วันที่ 10 ส.ค. 2565 ที่อาคารรัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันนี้ โดยระบุว่า พรรคเพื่อไทยได้มีเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนสูตรคำนวณแบบหาร 500 เนื่องจากขัดต่อกระบวนการยุติธรรมทุกอย่าง และจะต่อต้านกฎหมายนี้ด้วยกระบวนการทุกวิธี ทั้งการไม่ร่วมประชุม การวอล์กเอาต์ หรือการไม่ร่วมสังฆกรรม เป็นมาตรการสุดท้ายที่มีอยู่ในฐานะฝ่ายค้าน
สำหรับกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยมีดีลลับกับพรรคพลังประชารัฐในการจะร่วมกันล้มร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น นพ.ชลน่าน ระบุว่า เป็นข้อกล่าวหาที่เกินความจริงไปหลายขั้น โดยหวังผลจะทำลายความน่าเชื่อถือของพรรคเพื่อไทย กลไกที่เพื่อไทยใช้ขณะนี้ ประชาชนเริ่มยอมรับว่าเป็นวิธีการยับยั้งกฎหมายจากเสียงข้างมากที่เป็นเผด็จการ จึงมีการปล่อยเรื่องดีลลับกับพรรคพลังประชารัฐมาเพื่อทำลายความชอบธรรม ขอปฏิเสธว่าไม่ได้มีการจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคใดๆ แน่นอน โดยเฉพาะเพื่อผลักดันให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไปเป็นนายกรัฐมนตรี
"มีการโจมตีพรรคเพื่อไทยว่า ทำลายระบบรัฐสภา เปลืองภาษีประชาชน ไม่ทำหน้าที่ ขอยืนยันว่ามาตรการนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ เป็นสิทธิของเสียงข้างน้อยเพื่อใช้ตอบโต้เสียงข้างมาก ย้ำว่ามาตรการนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง"
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำ เป็นการปกป้องรัฐสภา ไม่ใช่สภาไทยทำอะไรก็ได้ ต้องมีหลักเกณฑ์ หลักการที่ชอบธรรม เพราะเราใช้อำนาจแทนพี่น้องประชาชน ไม่ใช่ใครอยากทำอะไรก็ทำ ใครจะแปรญัตติมาตอนไหนก็ทำได้ นั่นไม่ใช่รัฐสภา วิธีเช่นนั้นจึงจะเป็นการทำลายระบบรัฐสภา ใช้กล้วย ใช้อำนาจสั่งการ ใช้ข้อต่อรอง
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงความไม่ชอบธรรมอื่นๆ กระทั่งการแก้รัฐธรรมนูญ เหตุใดจึงแก้ได้ หากไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ต่อรองก็ไม่มีทางแก้ได้ เพราะใช้เป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล แล้วยังใช้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์เป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งเขียนแบบไม่รัดกุมขอไปที แต่ปฏิเสธร่างที่สมบูรณ์จากพรรคเพื่อไทย
'สุทิน' ย้ำสูตรหาร 500 มีปัญหา 'เพื่อไทย' ต้องขวางผ่านรัฐสภา
สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันนี้ โดยระบุว่า ในการทำงานของพรรคฝ่ายค้าน แต่ละพรรคต่างมีแนวทางของตนเอง ซึ่งอาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่ก็เคารพซึ่งกันและกัน โดยในวาระพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น ก็เช่นกัน แนวทางของฝ่ายค้านก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเอง การร่วมประชุมรัฐสภา ก็จะเป็นไปตามธรรมชาติ คือมาประชุมกันตามปกติ และด้วยความที่ 10 ส.ค. เป็นวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพรรคเพื่อไทย แต่เป็น ส.ส. เกือบทุกพรรค องค์ประชุมก็อาจจะไม่หนาแน่นเหมือนเคย แต่ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยก็จะมาประชุมกันเป็นธรรมชาติตามปกติ
สุทิน ยังกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังคงเชื่อว่าสูตรคำนวณ ส.ส.แบบหาร 100 จะยังมีปัญหาขัดกับรัฐธรรมนูญน้อยที่สุด และปฏิบัติได้ดีที่สุด และได้ยืนยันในจุดยืนและความเชื่อมาโดยตลอด พร้อมได้แสดงออกด้วยวิธีต่างๆ ทั้งการลงมติ การวอล์กเอาต์ และอื่นๆ ทั้งยังคงเชื่อว่าระบบแบบหาร 500 มีปัญหา พรรคเพื่อไทยจะดำเนินตามแนวทางนั้นต่อไป
สุทิน ยังย้ำว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำ เช่นการไม่เป็นองค์ประชุมนั้น ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต แต่ต้องใช้เทคนิคในการยับยั้งกฎหมายที่คิดว่าไม่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่การละทิ้งหน้าที่ หรือตีรวน เกเร อะไร จะดีกว่าการเห็นชอบกับสูตรคำนวณแบบหาร 500 แล้วไปสร้างปัญหาข้างนอก
'ก้าวไกล' อยู่ร่วมประชุมตามหน้าที่ จ่อคว่ำสูตรหาร 500 ปัดวิจารณ์เกม
พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยระบุว่า พรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่ในการเข้าประชุม พร้อมแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับมาตราที่มีการแก้ไขเกี่ยวกับมติมาตรา 23 ได้แก่มาตรา 24/1 และมาตรา 26 เพื่อให้สอดคล้องกับสูตรคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อด้วยการหาร 500 ส่วนมาตราอื่นอาจใช้วิธีงดออกเสียง
ส่วนการจับมือของ 2 พรรคใหญ่นั้น พิจารณ์ ชวนคิดว่า ทั้งหมดของปัญหาเกิดจากสองลุง คือ ลุงตู่ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) กับ ลุงป้อม (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี) ที่เปลี่ยนไปมาจากสูตรหาร 100 เป็น 500 และกลับมา 100 ทั้งหมดทั้งมวลเป็นสมการทางการเมืองที่ต้องถามว่าประชาชนอยู่ตรงไหน แทนที่เราจะแก้ไขระบบเลือกที่เป็นโจทย์ทางการเมืองของประเทศ ให้สะท้อนเสียงของประชาชนได้มากที่สุด แต่กลับเป็นการแก้ระบบให้ตัวเองกลับเข้ามาสู่อำนาจได้ เพื่อได้เปรียบทางการเมือง
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีพรรคเพื่อไทยไม่เข้าเป็นองค์ประชุม พิจารณ์ ตอบว่า เขาก็มีจุดยืนที่ชัดเจน ไม่ได้กลับไปกลับมาเหมือนสองลุงที่พูดไปแล้ว แม้จะมีจุดยืนเดียวกัน เขาก็มีแนวทางของพรรคเขา เราก็มีแนวทางของเรา เคารพการตัดสินใจของพรรค ตนขอไม่วิจารณ์ ยอมรับว่าตนหนักใจอยู่ที่อาจมีความเป็นไปได้ที่จะไม่มีการประชุม ซึ่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กำชับว่า ให้สมาชิกมาร่วมประชุม สำหรับพรรคก้าวไกลเราคิดว่าสำคัญที่สุดคือต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง
ส่วนกรณีการตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พิจารณ์ มองว่า ต้องดูที่เจตนาของกฎหมายตัว พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรู้ตัวว่าเจตนากฎหมายคือไม่ให้ใครอยู่ในอำนาจเกินไป พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องรอให้ใครมาพิพากษา
ทั้งนี้ พิจารณ์ กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกันของหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน จะร่วมลงชื่อยื่นขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายในสัปดาห์หน้าอีกด้วย
'จุรินทร์' ย้ำ ปชป.งดันผ่านสูตรหาร 500 ย้ำอยู่ร่วมประชุม
ด้าน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยระบุว่า ได้กำชับ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ให้ลงชื่อเข้าร่วมประชุมแล้ว ยืนยันพรรคประชาธิปัตย์จะโหวตตามกระบวนการ ถ้าถึงวาระ 3 ก็จะให้ความเห็นชอบ ขั้นตอนต่อไปเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
สำหรับภาพลักษณ์ของรัฐสภา หากการประชุมล่มลงอีกครั้ง จุรินทร์ มองว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละพรรค แต่ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เราเน้นย้ำทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ จะล่มหรือไม่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์เพราะเรามี ส.ส. ประมาณ 50 กว่าคน
ส่วนการลงพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ช่วงสุดสัปดาห์นี้จะสอดคล้องกับกระแสยุบสภาในช่วงปลายเดือนหรือไม่ จุรินทร์ ตอบว่า คิดว่านับจากนี้ไปจนถึงเดือน มี.ค. ถ้ารัฐบาลอยู่ครบเทอม ทุกพรรคก็เตรียมการ ถ้าใครติดตามการเมืองมา จะทราบว่าพรรคประชาธิปัตย์เราเดินทางไปเปิดตัวผู้สมัครของเราในหลายจังหวัดหลายภาคมาตลอดอยู่แล้ว
‘มงคลกิตติ์’แนะเชลียร์ 'ประยุทธ์' แก้ รธน. ให้เป็นนายกฯ ตลอดชีวิต
มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันนี้ โดยระบุว่า ไม่ว่าจะใช้สูตรคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อด้วยการหารแบบใด ตนก็ได้ประโยชน์จากการหาร 500 แต่ในกรณีที่องค์ประชุมครบ ตนจะงดออกเสียง ทั้งมาตราที่เหลือหรือวาระ 3 เพราะเดิมทีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นผลประโยชน์ไม่ว่าจะพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่ จะให้ดีควรเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พิจารณาดีกว่า
ส่วนใครที่ไม่เข้าร่วมประชุมวันนี้ จะผิดจะถูกตามข้อบังคับจริยธรรมหรือไม่ มงคลกิตติ์ มองว่า ต้องถามฝ่ายกฎหมายและนักร้องเรียนเอา
ส่วนวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มงคลกิตต์ กล่าวว่า ได้ร่างหนังสือและปรึกษาแก้ไขหนังสือยื่นตีความศาลรัฐธรรมนูญผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร กับ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ เตมียเวส ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่าจะช่วยกันลงชื่อในญัตติของพรรคเพื่อไทย ญัตติของพรรคพลังปวงชนไทย ญัตติของพรรคเสรีรวมไทย และญัตติของพรรคไทยศรีวิไลย์
นอกจากนี้ มงคลกิตติ์ ยังอ้างถึงบันทึกการประชุมของ มีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตีความคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี โดยให้นับรวมที่ดำรงตำแหน่งก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หมายความว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตีความย้อนหลังหมด เหมือนอย่างคดีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
“มีวิธีเดียวคือเที่ยงคืนวันที่ 23 ส.ค. 65 พล.อ.ประยุทธ์ เซ็นอะไรไม่ได้ เพราะเซ็นไปก็จะผิดกฎหมาย รัฐมนตรีทั้งหมดก็จะพ้นหมด ปลัดกระทรวงก็จะรักษาการ พล.อ.ประวิตร ก็จะรักษาการนายกรัฐมนตรี ต้องดำเนินการตามการสรรหานายกฯ ใหม่ วิธีการเป็นนายกฯ อีกครั้งคือ ส.ส.-ส.ว. รวมตัวกันเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะเสียชีวิต แล้วก่อนเสียชีวิตจะให้ใครก็ระบุไปเลย ถ้าจะเชลียร์ก็เชลียร์ให้สุดเลย” มงคลกิตติ์ กล่าว