ไม่พบผลการค้นหา
‘รสนา’ ร้อง สตง. ระงับโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท หวั่นรัฐบาล ซุกหนี้สาธารณะ สิ้นเปลืองงบประมาณ ส่อขัด พ.ร.บ.เงินตราฯ

วันที่ 19 ต.ค. รสนา โตสิตระกูล ยื่นหนังสือต่อประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล ว่าชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 หรือไม่ หากไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้จัดประชุมร่วมกับ กกต.และ ป.ป.ช.เพื่อสั่งให้ระงับหรือยับยั้งโครงการ 

โดย รสนา กล่าวว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาจสร้างความเสียหายต่อการเงินการคลังของรัฐด้วยเหตุผล 6 ประการ ได้แก่ ผลได้ไม่คุ้มผลเสีย รัฐควรใช้เงิน 560,000 ล้านบาท ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างศักยภาพ การเติบโตในระยะยาว แทนการใช้เงินเพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภคที่ได้ผลระยะสั้น ซึ่งขณะนี้งบประมาณรัฐขาดดุลแต่ละปีจะต้องมีกู้หนี้สาธารณะมาปิดขาดดุลจำนวน 700,000-800,000 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มว่าจะขาดดุลเพิ่มขึ้นทุกปี

อีกทั้งยังขัดต่อพระราชบัญญัติเงินตรา พรรคเพื่อไทยหาเสียงระบุว่ากระเป๋าเงินดิจิตอลคือเหรียญ ในรูปแบบคูปองไม่ใช่คริปโทเคอร์เรนซี แต่โครงการนี้จะออก มาในรูปแบบโทเคนดิจิทัล เปิดกว้างให้แก่ร้านค้าทั่วประเทศ และอ้างว่าทุกเหรียญจะมีค่าเท่าเงินบาท ซึ่งเข้าข่ายเป็นคริปโทเคอร์เรนซี 

รัฐอาจมีปัญหากรณีรับประกันมูลค่าของเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีที่ออกโดยบริษัทเอกชน จึงจะต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงอาจเข้าข่ายเป็นการสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ 2501

เพิ่มความสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น งบประมาณลงทุนสร้างระบบใหม่จะแพงมาก เพราะต้องเป็นระบบที่รองรับจำนวนผู้ใช้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ หากไม่มีแผนรองรับภายหลังโครงการสิ้นสุดจะเป็นเหมือนสนามบินร้างเงินที่ลงทุนไปเสียเปล่า โดยเป้าหมายแจกเงินให้ทันในไตรมาสแรกของปีหน้ายิ่งจะทำให้ระยะเวลาในการทดสอบระบบน้อย เสี่ยงข้อมูลรั่วไหล

หลีกเลี่ยงหลักการใช้เงินแผ่นดิน โครงการนี้เข้าข่ายเป็นเงินแผ่นดินการใช้จ่ายต้องเป็นไปตามมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ว่ารัฐบาลจะต้องเสนอกระบวนการงบประมาณต่อรัฐสภา แต่ในเอกสารที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงต่อ กกต.ระบุแหล่งเงินไว้ว่ามาจากประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนนวน 260,000 ล้านบาท 

ซึ่งภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย จำนวน 100,000 ล้านบาท การบริหารจัดการงบประมาณ จำนวน 110,000 ล้านบาท และการบริหารจัดการงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน จำนวน 90,000 ล้านบาท และเนื่องจากรัฐบาลต้องประกาศแจกเงินให้ทันในเดือนเมษายน 2567 จึงอาจเป็นการวางแผนใช้งบประมาณเดิม โดยไม่ได้เสนอโครงการต่อรัฐสภา เข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

รวมถึงการซุกหนี้สาธารณะ เนื่องจากมีข่าวว่ารัฐบาลจะใช้วิธีให้ธนาคารออมสินกู้หนี้แล้วรัฐค่อยจัดเงินจากงบประมาณชดใช้ภายหลัง ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้มีลักษณะเป็นการซุกหนี้ไม่โปร่งใส และอาจจะอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของธนาคารออมสิน

นอกจากนี้ยังขัดกับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่บัญญัติว่า ครม.ต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว รัฐบาลจึงไม่อาจดำเนินการตามโครงการดังกล่าว หากขืนดำเนินการย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นความผิดทางอาญา และต้องรับความผิดทางแพ่งด้วย 

โดย รสนา กังวลโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะซ้ำรอยกับโครงการรับจำนำข้าว โดยมองว่า สตง.มีดาบในมือ นั่นคือ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งมีการปรับปรุงหลังเกิดเหตุโครงการรับจำนำข้าว จึงอยากให้เร่งตรวจสอบโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่ โดยช่วงบ่ายวันนี้จะเดินทางไปยื่นหนังสือฉบับเดียวกันแก่ กกต.และ ป.ป.ช.ด้วย