ไม่พบผลการค้นหา
ทางการรัสเซียเร่งเสริมความปลอดภัยทันที หลังเกิดเหตุระเบิดสะพานเชื่อมไครเมียเมื่อช่วงวันเสาร์ที่ผ่านมา (8 ต.ค.) ทั้งนี้ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้สั่งการให้หน่วยความมั่นคงกลาง (FSB) เข้าควบคุมสถานการณ์บริเวณคาบสมุทรไครเมียอย่างหนาแน่นแล้ว

สะพานเคียร์ช ซึ่งใช้เชื่อมระหว่างไครเมีย พื้นที่ที่รัสเซียยึดและผนวกมาจากทางยูเครนตั้งแต่ปี 2557 เข้ากันกับรัสเซีย นับเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการผนวกดินแดน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนรัสเซียเปิดเผยว่า เหตุระเบิดในครั้งนี้ได้คร่าชีวิตคนไปทั้งสิ้น 3 ราย นอกจากนี้ ทางการได้มีการสั่งการบูรณะสะพานโดยทันทีแล้ว

รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ได้สั่งรื้อบางส่วนของตัวสะพาน ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุระเบิดในครั้งนี้ทันที ก่อนที่จะระบุว่า ทางการได้สั่งการเข้าตรวจสอบพื้นใต้น้ำของตัวสะพานในวันนี้ (9 ต.ค.) ทั้งนี้ สื่อของรัฐบาลรัสเซียยกย่องสะพานเคียร์ชว่าเป็น “การก่อสร้างแห่งศวรรษ” ซึ่งตัวสะพานมีความสำคัญในการขนส่งยุทโธปกรณ์ทางทหาร กระสุน และกองทหารไปทางตอนใต้ของยูเครน

อย่างไรก็ดี ภาพถ่ายดาวเทียมชิ้นใหม่ซึ่งถูกเผยแพร่เมื่อวานนี้ เปิดเผยให้เห็นถึงควันดำและไฟที่กำลังไหม้ ใกล้กันกับบริเวณที่พังถล่มของสะพานยาว 19 กิโลเมตร ซึ่งถูกเปิดใช้งานอย่างยิ่งใหญ่โดยรัสเซียเมื่อ 4 ปีก่อน หลังจากการยึดไครเมียมาจากยูเครน โดยนับตั้งแต่ยูเครนเริ่มกลับมาได้เปรียบในเชิงกลยุทธ์สงคราม ทางการยูเครนได้กล่าวว่า การโจมตีโครงสร้างของรัสเซียในไครเมียเป็นเป้าหมายที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากทางการยูเครนให้คำมั่นว่า ตนจะยึดคาบสมุทรไครเมียให้กลับคืนมาเป็นของตนอีกครั้ง

ทั้งนี้ ทางการยูเครนไม่ได้ออกมายอมรับโดยตรงว่า ตนเองเป็นต้นเหตุของเหตุระเบิดสะพานเคียร์ชในครั้งนี้ ในขณะที่ โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ออกมาแถลงในช่วงกลางคืน ถึงเหตุการระเบิดสะพานในครั้งนี้ว่า “วันนี้ไม่ใช่วันที่เลวร้าย และส่วนใหญ่มีแดดส่องในอาณาเขตของรัฐของเรา” ก่อนที่จะกล่าวเสริมว่า “น่าเสียดายที่ในแหลมไครเมียมีเมฆมาก แม้ว่าอากาศจะอบอุ่นเช่นกัน”

ทางการรัสเซียเร่งเปิดส่วนเชื่อมต่อสำคัญ ระหว่างรัสเซียกับไครเมียอีกครั้งโดยเร็ว แม้ว่าตัวสะพานจะยังได้รับความเสียหาย โดยทางการรัสเซียแถลงเมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ว่า สะพานได้รับการเปิดใหม่บางส่วน เพื่อรองรับการจราจรบนถนนและทางรถไฟ ทั้งนี้ สะพานดังกล่าวเป็นหลอดเลือดสำคัญของรัสเซีย ในการส่งยุทโธปกรณ์และเสบียง ตลอดจนกองกำลังไปยังสมรภูมิการรุกรานยูเครน รวมถึงการใช่ในการเดินทางไปยังดินแดนไครเมียที่ผนวกเข้าด้วยกันกับรัสเซีย

เซอร์เก อัคสโยนอฟ ผู้ว่าการประจำไครเมียที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัสเซีย ออกมาระบุว่า ตนจะทำการแก้แค้นจากเหตุระเบิดในครั้งนี้ แต่ตนจะยังดำเนินการเพื่อให้ไครเมียมีเชื้อเพลิงใช้ได้ต่อไปในอีก 1 เดือนข้างหน้า และเสบียงอาหารที่เพียงพอในอีก 2 เดือน โดยอัคสโยนอฟกล่าวว่า “สถานการณ์อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ มันไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่มันไม่ได้ร้ายแรง” 

เดวิด อาราคาเมีย เจ้าหน้าที่ยูเครน ประธานรัฐสภาจากพรรคของเซเลนสกี ระบุว่า “การก่อสร้างที่ผิดกฎหมายของรัสเซีย กำลังเริ่มพังทลายและถูกไฟไหม้ เหตุผลง่ายๆ คือ ถ้าคุณสร้างสิ่งที่ระเบิดได้ ไม่ช้าก็เร็ว มันก็จะระเบิด” นอกจากนี้ โอเล็กซีย์ กอนชาเรนโก ส.ส.ยูเครน ยังระบุกับ BBC ว่า ไม่ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อหตุระเบิดในครั้งนี้ แต่มันคือ “ชัยชนะครั้งใหญ่ของยูเครน และความสูญเสียที่รุนแรงและหนักหน่วงสำหรับรัสเซีย… สะพานไม่ได้ถูกทำลายเพียงแค่ได้รับความเสียหาย แต่ภาพลักษณ์ของปูตินถูกทำลายไปด้วย นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด”

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัสเซียอ้างว่าสะพานเชื่อมไครเมีย ได้รับการคุ้มครองอย่างดีจากภัยคุกคามทางอากาศ ทางบก หรือทางน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องจากตัวสะพานที่ตั้งอยู่ห่างจากดินแดนที่ยูเครนถือครองมากกว่า 160 กิโลเมตร ทั้งนี้ คณะกรรมการต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติรัสเซียกล่าวว่า ความเสียหายดังกล่าวเกิดจากรถบรรทุกระเบิด ซึ่งทำให้ตู้รถไฟ 7 คันถูกไฟไหม้ โดยเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบบ้านของชายผู้ต้องสงสัยรายหนึ่ง ในภูมิภาคกราวโนดาร์ทางตอนใต้ของรัสเซียแล้ว

แม้ว่าทางการยูเครนจะไม่ได้ออกมาแสดงความเชื่อมโยงของตนเข้ากับเหตุระเบิดในครั้งนี้ แต่ยูเครนเองเคยประกาศการมุ่งเป้าโจมตีไปที่แหลมไครเมียในอดีตที่ผ่านมา โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ยูเครนอ้างความรับผิดชอบของตน ต่อการโจมตีทางอากาศหลายครั้งในบริเวณแหลมไครเมีย ซึ่งรวมถึงการโจมตีฐานทัพซากีของรัสเซีย อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เหตุระเบิดสะพานเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียของยูเครนเต็มไปด้วยการเฉลิมฉลอง โดยธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยูเครนประกาศว่า ทางธนาคารได้ออกบัตรเดบิตใหม่ ที่มีรูปสะพานที่พังแล้วบนตัวบัตรด้วย

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กองกำลังยูเครนได้ยึดคืนดินแดนจำนวนมาก ที่รัสเซียยึดไปก่อนหน้านี้ในสงคราม อย่างไรก็ดี รัสเซียยังคงครอบครองพื้นที่ในซาปอริซเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป และรัสเซียพยายามใช้สถานที่ดังกล่าว ในการขู่กรรโชกยูเครนและประชาคมโลก ให้พบกับความเสี่ยงจากมหันตภัยนิวเคลียร์ จากการกราดยิงและยิงถล่มในบริเวณพื้นที่ใกล้โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-europe-63189627?fbclid=IwAR2k-15wP7VhuWcS38hApXaHT5Sz9X1_AJBUAPYjcMyLQ1RmV3x6KTP1Ous