เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม วารสาร Science ประกาศให้การค้นพบปรากฏการณ์ดาวนิวตรอนสองดวงหลอมรวมกันเป็นสุดยอดของงานวิจัยในปี 2017
การชนกันของดาวนิวตรอนซึ่งมีมวลหนาแน่นอย่างมหาศาล ตรวจพบเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ก่อให้เกิดแรงระเบิดที่ส่งคลื่นกระเพื่อมผ่านกาล-อวกาศ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นห่างจากโลกราว 130 ล้านปีแสง เป็นต้นกำเนิดของธาตุหนักหลายชนิด เช่น ทองคำ แพลตินัม ยูเรเนียม และปรอท
ทางวารสารบอกว่า การหลอมรวมเป็นหนึ่งของดาวนิวตรอนทั้งสอง ช่วยยืนยันความถูกต้องของตัวแบบต่างๆในทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ รวมทั้งเป็นการทดสอบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปอย่างที่ไม่เคยทำกันมาก่อน
วงการวิทยาศาสตร์ฮือฮากันมากตอนที่มีรายงานเรื่องนี้เมื่อเดือนตุลาคม หลังมีการตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วงซึ่งเป็นผลจากการระเบิด
การค้นพบที่สำคัญในปี 2017 ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น ลิงอุรังอุตังชนิดใหม่ ซึ่งเชื่อว่ายังเหลืออยู่ในป่าอันห่างไกลของอินโดนีเซียแค่ประมาณ 800 ตัว
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาใหม่เกี่ยวกับกะโหลกที่พบในถ้ำของโมรอกโกเมื่อปี 1961 ซึ่งกำหนดอายุได้ราว 300,000 ปี นับว่าเก่ากว่าประมาณการระเยะเวลาก่อเกิดของมนุษย์โฮโมเซเปียนถึง 100,000 ปีเลยทีเดียว
ผลงานวิจัยอีกชิ้นซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ คือ การบำบัดโรคทางพันธุกรรมในเด็ก
ขณะเดียวกัน วารสารซึ่งตีพิมพ์โดยองค์การไม่แสวงผลกำไร American Association for the Advancement of Science ฉบับนี้ ยังบันทึก ‘ความถอยหลัง’ ทางวิทยาศาสตร์ด้วย
เช่น ความสัมพันธ์ที่ ‘เสื่อมถอยอย่างยิ่ง’ ระหว่างประชาคมวิทยาศาสตร์กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งนำอเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงโลกร้อน ยกเลิกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก และเสนอให้ตัดงบประมาณของงานวิจัยสำคัญหลายโครงการ
รวมทั้งกรณีเปิดเผยการลวนลามทางเพศในวงการวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผลจากกระแส #MeToo ในแวดวงบันเทิงและการเมือง และความล้มเหลวของโครงการมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์ฯที่จะอนุรักษ์โลมาพันธุ์เล็กชนิดหนึ่งนอกชายฝั่งเม็กซิโก.
Image: The Carnegie Institution for Science
Video: YouTube/Financial Times