถึงวงการหนังสือ ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นประเด็นที่เชย และโอลสกูลไปเสียแล้ว

ทว่ามันไม่มีอะไรทดแทนอะไรได้ คือแนวคิดสำคัญของประธานกรรมการคนใหม่ของ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ‘เกษมสันต์ วีระกุล’ ซึ่งเข้ามานั่งแท่นบริหารร้านหนังสือ และสำนักพิมพ์ที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนานเกือบ 30 ปี นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา

เกษมสันต์ จากคนทำสื่อ สู่นักธุรกิจ นักการเมือง และนักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาบริหารธุรกิจมาหลายประเภท สั่งสมประสบการณ์ปีแล้วปีเล่า พร้อมความรู้หลายแขนง

วันนี้ เขามานั่งแท่นแชร์แมน และซีอีโอ ในหนึ่งธุรกิจที่ตนเองรัก และมีแพสชั่นด้วยมากที่สุด นั่นคือ ‘หนังสือ’ เราจึงชวนเขานั่งลงคุยกันท่ามกลางบรรยากาศงานหนังสือสบายๆ ถึงเรื่องราวเกือบครบขวบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันแรกที่เขาเข้ามาพลิกโฉมซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ จนมาวันนี้ – ว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง แล้วอะไรอีก ที่ผู้ชายคนนี้อยากจะทำให้มันเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

“สวัสดีครับ ขอโทษที่ให้รอนาน” ประธานแห่งซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ เอ่ยทักทายด้วยท่าทีสุภาพ ก่อนทรุดตัวลงนั่งให้สัมภาษณ์บนบีนแบ็กสีแดงสด ท่ามกลางบรรยากาศของงานเทศกาลหนังสือซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ ที่เซ็นทรัลพระราม 2

ในวัย 55 ปีเขาดูยุ่ง แต่ก็มีเอเนอจี้กับทุกสิ่งที่ทำ และทุกบทสนทนาที่มีส่วนร่วม

เกษมสันต์ วีระกุล 2.jpg
  • ‘เกษมสันต์ วีระกุล’ ประธานกรรมการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)

เราขอเปิดฉากด้วยคำถามที่สงสัยมานานว่า ในฐานะคนเคยบริหารกิจการมามากมาย ทั้งตำแหน่งผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรของบริษัทสุราขนาดใหญ่ ไปจนธุรกิจสื่อ ทำไมในวันนี้ เขาจึงเลือกมาบริหารธุรกิจหนังสือ ซึ่งกันเห็นอยู่ชัดเจนว่าเป็นธุรกิจตะวันตกดิน และมากด้วยความท้าทาย

“เพราะการอ่านทำให้ผมมีวันนี้” เกษมสันต์ตอบพร้อมรอยยิ้มแบบไม่ต้องคิด ดังนั้น การตกลงปลงใจหันมาบริหารธุรกิจหนังสือตามคำชักชวนของเพื่อนเก่าเพื่อนแก่ เพื่ีอให้ซีเอ็ดบุ๊คยังคงอยู่ ดำเนินกิจการด้วยตัวของมันเอง เป็นร้านหนังสือสำหรับคนไทยต่อไป จึงเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างมากสำหรับเขา และนั่นหมายความว่า เขาพร้อมเผชิญทุกโจทย์ยากอีกด้วย


– 1 –

ในระยะ 5 ปีหลัง มูลค่าตลาดหนังสือหดตัวลงมาก จนคนเดินถนนแทบทุกคนคงรู้สึกได้ แต่หากต้องการตัวเลขยืนยัน สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เคยประกาศไว้ว่า ช่วงปี 2554-2555 ตลาดหนังสือไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 26,000 ล้านบาท แต่พอปี 2556 ยาวถึง 2561 ขนาดตลาดหดหายถึง 10,000 ล้านบาท เหลือเพียงราว 16,000 ล้านบาทเท่านั้น

แน่นอนว่า มันเป็นผลกระทบครั้งใหญ่จากการดิสรัปต์ด้วยเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย และคอนเทนต์ออนไลน์ที่นำเสนออย่างกลาดเกลื่อน คนเสพเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น เพราะสะดวก แถมฟรีด้วย ยอดขายหนังสือจึงตกลงฮวบอย่างไม่ต้องสงสัย

“เพราะฉะนั้นเราต้องใช้คำว่า ปรับทั้งองค์กร (Total Change)” เกษมสันต์บอกเมื่อถามว่า สิ่งแรกที่ทำหลังจากเข้ามารับตำแหน่งคืออะไร?

“ซีเอ็ดบุ๊คกำลังโดนดิสรัปต์ทุกด้าน ไม่ใช่แค่เรา ทุกเจ้าโดนหมด พฤติกรรมคนเปลี่ยนจากอ่านหนังสือเล่มไปเป็นดิจิทัล อ่านหนังสือน้อยลง และเศรษฐกิจก็ไม่ดี คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ต้องเปลี่ยนองค์กร

สิ่งที่ทำคือ เอาข้อมูลมาดู ข้อเท็จจริงอยู่ตรงไหน โชคดีที่ทีมบริหารซีเอ็ดมีข้อมูลทั้งหมด รู้ว่าแต่ละสาขาคืออะไร กำไร ต้นทุน อยู่ตรงไหน พฤติกรรมแต่ละสาขาอ่านอะไร ซื้ออะไร พอเห็นตัวเลขแล้ว เพื่อให้มั่นใจ ผมลงสาขาไปตรวจเยี่ยม” 

เกือบปีที่ผ่านมา เกษมสันต์ลงพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของ 330 สาขาทั่วประเทศ เขายึดหลักบริหารด้วยความเชื่อมั่นว่า ต้องทำให้วงการหนังสือเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี และข้อหนึ่งคือ ‘การกระจายอำนาจ’

จากสมัยก่อน หนังสือแนะนำมักถูกเลือกมาจากส่วนกลาง หรือสำนักงานใหญ่ เกษมสันต์อยากให้ทุกสาขาสามารถบริหารงานเอง จัดร้านเอง เลือกหนังสือแนะนำที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ เพราะเขาเชื่อว่า ร้านหนังสือก็เหมือนกับส่วนหนึ่งของชุมชน ดังนั้น พนักงานย่อมรู้จักลูกค้าดีกว่าผู้บริหาร

“ผมใช้คำว่า กระจายอำนาจ เพราะร้านที่เชียงรายกับยะลาคุณจะจัดร้านเหมือนกันหรอ ไม่เหมือน มันไม่มีอะไรเหมือนกันเลย”

“แล้วบางเรื่องเราคิดไม่ถึง ผมยกตัวอย่างอำเภอไชยา วัดโพธาราม วัดพุทธทาสภิกขุ ระหว่างนั่งรถผมบอกเลยว่า สาขานี้ถ้าผมจัดจะต้องมีหนังสือธรรมะเยอะสุดในประเทศไทย เมกเซ้นส์ไหม? ถูกไหม พอไปถึงก็หมวดนี้ก่อนเลย ถามคนขาย ขายได้ไหม คนขายบอก ขายไม่ได้เลยค่ะ แปลว่าอะไร? ทำไมขายไม่ได้ เขาบอกท่านประธานคะ ทำไมคนจะต้องซื้อหนังสือท่านพุทธาสฯ ที่ร้านซีเอ็ด ในเมื่อวัดอยู่ไม่ไกล เขาซื้อที่วัดดีกว่าไหม แล้วในวัดก็มีหนังสือธรรมะอื่นๆ อีก เพราะฉะนั้นหนังสือธรรมะไม่มีวันขายได้ดีในร้านนี้ เห็นไหม คนที่ร้านเก่งกว่าเรา คนที่ร้านรู้กว่าเรา”

“ใช้คำว่าเชื่อมั่นในพนักงานได้เลย เพราะเท่าที่ผมสัมผัสมา เขารู้จักลูกค้าเขา แล้วหลายร้านมากที่คุณป้ามาซื้อหนังสือแต่เช้า แต่ซื้อขนมมาฝาก ฉันซื้อปาท่องโก๋มาฝากเธอนะ... คนจะมาซื้อของ มีลูกสองสามคนเล็กๆ ก็บอกฝากลูกหน่อยนะ แล้วแม่ก็เดินไปซื้อของ นี่เป็นภาพที่ทุกที่ผมไปเห็นหมด ผมคิดว่าเราต้องเชื่อมั่น เพียงแต่เดิมแค่อาจจะไม่มีใครกล้าเปลี่ยนมาทางนี้”

Se-ed1.jpg

– 2 –

ส่วนการปฏิวัติซีเอ็ดบุ๊คข้อที่ 2 คือการใช้ประโยชน์จากเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ ‘เทคโนโลยี’

ร้านหนังสือจะดีได้ ต้องมีคนแนะนำหนังสือ เกษมสันต์ไม่คาดหวังให้พนักงานประจำสาขาเป็นเพียงแค่แคชเชียร์ หรือคนจัดชั้นเท่านั้น แต่ต้องสามารถพูดคุย และแนะนำลูกค้าได้ด้วย

“แต่หนังสือออกใหม่เฉลี่ยวันละเล่ม เฉพาะของซีเอ็ดนะ เขาไม่มีทางอ่านทัน แล้วของสำนักพิมพ์อื่นอีก เฉลี่ยวันละ 3 เล่มใครจะอ่านทัน”

“เรากระจายอำนาจ เราปรับร้านให้ท้องถิ่นมากขึ้น คำถามคือ คนของเราจะรู้จักหนังสือได้ยังไง ผมเอาคิวอาร์โค้ด (QR Code) ใส่เข้าไปให้ ในคิวอาร์โค้ดจะมีไฮไลท์หนังสือ เป็นทั้งคำพูดเฉยๆ หรือคลิปแนะนำ คนที่ได้ประโยชน์ก่อนคือลูกน้องผม เขาอยู่ที่ร้านเขาก็ส่องดู เล่มนี้อะไรคือเรื่องย่อ เขารู้ก่อน”

“คิวอาร์โค้ดผมทำหลายสำเนียงด้วย เช่น เหนือ ใต้ อีสาน มีภาษาอังกฤษ เพื่อเด็กหรือวัยรุ่น อยากฟังแนะนำแบบภาษาอังกฤษ เป็นสีสัน”

แชร์แมนคนใหม่ของซีเอ็ดบอกว่า การมาถึงของโลกดิจิทัลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และไม่มีใครสามารถเพิกเฉยมันได้ ตัวเขาเองก็ไม่ชอบที่ความสะดวกรวดเร็วทำให้ความละเอียดอ่อนหลายอย่างในอดีตหายไป แต่ขณะที่มันเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรเก่าๆ หลายอย่าง ก็มีคนใช้ประโยชน์จากมันอย่างกว้างขวางด้วยเช่นกัน

“ซีเอ็ดตอนนี้ทำอีบุ๊กเต็มรูปแบบ ออดิโอบุ๊ก วิดีโอบุ๊กด้วย ทำครบ เพื่อใครอยากอ่านก็มาอ่าน แต่ตอนนี้ตลาดไทย 3 เปอร์เซ็นต์เอง น้อยมาก แต่กระบวนการทำหนังสือซีเอ็ดในวันนี้เราทำรอไว้เลย เราใช้แพล็ตฟอร์มเดียวกันมันจบไปเลยไง คุณจะพิมพ์เป็นเล่มหรือดิจิทัลก็ได้ ต้นทุนไม่ต่างกัน ทำทีเดียว วางแผนทีเดียวเลย เพราะหากเขาต้องการในอนาคตมันผลิตทีหลังยากกว่า”

เกษมสันต์บอกว่า ที่ได้รับการตอบรับที่ดี ก็คือหนังสือเสียงหรือออดิโอบุ๊ก ทั้งหนังสือสำหรับผู้บริหารฟังบนรถ หรือฟังระหว่างขับรถทางไกล ฟังระหว่างออกกำลังกายตอนเช้า สามสิบนาทีถึงหนึ่งชั่วโมง หนังสือเสียงฝึกภาษาต่างประเทศ

“อารมณ์อ่านเล่มกับดิจิทัลมันไม่เหมือนกัน แต่เราก็ไม่ฝืนโลก”

Se-ed2.jpg
– 3 –

ในปีนี้ สิ่งที่เกษมสันต์พยายามเปลี่ยนแปลงกับร้านหนังสือแบรนด์สีแดงมาหลายเดือน เริ่มผลิดอกออกผลผล เห็นได้จากตัวเลขชี้วัดของแต่ละสาขาที่บวกขึ้น และยอดขายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปีก่อน ก็ไม่ติดลบอีกแล้ว หลังจากดิ่งลงมานาน ดังนั้น ปีนี้เขาเชื่อว่ามันจะฟื้นตัว จากการที่หลายฝ่ายร่วมมือกัน แม้หลายปีที่ผ่านมาที่ซบเซาจนยากจะคาดหวังกับตลาดหนังสือ

“ดูตัวเลขย้อนหลัง 3-4 ปีที่ผ่านมายอดตกทุกปี ปีละสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ทั้งวงการ มันเกิดการดิสรัปต์ที่นึกไม่ถึงว่าจะทำไรกันดี ต้องยอมรับว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาหนังสือแย่ลงนะ แต่ปลายปีที่แล้วเริ่มเห็นหนังสือดีๆ มากขึ้น หนังสือระดับโลก เริ่มเห็นหนังสือคุณภาพ มันจะมีช่วงหนึ่งที่ผมก็ไม่เข้าร้านหนังสือ แต่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เราได้เห็นหนังสือดีระดับโลกที่คนไทยแปลเต็มเลย ทั้งของซีเอ็ดและสำนักพิมพ์อื่น”

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งโจทย์ที่อยากจะแก้ปัญหาให้สำเร็จให้ได้คือ ราคาหนังสือ ตอนที่เราเปิดประเด็นถามข้อนี้ เขาพยักหน้า พึมพำทันทีว่า เห็นด้วยๆ

“เห็นด้วยว่าราคาหนังสือในไทยค่อนข้างแพง แต่ตอนนี้มันเป็นแบบนี้ เวลาเราบริหารแบบเดิมๆ เนี่ย เราส่งหนังสือไป 100 เล่ม มันจะคืนมา 30-40 เล่ม การคืนมาคือต้นทุนทุกคน ทั้งโลจิสติกส์ส่งไป-กลับ ต้นทุนสำนักพิมพ์อื่นที่มาฝากขายแล้วเอาคืนไป การตั้งราคาเลยต้องเผื่อ

“ตอนนี้เรากำลังศึกษาระบบที่เรียกว่าส่งไปไม่รับคืน หมายความว่า ส่งไป 10 ต้องหาวิธีขายให้ได้ 10 เล่ม ไม่ให้ต้นทุนเยอะ ต้นทุนเยอะมันทำให้หนังสือทั่วไปราคาแพง เราพยายามจะบริหารต้นทุนพวกนี้ให้ต่ำที่สุด เราเชื่อว่าถ้าแก้ตรงนี้ได้ ทุกคนจะยินดีลดราคาหนังสือ นึกออกใช่ไหม อย่างวันนี้คุณส่งหนังสือให้ผม 100 เล่ม คุณกะว่าขายได้ 50 เล่ม อีก 50 คืนแน่ๆ คุณจะตั้งราคาเผื่อไว้ใช่ไหมละ แต่คุณส่งมาให้ผม 50 เล่ม ผมบอกขายหมดแน่ๆ คุณสามารถลดราคาได้ใช่ไหมละ เพราะโอกาสคืนน้อย ถ้าเราทำแบบนี้ร่วมกันทั้งสำนักพิมพ์และร้านหนังสือเนี่ยจะช่วยได้

“สองคือโลจิสติกส์ที่เป็นต้นทุน เรากำลังหาทางว่า เอ จะทำยังไงให้ลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ บางสาขาบางจังหวัด รถผมก็วิ่งไป รถของสำนักพิมพ์นายอินทร์ก็วิ่งไป รถบีทูเอสก็วิ่งไป คำถามคือ ร่วมกันบ้างได้ปะ จะได้ลดต้นทุนค่าขน ถ้าลดพวกนี้ได้ ราคาก็ลงได้นะครับ"

“ตอนนี้ซีเอ็ดทำในสิ่งที่วงการไม่เคยทำ ก็คือชวนคนในวงการเช่น ร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ มานั่งคุยกันมากขึ้น เดือนที่แล้วผมเพิ่งจัดงานไป ให้ผู้บริหารนั่งกินข้าวคุยกัน ผู้บริหารหลายคนรู้จักกันอยู่แล้ว แต่ทีนี้เราบอกว่า เราร่วมมือกันนะ ล่าสุดเรามี 300 กว่าร้าน นายอินทร์มี 150 ร้านทั่วประเทศ มีร้านท้องถิ่นกระจายอยู่ทุกจุด เพราะร้านเขาเล็ก เขาสั่งหนังสือได้ไม่กี่เล่ม เขาต้องรอหนังสือจนเยอะถึงจะมีบริษัทส่งไปให้เขา หนังสือที่ส่งไปช้าก็ขายไม่ได้ หนังสือไม่ต่างจากแฟชั่น มาช้าก็หมดความนิยม ขายไม่ได้"

“เรากับนายอินทร์คุยกัน แล้วนายอินทร์ก็เอาด้วยในหลักการว่า เราแบ่งที่กันไหม ในเมื่อเราก็ขนอยู่แล้ว หนังสือเหล่านี้เราใส่ไปในกล่องของซีเอ็ด แล้วรายย่อยก็มารับจากร้านเราไปขายได้ไหม คุณลุงคุณป้าก็จะได้รับไปขายเอง หรือมารับที่นายอินทร์ได้ไหม เราคุยกันถึงขนาดนี้แล้ว ดังนั้น ที่ถามว่าร้านหนังสือจะร่วมกันไหม ผมเชื่อว่าร่วมมือ”

ในวิสัยทัศน์ของผู้บริหารและนักอ่านตัวยง เกษมสันต์เชื่อมั่นลึกๆ ว่า ยังไงวงการหนังสือไทยก็ไปต่อได้ ยังมีคนกลุ่มใหญ่มากที่ยังหลงสเน่ห์กลิ่นกระดาษ กลิ่นหมึก และหลงรักความรู้สึกตอนเปิดอ่าน

“วงการหนังสือไทยผมเชื่อว่าไปต่อไป เอางี้ผมถามแบบนี้ ในโลกซึ่งกำลังมีดิสรัปชั่นทุกทาง คนต้องการความรู้มากขึ้นหรือน้อยลง มากขึ้นใช่ไหมเพื่อปรับตัวให้รอดในโลกที่มันดิสรัปต์ทุกอย่าง คำถามคือหนังสือเล่มๆ ตอบโจทย์เขาไหมละ ถ้าคุณมีหนังสือซึ่งมีเนื้อหาตอบโจทย์ เพื่อให้เอาชีวิตให้รอดอยู่ในโลกที่ดิสรัปต์ ทุกทางแล้วออกมาทันเวลา ในราคาไม่แพงเกินไป ผมเชื่อว่าอยู่รอด

“เราได้ยินคำว่า เฟคนิวส์ (Fake News) บนโลกออนไลน์ แต่หนังสือเนี่ยมันอยู่ยงคงกระพันและเป็นของจริง เพราะการเขียนหนังสือสักเล่ม แล้วมีคนมาแปลหรือจัดพิมพ์ให้เนี่ย มันต้องผ่านการตรวจสอบพอสมควร ผมเลยเชื่อว่า ด้วยเหตุผลนี้ถ้าเราอ่านออกว่าโลกจะเป็นยังไง เราต้องอยู่รอด แต่แน่นอน รายเล็กๆ ที่ไม่มีองค์ความรู้ตรงนี้ ไม่มีคอนเทนต์ ก็อาจจะเหนื่อยหน่อย ต้องอ่านตัวเองให้รอด”

หนังสือที่ซีเอ็ดยังขายได้ และขายดี ได้แก่คู่มือการสอบ หนังสือฮาวทู พัฒนาตัวเอง วรรณกรรมวาย (Yaoi) และวรรณกรรมจีนซึ่งกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง รวมไปถึงหนังสือที่ตอบสนองความต้องการคน 2 กลุ่มใหญ่ หนึ่งคือเด็กเล็ก ที่พ่อ-แม่ ยังอยากให้ลูกอ่านหนังสือมากกว่าอ่านจอ และสองคือ คนสูงอายุ ที่ชอบอ่านกระดาษมากกว่า ซึ่งการผลิตหนังสือต้องมีความเฉพาะมากขึ้น คือใช้อักษรตัวใหญ่ ใช้กระดาษที่เป็นมิตรกับสายตา

Se-ed3.jpg
– 4 –

เกษมสันต์บอกว่า ตัวเองเป็นหนอนหนังสือพันธุ์แท้ เขามีความสุขกับการอ่าน แต่มากกว่านั้นคือมีความสุขกับการได้ซื้อหนังสือใหม่ๆ ดี มีคุณภาพ เขาบอกว่าบางทีเขาซื้อร้อยเล่ม อ่านจริงก็แค่ครึ่งหนึ่งเอง แต่ความสุขบางทีมันคือการได้เดินเลือกหนังสือใหม่ๆ ได้หยิบ ได้จับ

ในฐานะคนทำธุรกิจหนังสือ เขานึกฝันอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการอ่าน อยากเห็นภาพคนอ่านหนังสือทั่วไปในพื้นที่สาธารณะ เขาปฏิเสธว่าไม่ได้หมายความว่าคนไทยไม่รักการอ่าน แต่หากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ของโลก เขาคิดว่าคนไทยยังอ่านน้อยกว่ามาก แต่ก็ไม่น่าแปลกใจนัก ด้วยรากทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

“ผมเคยอยู่ญี่ปุ่น และเดินทางหลายประเทศ พบว่าญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ประเทศในยุโรป คนเขาชอบอ่านหนังสือ ประเทศพวกนั้นวัฒนธรรมเริ่มต้นเขาคือวัฒนธรรมการบันทึกและการอ่าน แต่วัฒนธรรมไทยเนี่ย วัฒนธรรมบอกเล่า ไทยเรานิยมเล่าเรื่องต่อด้วยปาก เราจึงไม่แปลกใจที่เวลาขึ้นรถใต้ดิน เราก็เห็นคนอ่านหนังสือ อย่างเวียดนามเจ้าของเชนร้านกาแฟใหญ่มากของที่นั่น เขาพิมพ์หนังสือระดับโลก แปลเป็นภาษาเวียดนามมาวางในร้านกาแฟ ใครมาซื้อกาแฟ หยิบไปอ่านเลย ยกให้เลย

“ประเทศพวกนี้แพ้สงคราม ประเทศยับเยิน แต่ฟื้นตัวได้เร็วมาก เพราะการอ่าน การอ่านทำให้คนมีองค์ความรู้ มีองค์ความรู้รูปเล่มอยู่ในหัว”

เร็วๆ นี้ หนึ่งในโมเดลที่ซีเอ็ดบุ๊คเตรียมจะทำคือ โมเดลการอ่านในห้องเรียนแบบเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นนโยบายระดับชาติให้เด็กอ่านหนังสือ 10 นาทีก่อนเริ่มเรียน เป็นการอุ่นเครื่องก่อนการใช้สมองในการเรียนการสอน ซึ่งมีการผลิตหนังสือสำหรับการอ่าน 10 นาทีที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย

“เขาบอกเลยว่าหนังสือประเภทไหนต้องอ่าน หรือไม่ควรให้เด็กอ่าน ยกตัวอย่างเช่น นิทานอีสป เด็กเลี้ยงแกะ เด็กผู้ชายคนหนึ่งเลี้ยงแกะ วันหนึ่งนึกสนุก ตะโกนว่าหมาป่ามาๆ ทั้งที่หมาป่าไม่มา ตะโกนเสร็จผู้ใหญ่วิ่งมาช่วยบนเขา ไม่เจอหมาป่า ผู้ใหญ่ดุเด็กแล้วลงไป วันต่อมา หมาป่ามาจริงๆ เด็กตะโกนคำเดิม หมาป่ามาๆ ไม่มีใครมาช่วยเพราะคิดว่าเด็กโกหก นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าเป็นเลี้ยงแกะอย่าโกหก

“เกาหลีใต้บอกว่าอย่างงี้เป็นตัวอย่างหนังสือที่ไม่ดีอย่าให้เด็กอ่าน เหตุผลคืออะไร เพราะเด็กทำผิดแล้วไม่มีโอกาสแก้ตัวไง นิทานที่ดีที่เด็กอ่านตอนเช้า คือนิทานที่จบด้วยเด็กมีทางออก ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสุข อย่างนี้ถ้าแก้ใหม่ว่า เด็กยอมรับผิดขอโทษว่าโกหก วันต่อมาหมาป่ามา เด็กตะโกนว่าหมาป่ามา ผู้ใหญ่ก็มาช่วยทันเวลา แล้วเด็กกับผู้ใหญ่ก็เข้าใจกัน แกะก็ยังอยู่ มันต้องจบแบบนี้ เขาว่าจบแบบนี้ เด็กมีทางเลือกว่าฉันต้องเป็นเด็กซื่อสัตย์ ไม่โกหก และอารมณ์ดี พออารมณ์ดี ลมปราณทั้งร่างกายเชื่อมกัน เรียนได้ดี นี่คือทฤษฎีเกาหลีใต้ซึ่งผมชอบแล้วผมกำลังจะเอามาใช้กับเมืองไทย กับหนังสือซีเอ็ดฯ เป็นหนังสือ 10 นาที ทดลองไปขอความร่วมมือโรงเรียนว่ามาลองดูกันไหม”

ถึงตรงนี้ มีอีกหลายอย่างที่เกษมสันต์ยังอยากทำในฐานะผู้บริหารซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่เขาใจจดจ่อรอคอย คือการเห็นซีเอ็ดบุ๊คเริ่มเผยความเป็น ‘คนใหม่’ ออกมา จากหลายสิ่งที่เขาเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงและทำมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ซีเอ็ดฯ ที่เป็นคนทันสมัยขึ้น มีลูกเล่นแพรวพราวมากขึ้น

“ตื่นเต้นกับครึ่งปีหลัง เพราะตอนนี้เดือน 6 มันเพิ่งบวกให้เห็น ผมเชื่อว่าครึ่งปีหลังเป็นเรื่องที่น่าจะคาดการณ์ได้ว่าน่าจะเป็นข่าวดีมาก” เขาบอกยิ้มๆ