วันที่ 8 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา เสรี สุวรรณภานนท์ สว. ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงการร่วมจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกอะไรได้เพราะการจัดตั้งรัฐบาล เพิ่งรวมเสียงได้ แค่ 200 กว่าเสียง เรายังไม่รู้ว่าจะมีพรรคการเมืองอื่น หรือจะมีพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติมาร่วมหรือไม่ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพ
ทั้งนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคใด แม้ว่าพรรคเพื่อไทยยืนยันจะเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ก็ตาม แต่เมื่อถึงที่สุดแล้วก็ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง การพูดตอนนี้จะกลายเป็นว่า สว. ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เสรี ยอมรับว่าชื่อของ เศรษฐา มีคุณสมบัติพอที่จะพิจารณา แต่ก็ต้องตรวจสอบว่า มีมาตรฐานที่เคยตัดสินใจไว้แล้ว คือ 1) ไม่แตะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่แก้รัฐธรรมนูญหมวด 1 หมวด 2 และ 2) บุคคลที่ถูกเสนอชื่อมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึง 3) ต้องดูนโยบายพรรคเพื่อประกอบการตัดสินใจ เพราะถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน
ส่วนที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นให้ สว.ตรวจสอบ เศรษฐา กรณีเลี่ยงภาษีที่ดิน 500 กว่าล้านนั้น เสรี กล่าวว่า กรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมในวันนี้ เพื่อตรวจสอบรายละเอียดว่าเกี่ยวข้องกับภาระหน้าที่ของกรรมาธิการหรือไม่ หากไม่เกี่ยวข้องก็จะส่งต่อให้กรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งต่อไป เพราะถือว่ามีส่วนสำคัญในการเข้ามาบริหารประเทศ จะต้องตรวจสอบได้ มีเหตุมีผล โดยไม่อคติ
ขณะที่ความเห็นของ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. ที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีคนต่อไปไม่ได้มาต่อพรรคเพื่อไทยนั้น เสรี กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของ กิตติศักดิ์เพียงคนเดียว ไม่ใช่การตั้งธงของ สว.ทั้งหมด ตอนนี้ยังไม่สามารถฟันธงเรื่องอะไรได้ เพราะยังไม่รู้ว่าชื่อที่ถูกเสนอในที่ประชุมรัฐสภาจะเป็นใคร แต่ส่วนตัวย้ำว่าหากมีการเสนอชื่อ เศรษฐา ควรจะให้เจ้าตัวเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อตอบข้อซักถามสมาชิกด้วยตนเอง
หากการร่วมรัฐบาลมีพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติจะเป็นปัจจัยที่ ทำให้ สว.สนับสนุนมากขึ้นหรือไม่นั้น เสรี ยอมรับว่า มีผลทุกพรรค สว.ต้องพิจารณาหมดทุกพรรค แต่ก็เป็นปัจจัยในแต่ละพรรคว่าพรรคที่มาร่วมต้องไม่สร้างปัญหา เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์ตอนนี้มีการแสดงออกทางการเมืองที่ก้าวร้าวรุนแรง ต้องยอมรับความจริงว่าบางพรรคไปอยู่เบื้องหลัง ฉะนั้นนักการเมืองจะต้องมีความรับผิดชอบเข้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่นึกจะทำอะไรก็ได้ เพราะจะทำให้ประเทศไปสู่ทางตันเกิดความเสียหาย