ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มภาคีกะเหรี่ยงและประชาชน รวมตัวทวงความเป็นธรรมให้ 'กะเหรี่ยงบางกลอย' หลังอพยพคืนกลับสู่ใจแผ่นดิน พร้อมประกาศยกระดับชุมนุม 15 ก.พ.

จากกรณีเครือข่ายกะเหรี่ยงและประชาชน นัดทำกิจกรรม 'Saveบางกลอย' เพื่อทวงความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนสู่ กะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเดินทางกลับบ้านใจแผ่นดิน ลำเนาดั้งเดิมหลังถูกอพยพจาก 'ยุทธการตะนาวศรี' เมื่อปี 2556 โดยนัดหมายที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อ 'วราวุธ ศิลปอาชา' รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเนื้อหาดังนี้ 1.ให้ชาวบ้านที่อพยพขึ้นไปทำไร่หมนุนเวียนที่ใจแผ่นดิน สามารถดำเนินการต่อไปได้ 2.ต้องจัดสรรที่ดินให้ชาวชุมนุมบางกลอยล่าง ที่ประสงค์จะพักอาศัยอยู่ต่อ 


20 ปี ไร้คำตอบ

โดย 'ธัชพงศ์ แกดำ' ตัวแทนเครือข่ายได้ชี้แจงก่อนเข้ายื่นหนังสือว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นหมักหมมกว่า 20 ปี และไม่ได้รับการตอบสนอง โดยคุณภาพชีวิตและความเป็นธรรมยังไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่รัฐกลับมีความพยายามเข้าไปคุกคามมากกว่าการแก้ปัญหา และสร้างวาทกรรมทำลายป่า ให้สังคมเข้าใจผิดทำลายความชอบธรรมพี่น้องบางกลอย

"เราต้องการให้พี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอยกลับไปอยู่ใจแผ่นดิน รัฐมนตรีคุณอาสาเข้ามาทำงานรับใช้ประชาชน ถ้าคุณไม่แก้ไขปัญหาพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย เท่ากับว่าคุณสองมาตราฐานในการปฏิบัติหน้าที่ คุณจะรับใช้แต่พวกพ้อง แต่คุณไม่ได้รับใช้กะเหรี่ยงบางกลอยเลย วันนี้เราจะมาวัดใจกันว่ารัฐมนตรีคนนี้จะเห็นหัวพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอยหรือไม่ "


ขัดขวางนักกิจกรรมชูป้ายข้อความ

ทว่าระหว่างการเข้ายื่นหนังสือต่อ 'วราวุธ ศิลปอาชา' กลุ่มนักกิจกรรมและชาวกะเหรี่ยงบางส่วน เดินทางเข้าร่วมแคมเปญด้วยการนำป้ายข้อความ 'Saveบางกลอย' และ 'ชาติพันธุ์ ก็คือคน' ติดบริเวณหน้ากระทรวง พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบและตำรวจควบคุมฝูงชน เข้าขัดขวางพูดจาข่มขู่แลใช้กำลังยื้อแย่งป้ายจนขาดเสียหาย

ด้าน โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) รายงานผ่านทวิตเตอร์ว่า ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศข้อกฎหมาย ตำรวจควบคุมฝูงชนได้เข้ายึดผ้าปูและควบคุมผู้ชุมนุม 1 ราย โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมได้เจรจาขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอย่าใช้ความรุนแรง กระทั่งเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ถูกคุมตัว


ประณามรัฐมนตรี

ทั้งนี้ในช่วงท้ายกิจกรรม กลุ่มผู้รักความเป็นธรรมและภาคีและSaveบางกลอย ได้อ่านแถลงการณ์ประณาม รัฐมนตรีที่ไม่แก้ไขปัญหาและนัดชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีเนื้อหาใจความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในการแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่มีแนวทางที่ชัดเจน แต่กลับมีการสื่อสารจากบุคคลและหน่วยงานในกำกับของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงการเตรียมดำเนินคดีกับพี่น้องกะเหรี่ยง

รวมถึงกระบวนการในการปิดกั้นการส่งข้าว ปลา อาหาร เพื่อการยังชีพของพี่น้องที่กลับไปใจแผ่นดิน ก่อให้เกิดความกังวลถึงความปลอดภัยของพี่น้องความเป็นอยู่ ดังเช่นกรณีของ บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงที่เคยเกิดขึ้น โดยปัจจุบันยังไม่สามารถหาคนกระทำผิดมาลงโทษจากการกระทำที่โหดเหี้ยมในครั้งนั้นได้ ทว่า 'วราวุธ ศิลปอาชา' ไม่ได้ทำหน้าที่รัฐมนตรีอำนวยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว หากไม่สามารถทำอะไรได้ "การเป็นรัฐมนตรีของก็ไม่มีความหมายต่อประชาชนอีกต่อไป"

"เราขอประกาศว่า เรามีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับการเคลื่อนไหวของประชาชน กดดันผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ ให้แก้ไขปัญหาของประชาชน ขอให้ประชาชนผู้เดือดร้อน รักความเป็นธรรมและเห็นด้วยกับเรา มาร่วมชุมนุมกดดันรัฐบาล หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ให้เกิดการแก้ไขปัญหา จนนำไปสู่การสนับสนุนให้พี่น้องบางกลอยได้กลับไปทำกินตามวิถีชีวิต"

อ่านเพิ่มเติม