ไม่พบผลการค้นหา
'อดีต สส.ก้าวไกล' ร้องพฤติกรรม 'ปดิพัทธ์' ส่อประวิงเวลาเลี่ยงเข้าพบ พนง.สอบสวน อ้างติดภารกิจสภา เผยคดีหมิ่นฯ แจ้งไว้ตั้งแต่ปี 65 ยังค้างอยู่ ท้าแสดงสปิริต 'คนเท่ากัน' ยกเว้นเอกสิทธิ์คุ้มครอง

วันที่ 13 ธ.ค. ที่อาคารรัฐสภา เกษมสันต์ มีทิพย์ อดีต สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ร้องเรียนพฤติกรรมประวิงเวลาเพื่อหลบเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนคนที่ 1

สืบเนื่องจาก เกษมสันต์ ได้แจ้งความดำเนินคดี ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิษณุโลก เขต 1 และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 2565 ปดิพัทธ์ มารับทราบข้อกล่าวหา หลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง ประมาณวันที่ 29 พ.ค. 2566 

หลังจากเปิดประชุมสภา สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 ปดิพัทธ์ ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองในฐานะสมาชิกรัฐสภา หลังจากปิดประชุมสภา สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 ในวันที่ 31 ต.ค. 2566 พนักงานสอบสวนลงความเห็นสั่งฟ้อง ได้ติดต่อนัดให้ ปดิพัทธ์ ทางวาจาโดยการโทรศัพท์ ให้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อนำตัวส่งอัยการพร้อมสำนวนการสอบสวน ทั้งนี้ ได้รับคำตอบจาก ปดิพัทธ์ ว่าจะมาพบปลายเดือน พ.ย. 2566 โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจ 

พนักงานสอบสวนประเมินว่าอาจทำให้ไม่สามารถนำตัวในปดิพัทธ์เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ทัน จึงทำหนังสือเชิญให้ ปดิพัทธ์ มาพบพนักงานสอบสวนภายในวันที่ 20 พ.ย. 2566 แต่ ปดิพัทธ์ ก็ไม่ได้มาพบและไม่ได้ติดต่อมายังพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนทำหนังสือเชิญให้นายปดิพัทธ์ มาพบเป็นครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 29 พ.ย. 2566 แต่ ปดิพัทธ์ ก็ไม่ได้มาพบ และได้ทำหนังสือขอเลื่อนไม่มีกำหนด

อย่างไรก็ตาม ปดิพัทธ์ กลับให้ข่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ไม่ได้รับการติดต่อ และไม่ได้รับหนังสือเชิญจากพนักงานสอบสวน ซึ่งขัดแย้งกับเอกสารที่ ปดิพัทธ์ได้ทำขึ้นและส่งไปยังสถานีตำรวจเพื่อขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวน จากไทม์ไลน์ในเฟสบุ๊คแฟนเพจ ปดิพัทธ์ยังคงใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ภารกิจที่สามารถลดเวลาการปฏิบัติภารกิจได้และ ปดิพัทธ์มิได้ติดภารกิจเป็นตัวแทนของรัฐสภาในทุกวันแต่อย่างใด ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมประวิงเวลาเพื่อหลบเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ในขณะที่ช่วงเวลาที่จะสามารถดำเนินคดี ปดิพัทธ์ได้ตามขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมายก่อนที่ ปดิพัทธ์จะได้เอกสิทธิ์คุ้มครองในฐานะสมาชิกรัฐสภา ได้หมดลงในวันที่ 12 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา หลังจากนี้ ปดิพัทธ์ จะได้เอกสิทธิ์ในฐานะสมาชิกรัฐสภาคุ้มครองไปอีก 90 วัน จนกว่าจะมีการปิดประชุมสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 

"ผมในฐานะผู้เสียหายได้อดทนรอกระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้ความยุติธรรม มาเป็นเวลาปีกว่า คาดหวังว่า ปดิพัทธ์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงรองประธานสภาผู้แทนราษฎรจะรับผิดชอบต่อหน้าที่เหล่านี้ในฐานะที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ปดิพัทธ์ ก็ยังไม่แสดงความรับผิดชอบต่อหน้าที่นี้ จึงขออนุญาตทำหนังสือร้องเรียนกราบเรียนมายังประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้เห็นถึงพฤติกรรมประวิงเวลาเพื่อหลบเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของ ปดิพัทธ์ เพื่อที่จะได้ตักเตือนและให้ ปดิพัทธ์ รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง"

ทั้งนี้ เกษมสันต์ ได้เปิดหลักฐานคลิปเสียงของ ปดิพัทธ์ บนเวทีหาเสียง ที่ยืนยันว่า ปดิพัทธ์ เป็นผู้เสนอให้ขับ เกษมสันต์ ออกจากพรรค แต่ก็เปลี่ยนให้เป็นดองไว้ในพรรคก่อน อย่างไรก็ตาม เกษมสันต์ เผยว่า คดีความที่ตนแจ้ง ปดิพัทธ์ ไว้เมื่อปี 2565 นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เรียกตนเองว่า 'งูเห่า' ตามที่ ปดิพัทธ์เข้าใจ แต่เป็นความผิดฐานกล่าวหาใส่ร้ายโดยไม่มีมูลความจริง ซึ่งก็อาจตีความได้ว่ามีจุดประสงค์ทางการเมือง แต่ผู้ที่กระทำจะรู้ดีที่สุด

เกษมสันต์ ยังย้ำว่า ต้องการให้ ปดิพัทธ์ แสดงสปิริตของ 'คนเท่ากัน' และความโปร่งใส คือ ปดิพัทธ์ ควรยกเว้นเอกสิทธิ์คุ้มครองของตนเองแล้วเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเหมือนพลเมืองทั่วไป เพราะคดีของตนค้างอยู่ในขั้นตอนมานานแล้ว