เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสวิพากย์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ในกลุ่มคนไทย เมื่อเพจเฟซบุ๊ก Vogue Paris โพสต์ภาพรองเท้าสนีกเกอร์จากเวที Spring/Summer 2018 Fashion Week มีสายรัดรองเท้าเป็นสีคล้ายธงชาติไทยคือ แดง/ขาว/น้ำเงิน ทำให้คนไทยบางส่วนมองว่าเป็นเรื่องของความไม่เหมาะสมที่ใช้สีธงชาติไทยกับรองเท้าแบบนี้
ซึ่งมีคนไทยบางส่วนเข้าไปแสดงความคิดเห็นว่า ธงชาติไทยต้องมีอัตราส่วนของสีที่ถูกกำหนดไว้ทั้งนั้น แล้วที่สำคัญ 3 สีนี้เป็นสีที่ใครๆ ก็สามารถใช้ได้ เป็นการเรียงสีธรรมดา คืองานแฟชั่น
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา เพจพิพิธภัณธ์ธงชาติไทย โดยคุณพฤฒิพล ประชุมผล โพสต์ข้อความชี้แจงข้อเท็จเกี่ยวกับดราม่าที่เกิดขึ้นนี้ว่า สีแดง/ขาว/น้ำเงิน เป็นสีสากล ไม่มีใครสามารถนำไปจดลิขสิทธิ์ว่าเป็นของตนเองหรือประเทศตนเองได้
อีกทั้งลักษณะแถบสี สัดส่วนแถบสีและสัดส่วนผืนธงที่เป็น "ธงไตรรงค์ ธงชาติไทย" ต้องเป็นไปตามที่ระบุในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติธง พ.ศ.2460 ลงวันที่ 28 ก.ย. 2460 และประเทศไทยใช้หลักเกณฑ์นี้เพื่อระบุความเป็นธงชาติไทยประกาศให้โลกรู้มาจนถึงประกาศพระราชบัญญัต��ธง พ.ศ.2522
แต่สำหรับที่บางคนแย้งว่ามีบทลงโทษตามมาตรา 53 ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อธงตามมาตรา 5 หรือมาตรา 6 ดังต่อไปนี้
1. ประดิษฐ์ ตัวอักษร ตัวเลข หรือเครื่องหมายอื่นใดในผืนธง รูปจำลองของธง หรือในแถบสีธง นอกจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
2. ใช้ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงอันมีลักษณะตาม ข้อ 1.
3. ใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจําลองของธง หรือแถบสีธงไว้ ณ ที่หรือโดยวิธีอันไม่สมควร
4. ประดิษฐ์ธง รูปจําลองของธง หรือแถบสีธงไว้ ณ ที่หรือสิ่งใด ๆ โดยไม่สมควร
5. แสดงหรือใช้สิ่งใด ๆ ที่มีรูปธง รูปจําลองของธง หรือมีแถบสีธงอันมีลักษณะตาม ข้อ 4. โดยไม่สมควร
ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ มาตรา 54 ผู้ใดกระทําการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการเหยียดหยามต่อธง รูปจําลองของธง หรือแถบสีธงที่ได้ บัญญัติกําหนดลักษณะไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่กําหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตาม พระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้เข้าใจตรงกันว่า กฎหมายธงว่าด้วยบทลงโทษหมวด 10 มาตรา 53 (3) ตามพระราชบัญญัติธงนี้มีผลบังคับใช้เฉพาะในราชอาณาจักรไทยเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์หรือสามารถนำไปบังคับใช้ประเทศอื่นๆ ให้ต้องใช้ด้วยได้
ขอบคุณข้อมูลจากเพจ : พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย