ไม่พบผลการค้นหา
‘ป๋าเต็ด – ยุทธนา บุญอ้อม’ อายุ 51 ปี เล่าประสบการณ์วินาทีชีวิต การผ่าตัดทำบอลลูนหัวใจ หลังมีอาการแน่นหน้าอก เปลี่ยนความคิดจากคำว่า ‘เฉียดตาย’ เป็น ‘โชคดี’

เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของคนมีชื่อเสียง ที่ออกมาแชร์ประสบการณ์วินาทีชีวิตผ่านโซเชียลมีเดีย ป๋าเต็ด หรือ นายยุทธนา บุญอ้อม คนดังแห่งวงการดนตรี ผู้จัดงานบิ๊ก เมาน์เท่น ที่เมื่อวานนี้ (13 ต.ค. 2561) ได้โพสต์ข้อความบนเฟสบุคส่วนตัว ‘Yuthana Boonorm’ ถึงประสบการณ์การทำบอลลูนหัวใจ โดยสรุปใจความได้ว่า

นายยุทธนาตื่นตอนเช้า (13 ต.ค. 2561) ใช้ชีวิตประจำวันปกติด้วยการดื่มกาแฟ แต่มีอาการผิดปกติคือ แน่นหน้าอก เหงื่อซึมที่แขน หลังจากนั้นเริ่มหน้ามืด บ้านหมุน เจ็บหน้าอกมากขึ้น และจุกหน้าอกมากขึ้นเรื่อยๆ จึงโทรหาเพื่อนที่เป็นหมอ ได้คำแนะนำว่าให้ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพราะอาจมีอาการ ‘หัวใจเต้นไม่ปกติ’ หลังจากถึงโรงพยาบาลได้วัดคลื่นหัวใจ และเข้าห้องผ่าตัด

หมอเจาะท่อเข้าเส้นเลือดใหญ่ที่ต้นขาขวา และฉีดสี เพื่อทำบอลลูน ใช้เวลาเพียงแค่ 40 กว่านาที หลังจากนั้นก็พักฟื้นที่ห้อง ICU พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกประมาณ 3 คืน โดยแพทย์บอกว่า โชคดีที่มาเร็ว หากมาช้ามีโอกาสที่จะไม่รอดสูง

นายยุทธนา เผยหลังจากการผ่าตัดว่า 'ความรู้สึกตอนนี้ไม่เหมือนคนเฉียดความตายเลย รู้สึกเหมือนคนโชคดีมากกว่า และจะโชคดีกว่านี้มาก ถ้าพรุ่งนี้ คุณหมอจะอนุญาตให้ดื่มกาแฟ'

หลังจากที่โพสต์ก็มีแฟนๆ เข้ามาคอมเม้นท์ขอให้หายไวๆ และบอกว่าโชคดีมากที่ถึงมือหมอเร็ว พร้อมขอบคุณที่มาแบ่งปันประสบการณ์

ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีในการรักษาสุขภาพ ในฐานะของคนมีชื่อเสียง ที่ได้แชร์ประสบการณ์เป็นอุทาหรณ์ในการดูแลสุขภาพ และไม่รีรอที่จะไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติทางร่างกาย ประสบการณ์ครั้งนี้จึงทำให้นายยุทธนารู้สึกว่า ‘โชคดี’ มากกว่า ‘เฉียดตาย’

สำหรับข้อบ่งชี้หรืออาการที่ต้องขยายหลอดเลือดหัวใจคือ 1. โรคหลอดเลือดหัว��จตีบอย่างรุนแรง 2. ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย 3. อาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา อย่างไรก็ตามคำแนะนำจากแพทย์หลังการทำบอลลูนหัวใจคือ ควรงดการดื่มกาแฟ

ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขมีข้อมูลว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถึงร้อยละ 75 หรือประมาณ 320,000 คนต่อปี หรือ เฉลี่ยชั่วโมงละ 37 คน โดยโรคอันดับหนึ่ง คือโรคหลอดเลือดสมองคิดเป็นร้อยละ 4.59 หรือประมาณ 28,000 คน รองลงมาคือโรคหัวใจขาดเลือด โรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ตามลำดับ

สำหรับสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ โดยมีแนวโน้มการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น และส่วนมากเป็นกลุ่มประชากรวัยทำงาน

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Facebook : Yuthana Boonorm

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :