รายงานของกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ 'ยูเอสดีเอ' (USDA) แนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการล้างเนื้อไก่ดิบก่อนนำไปปรุงอาหาร โดยระบุว่า คำแนะนำนี้อาจจะขัดต่อความเชื่อและความรู้สึกของผู้ทำอาหารจำนวนมาก แต่ยูเอสดีเอมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้ว่า เพราะเหตุใดจึงควรหลีกเลี่ยงการล้างเนื้อไก่ดิบหรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ขณะเตรียมอาหาร
รายงาน Washing Raw Poultry: Our Science, Your Choice ของ 'ยูเอสดีเอ' ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์อย่างเป็นทางการตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนอเมริกันจำนวนมากล้มป่วยจากการติดเชื้อแบคทีเรียต่างๆ เกิดจาก 'วิธีเตรียมอาหาร' ซึ่งรวมถึงการล้างเนื้อไก่ดิบ เพราะคนส่วนมากเข้าใจว่าจะช่วยให้เนื้อสะอาดขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับยิ่งทำให้แบคทีเรียก่อโรค เช่น ซาลโมเนลลา แพร่กระจายไปทั่วชิ้นเนื้อ และมือที่สัมผัสเนื้อไก่ดิบที่มีเชื้อโรคโดยไม่ได้ล้างด้วยสบู่ เมื่อนำไปสัมผัสอุปกรณ์ทำอาหารหรือวัตถุดิบต่างๆ จะนำไปสู่การปนเปื้อนแบคทีเรียได้
เนื้อหาในรายงานระบุว่า การใช้น้ำประปาล้างเนื้อสัตว์ดิบทุกชนิดก่อนปรุงอาหารล้วนเพิ่มความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะแพร่กระจายหนักกว่าเดิม แต่ 'ยูเอสดีเอ' พุ่งเป้าไปที่ 'เนื้อไก่ดิบ' เพราะเป็นเนื้อสัตว์ที่มีผู้บริโภคภายในประเทศมากเป็นอันดับต้นๆ และพบแบคทีเรีย 'ซาลโมเนลลา' ปนเปื้อนมากกว่าเนื้อสัตว์อื่นๆ แต่ 'ยูเอสดีเอ' ยืนยันว่าเชื้อแบคทีเรียที่พบในเนื้อสัตว์จะตาย ถ้าหากปรุงสุกด้วยความร้อนขั้นต่ำตั้งแต่ 62 ไปจนถึง 73 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่านั้น
'ยูเอสดีเอ' เตือนด้วยว่า คนอเมริกันมักจะเตรียมเนื้อสัตว์ก่อนทำสลัดหรืออาหารจานข้างเคียง ทำให้การล้างเนื้อไก่ดิบหรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ก่อนจะไปเตรียมอาหารที่ไม่ใช้ความร้อน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่เชื้อแบคทีเรียจะแพร่กระจายมากกว่าการเตรียมอาหารโดยไม่ล้างเนื้อสัตว์ สูงถึง 31 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การใช้น้ำส้มสายชู น้ำเกลือ หรือน้ำมะนาว แช่เนื้อไก่ดิบหรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ก็ไม่มีผลในการฆ่าเชื้อโรคแต่อย่างใด
ถ้าผู้ปรุงอาหารต้องการกำจัดชิ้นส่วนหรือคราบใดๆ ที่ติดมากับเนื้อสัตว์ 'ยูเอสดีเอ' แนะนำให้ใช้กระดาษเปียกซับคราบหรือดึงชิ้นส่วนไม่พึงประสงค์ไปทิ้ง หลังจากนั้นต้องล้างมือด้วยสบู่ให้ทั่วถึง ไม่ต่ำกว่า 20 วินาที พร้อมทั้งทำความสะอาดอ่างล้างจานด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดก่อนจะเตรียมอาหารอื่นๆ ต่อ จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคได้
นอกจากนี้ 'ยูเอสดีเอ' ยังอ้างอิงข้อมูลของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า ในแต่ละปีมีชาวอเมริกันประมาณ 1 แสน 2 หมืน 8 พันคน ป่วยด้วยโรคท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ จากการบริโภคอาหารปนเปื้อนแบคทีเรีย และผู้ที่มีอาการร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต อยู่ที่ประมาณ 3 พันคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีร่างกายอ่อนแออยู่แล้ว ทำให้ 'ยูเอสดีเอ' ย้ำว่า การป้องกันความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องช่วยกัน