ในการประชุมเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum mี่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งผู้นำประเทศและนักธุรกิจชั้นนำไปรวมตัวกัน หารือถึงความท้าทายในวงการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส สองผู้นำเสาหลักของสหภาพยุโรป ต่างประกาศจุดยืนส่งเสริมความร่วมมือระดับพหุภาคี และการทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แพร่กระจายผลประโยชน์ไปยังประเทศที่ยากจนกว่าให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม ซึ่งการกล่าวแสดงจุดยืนเช่นนี้ ถูกมองว่าเป็นการต่อต้านนโยบายกีดกันการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เพิ่งประกาศขึ้นภาษีแผงโซลาเซลและเครื่องซักผ้าไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
นางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ระหว่างพบกับนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงปารีส เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา
แม้แต่ผู้แทนของจีน นายหลิวเหอ ผู้อำนวยการสำนักงานใหญ่ด้านการเงินและเศรษฐกิจส่วนกลางของจีน และเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ก็ยังยืนยันว่าจีนจะเดินหน้าเปิดประเทศสู่ประชาคมโลกมากขึ้น และจะผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจด้านต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิรูปภาคการผลิตที่จีนจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า และสัญญาว่าจีนจะเปิดการบริการภาคการเงิน ธนาคาร ธุรกิจประกันภัย ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้เพิ่มขึ้น และลดภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างชาติแก้ไขปัญหาต่างๆที่มีอยู่ในประเทศ เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหามลภาวะ และปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของนายสีที่เมื่อปี 2017 ได้กล่าวในที่ประชุมดาวอสว่าจีนพร้อมผลักดันนโยบายการค้าที่เปิดกว้าง เสรี และเป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นเป้าโจมตีหลักของการประชุม World Economic Forum อย่างนายทรัมป์ เพิ่งจะเดินทางถึงเมืองดาวอสในวันนี้ (25 มกราคม) โดยก่อนหน้านี้ทีมตัวแทนของสหรัฐฯได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในการประชุมอย่างมากมาแล้ว จากการที่นายสตีเฟน มนูชิน รัฐมนตรีคลัง ยืนยันว่าค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงอย่างหนัก ไม่เป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ส่งผลดีต่อการค้า ขณะที่นายวิลเบอร์ รอส รัฐมนตรีพาณิชย์ ก็ยอมรับว่าสหรัฐฯอยู่ในสงครามการค้า เพียง 1 วันหลังจากนายทรัมป์ยืนยันว่าไม่มีสงครามการค้าใดๆ
สำหรับนายทรัมป์เอง ถูกคาดหมายว่าจะเน้นถึงความสำเร็จของนโยบายเศรษฐกิจแบบ "อเมริกามาก่อน" ซึ่งทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา ต่างจากที่ทั่วโลกคาดการณ์ไว้ว่านโยบายของเขาจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ และเขายังประกาศก่อนเดินทางไปดาวอสว่าจะไปเชิญชวนให้นักธุรกิจทั่วโลกนำเงินมาลงทุนในสหรัฐฯมากขึ้น
นายแกรี โคห์น ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเศรษฐกิจของทำเนียบขาว ระบุว่านายทรัมป์จะย้ำจุดยืนเดิมที่เขาพูดเสมอเวลาเดินทางเยือนต่างประเทศ ว่านโยบายอเมริกามาก่อน ไม่ใช่การขวางโลกาภิวัตน์ ไม่ใช่อเมริกาเติบโตประเทศเดียว แต่เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯโต โลกก็จะได้ประโยชน์ เช่นเดียวกับที่เมื่อเศรษฐกิจโลกโต สหรัฐฯก็จะได้ประโยชน์ด้วย แต่สหรัฐฯเพียงต้องการลดการค้าระหว่างประเทศที่ขาดดุลกับประเทศอื่นแบบเรื้อรังเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นายบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ แสดงความกังวลในระหว่างการประชุม World Economic Forum ว่าเขาไม่ต้องการเห็นสหรัฐฯใช้อำนาจที่แข็งกร้าว และละทิ้งการใช้อิทธิพลเชิงวัฒนธรรม หรือ Soft Power แบบที่เป็นมาตลอด ขณะที่นายฮิโรอะกิ นะกะนิชิ ประธานฮิตาชิ ยอมรับว่าพฤติกรรมไม่แน่นอนของนายทรัมป์ ทำให้เขาไม่สามารถคาดเดาหรือวางแผนอนาคตธุรกิจได้