ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่าย ปชช.จับตาเลือกตั้ง 2566 กระตุกสังคมช่วยตรวจสอบการนับคะแนนตามหูหา เพื่อความโปร่งใส - เชื่อเลือกตั้งรอบนี้คือความหวัง - แนะ 'ประยุทธ์' ประกาศอยากเห็นความเท่าเทียม ก็ควรบอกให้ 250 ส.ว. เคารพเสียง ปชช.

วันที่ 11 ม.ค. 2566 เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 จัดเสวนาวิชาการในประเด็น "เข้าคูหา จับตา เลือกตั้ง 66” โดยมี รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ,พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย ,ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมวงพูดคุย


เลือกตั้ง 66 คือความหวังจุดเปลี่ยนประเทศไทย - หลังผ่านช่วงมืดมนเมื่อ 62

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งบ่อยอยู่ในระดับห้าอันดับแรกของโลก ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีนักเพราะทุกครั้งที่เปลี่ยนประชาชนต้องทำความเข้าใจใหม่ ถ้าย้อนกลับไปก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ไทยใช้ระบบเลือกตั้งแบบหนึ่งเขตสามคน พรรคการเมืองส่งได้สามชื่อ ทางวิชาการมองว่า

ทำให้เกิดการแข่งขันกันเองในระบบพรรคการเมืองก็ยกเลิกไปและเปลี่ยนมาเป็นแบบคู่ขนานในการเลือกตั้ง 2544 และ 2548 คล้ายกับการเลือกตั้ง 2566 ต่างตรงที่ 2544 และ 2548 มีเกณฑ์ขั้นต่ำห้าเปอร์เซ็นต์ที่ถูกมองว่าเอื้อต่อพรรคใหญ่และพรรคที่มีชื่อเสียงติดหูและมีทรัพยากรในการหาเสียงในระดับประเทศ ตามด้วยการรัฐประหารในปี 2549 และเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง จากนั้นเปลี่ยนระบบอีกครั้งในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่ใช้ในการเลือกตั้ง 2554

การรัฐประหาร 2557 นำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2560 และระบบเลือกตั้งแบบใหม่ รศ.ดร.สิริพรรณระบุว่า ขอไม่เรียกระบบการเลือกตั้ง 2562 ว่า ระบบเลือกตั้งแต่ขอเรียกว่า เป็น “เทคนิคเลือกตั้ง” เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกเลยที่ใช้ระบบเลือกตั้งนี้ เหตุที่เป็นเช่นนี้คือ ข้อเสียของระบบจัดสรรปันส่วนผสมเป็นระบบที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะเน้นตัวบุคคลและรากเหง้า

“ซากเดนของปัญหายังสืบทอดจนถึงปัจจุบัน ทำไมทุกวันนี้เราจึงเห็นการย้ายพรรคแบบไร้ยางอาย การซื้อส.ส. การซื้อผู้สมัครบ้านใหญ่...เพราะเป็นผลพวงของระบบเลือกตั้งปี 2562 ที่เน้นตัวบุคคล เวลาเราเลือกเรามีบัตรใบเดียว เขาเลือกส.ส.เขต ส่วนบัญชีรายชื่อเอาคะแนนส.ส.ทั้งหมด ไม่ว่าจะสอบได้ สอบตก บางเขต บางพรรคเข้าไปดูได้ห้าคะแนน...แต่คะแนนเหล่านี้ยังมีความหมาย ในปี 2562 มีผู้สมัครเป็นหมื่นๆ คนเพราะทุกคะแนนไม่ตกน้ำ ซึ่งเป็นข้ออ้างของผู้ร่างระบบเลือก แต่ตั้งคำถามคือ คะแนนไม่ตกน้ำ มันดีตรงไหน ในระบบเลือกตั้งคือ ระบบที่คัดผู้ชนะ ไม่ใช่ให้โบนัสแก่ผู้แพ้ คือแพ้ก็ได้ประโยชน์อยู่ ทำให้ตัวบุคคลมีความสำคัญมาก ทำให้บ้านใหญ่ ผู้มีอิทธิพล เจ้าพ่อเจ้าแม่กลับมาบูมอีกครั้งหนึ่ง”

“ประการที่สองลดทอนความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองจ้องไปดึงตัวผู้สมัครเข้ามา ครั้งที่แล้วแข่งขันกันในเชิงนโยบายก็จริง แต่ว่าถ้าใช้ระบบเลือกตั้งนั้นไปเรื่อยๆ นโยบายของพรรคจะลดความสำคัญลง...และทำให้เกิดการแข่งขันกันเองในพรรค” รศ.ดร.สิริพรรณยกตัวอย่างพรรคอนาคตใหม่ที่เวลานั้นผู้สมัครแบบแบ่งเขตมีโอกาสชนะน้อย จึงอยากลงแบบบัญชีรายชื่อมากกว่า

ในเรื่องการจัดการเลือกตั้ง เธอระบุว่า อาจจะเห็นไม่ตรงกับอาจารย์ปริญญา ในประเด็นที่หลายคนเชื่อว่า กกต.จงใจให้เกิดการปัดเศษ แต่เธอขอยืนยันว่า กกต.คำนวณถูกแล้ว ไม่ได้คำนวณผิด เอกสารของกกต.ออกมาก่อนหน้านั้นโดยอธิบายวิธีการคำนวณ การที่มีพรรคปัดเศษไม่ใช่เป็นการคำนวณผิดหรือจงใจเอื้อประโยชน์ของกกต. ปัญหาอยู่ที่การเขียนระบบเลือกตั้งแต่แรก แต่กกต.มีความผิดผลาดแน่นอน อย่างไรก็ตามเพื่อความโปร่งใส เรียกร้องให้กกต.ออกหนังสือการจัดสรรที่นั่งออกมาก่อนการเลือกตั้ง 2566

ระบบการเลือกตั้ง 2562 ที่ทำลายประชาธิปไตยมากที่สุดคือ การทำให้มีพรรคการเมืองจำนวนมาก ไทยกลายเป็นประเทศที่มีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมาก คือ 19 พรรค ก่อนหน้านี้นักวิชาการประเมินว่า รัฐบาลไม่น่าจะอยู่รอดเนื่องจากจะต้องมีการรอมชอมประนีประนอม แต่ทุกวันนี้มีการปลูกกล้วยกันเต็มสภา ในที่สุดก็อยู่มาได้และทำท่าจะไปต่อ คำถามคือ แม้ว่าจะอยู่รอดครบเทอม แต่ปัญหาคือ ประสิทธิภาพของการบริหาร

“ความอยู่รอดตั้งอยู่บนการต่อรองและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์มากกว่าความอยู่รอดเพื่อการบริหารประเทศ ทั้งหลายทั้งปวงเป็นผลพวงของระบบเลือกตั้ง มันสำคัญเนื่องจากเป็นเครื่องมือแรกที่เข้าสู่อำนาจทางการเมือง เครื่องมือที่ทำให้รัฐบาลเข้าสู่อำนาจในลักษณะหนึ่งก็จะได้รัฐบาลแบบหนึ่ง ถ้าเปลี่ยนเครื่องมือจะได้รัฐบาลอีกแบบหนึ่ง เชื่อว่า ถ้าเปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นอีกแบบหนึ่งหน้าตาของรัฐบาลก็เปลี่ยนไปได้”

อีกเรื่องหนึ่งคือการจัดการเลือกตั้งที่มีปัญหา ประการแรก บัตรเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตและพรรคการเมืองคนละเบอร์ มองว่า เป็นความจงใจที่ทำให้พรรคการเมืองลดความสำคัญลงในใจคน ประการที่สองคือ ความรู้ความเข้าใจของกกต. “ถ้าจำกันได้กกต.มีสองเรื่องหลักๆ คือ การนับบัตรที่ส่งมาจากต่างประเทศและบอกมาไม่ทันไม่นับ มันไม่ได้ในทางหลักการ เมื่อเทียบกับหลายประเทศ

ต่อให้ปิดคูหาสองทุ่ม แต่สองทุ่มยังมีคนรอคิวอยู่ก็ให้ลง แม้ว่าบัตรจะเดินทางมาช้าก็ต้องนับ ประการที่สองครั้งที่แล้วกกต.ประกาศผลเลือกตั้งแค่ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้ต้องประกาศให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์” นี่คือตัวอย่างของความรู้ความเข้าใจของกกต. และประการที่สามเรื่องของความโปร่งใสและความเป็นธรรม มีความสำคัญมากในแง่ของการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ พรรคการเมืองตรวจสอบได้

รศ.ดร. สิริพรรณระบุว่า อยากเห็นการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ ไม่เกิดความรุนแรง “สิ่งที่กลัวที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้า คือปัญหาการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ การถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติคือการเปลี่ยนอำนาจทางการเมืองจากขั้วหนึ่งไปยังอีกขั้วหนึ่ง ถ้ามองย้อนหลังการเมืองใน 20 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยมีการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ มีการเกิดรัฐประหารหรือการชุมนุมทางการเมืองในทุกครั้งของการถ่ายโอนอำนาจ ซึ่งเราไม่เรียกว่าสันติ และครั้งนี้ หลังการเลือกตั้งจะยอมรับให้พรรคการเมืองหรือขั้วการเมืองที่ได้รับเสียงมากที่สุดของประชาชนจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่? ถ้าไม่ยอมโดยยังใช้เสียง สว. จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่”

“ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ไม่มีความละอาย ไม่มีความรู้สึกผิด ไม่คำนึงถึงความชอบธรรมทางการเมืองใดๆ และยังมีสว. 250 คนอยู่ในมือ ถึงจะแตกเป็นสองฝั่งก็ตาม ถึงเวลามี สว. ท่านหนึ่งออกมาพูดว่า ‘น้ำบ่อไหน ก็จะไปลงที่น้ำบ่อนั้น’ หมายความว่า น้อยมากที่จะมี ส.ว. แตกแถวมาเลือกในฝั่งที่เคารพเสียงของประชาชน คำถามคือ แล้วประชาชนจะทำอะไรเราพร้อมที่จะรับความไม่สงบใดๆ ต่อจากนี้หรือไม่”

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า หลักการของรัฐบาลที่มาจากประชาชน ต้องมาจากประชาชน ซึ่งทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน ถือเป็นหลักประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ แต่เราไม่ใช่อย่างนั้นมาตั้งแต่ปี 62 โดยการเลือกตั้งปี 62 มีปัญหามาจากบัตรใบเดียว คือ กติกากำหนดในแต่ละเขตมีการส่งผู้สมัครจำนวนมากกว่าปี 54 ถึง 5 เท่า เพราะปี 62 แต่ละพรรคส่งเพื่อที่จะให้ได้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ด้วยกติการใหม่ในปี 66 นี้ ตนมองว่าการเลือกตั้งจะดีกว่าปี 62 

ผศ.ดร.ปริญญา มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่จะช่วยให้เรากลับสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะอีกปีกว่า ส.ว.ก็จะหมดอำนาจและหลังจากนั้นประเทศไทยก็จะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทย


เลือกตั้ง 66 จะโปร่งใส ประชาชนต้องช่วยจับตา

พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า หลายคนอาจมองคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่น่าเชื่อถือ สืบเนื่องจากการเลือกตั้งปี 62 จึงทำให้เราไม่มั่นใจในการเลือกตั้งครั้งหน้า ฉะนั้นการตรวจสอบการเลือกตั้ง ต้องทำให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ โดยร่วมกันรณรงค์เรื่องนี้ และต้องมีการพัฒนากฎหมายเลือกตั้ง เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ปริญญา มองว่า ความโปร่งใสในการเลือกตั้งทางแก้ไขมีทางเดียว ประชาชนต้องช่วยกันสอดส่องตามหน่วยเลือกตั้ง 9 หมื่นกว่าหน่วย เพื่อดูความผิดปกติ ขอเพียงอย่างเดียว รัฐอย่าห้ามประชาชนตรวจสอบเท่านั้น

ยิ่งชีพ กล่าวเสริมว่า หลังการเลือกตั้งขอให้ทุกคนช่วยจับตาไปติดตามดูการนับคะแนนตามหน่วยที่มี 9 หมื่นกว่าแห่ง โดยถ่ายภาพและแชร์กันมา ถ้าทุกคนช่วยกันทำได้ แม้ กกต.นับคำแนนไม่เสร็จก็ไม่เป็นไร แต่เขาจะไม่กล้าทำอะไร ซึ่งจะถือเป็นชัยขนะที่มองไม่เห็น


แนะ 'ประยุทธ์' ให้ 250 ส.ว.เคารพเสียง ปชช.

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พูดบนเวทีในเปิดตัวเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ระบุว่าเชื่อมั่นในระบบการเลือกตั้งของประชาธิปไตยโดยยึดหลักความเท่าเทียม ซึ่งตนก็งง ฉะนั้นจึงเสนอว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศอยากให้เท่าเทียม ก็ควรประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับเสียง ส.ว.250 ฉะนั้นถ้า พล.อ.ประยุทธ์ อยากให้การเลือกตั้งนี้มาจากประชาธิปไตย ก็ควรบอกให้ ส.ว.เคารพเสียงประชาชน

"ต้องให้ ส.ว.รับปากประชาชน ว่าแม้จะมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ (เลือกนายกฯ) แต่จะให้อำนาจประชาชน ซึ่งวันนี้เหลืออำนาจอีกปีกว่า นี่จึงเป็นโอกาส" 

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ปริญญา ยังมองความสัมพันธ์ของ 2ป. (พล.อ.ประยุทธ์ กับพล.อ.ประวิตร) เชื่อว่า แตกกัน แต่หลังเลือกตั้งจะมี 1 คนที่ยอมถอย 


เพื่อไทย แลนด์ไสลด์ 250 ยาก

รศ.ดร.สิริพรรณ มองถึงโอกาสของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง ว่า พรรคเพื่อไทย จะเป็นพรรคเดียวที่จะได้เกิน 100 ที่นั่ง แต่การที่จะแลนด์สไลด์ 250 อาจไม่ถึง แต่ถ้าจะทำได้พรรคฝ่ายค้านต้องรวมกันและได้เสียงข้างมากในสภา แต่จากที่วิเคราะห์แล้วเป็นไปได้ยากที่ ส.ว. 250 จะแตกแถว ฉะนั้นสิ่งที่เราควรทำ 2 เรื่องคือ 1.พรรคการเมือง ต้องประกาศให้ชัดเจนว่าจะเคารพเสียงข้างมากของประชาชน และ 2.ต้องให้ ส.ว.เคารพเสียงประชาชน 

พร้อมมองอีกว่า พลังประชารัฐ (พปชร.) และภูมิใจไทย (พท.) มีโอกาสมามากกว่า รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากจะดูว่าใครจะเป็นตัวแปรรัฐบาลต้องจับตาดู สมศักดิ์ เทพสุทิน เพราะ สมศักดิ์ ไม่เคยไม่ได้เป็นรัฐบาลเลย