กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เริ่มแบนรถดีเซลเก่าไม่ให้เข้าไปในเขตเมือง ขณะที่ มาดริด ประเทศสเปน ยกเลิกคำสั่งแบนรถดีเซล หลังทดลองดำเนินการนาน 7 เดือน แต่ไม่ได้ผล
นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2019 รถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 13 ปี หรือเป็นรถยนต์ที่ผลิตก่อนปี 2006 จะถูกแบนไม่ให้เข้าบริเวณกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส เพื่อลดปริมาณมลพิษทางอากาศ
รถยนต์ รถบรรทุก และมอเตอร์ไซค์เครื่องยนต์ดีเซลที่มีอายุกว่า 13 ปี จะถูกห้ามไม่ให้เข้ากรุงปารีส วันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม โดยคาดว่าจะมีผลกระทบกับยานพาหนะราว 800,000 คัน ในแคว้นอีล-เดอ-ฟรองซ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงปารีสและปริมณฑล ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 68 ยูโร หรือราว 2,365 บาท และค่าปรับสำหรับรถบัสและรถบรรทุกจะสูงถึง 135 ยูโร หรือราว 4,695 บาท
ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ ในแคว้นอีล-เดอ-ฟรองซ์ ซึ่งเป็นเหมือนชานเมืองของปารีส และจำเป็นต้องพึ่งพารถยนต์ในการเดินทางมากกว่าปารีสนั้น จะไม่มีโทษปรับในช่วง 2 ปีแรกของเริ่มบังคับใช้มาตรการแบนเครื่องยนต์ดีเซลเก่า
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าทางรัฐบาลตกลงที่จะตั้งระยะเวลาทดลองปลอดโทษปรับ 2 ปี หลังมีเสียงทัดทานจากเทศมนตรีบางรายเกรงว่าการแบนนี้จะจุดชนวนกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อกั๊กเหลืองขึ้นมาอีกครั้ง โดยกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองซึ่งปะทุขึ้นในปีที่แล้วเป็นการชุมนุมประท้วงโดยชาวฝรั่งเศสหลายแสนคนที่ไม่พอใจกับแผนขึ้นภาษีเชื้อเพลิง โดย แพทริก อูลิเยร์ ส.ส. จังหวัดโอดแซน ปริมณฑลของปารีสกล่าวว่า เขาไม่ต้องการจะบังคับให้ประชาชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่อยากให้พวกเขายอมรับด้วยการพูดคุยกันมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้ที่สเปนกลับมีความเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับฝรั่งเศส โดยทางการสเปนประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษสูงเข้าสู่กรุงมาดริด เมืองหลวงของสเปน หลังจากบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวมาได้ 7 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทำให้มาดริดนับเป็นเมืองใหญ่แห่งแรกในยุโรปที่ 'กลับลำ' นโยบายลักษณะนี้
เดิมทีนโยบายดังกล่าวของกรุงมาดริดถูกเสนอขึ้นมาโดยพรรค พรรคเสรีนิยม Más Madrid ขณะที่ เทศมนตรีคนใหม่ของกรุงมาดริดมาจากพรรค People’s Party ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมของสเปน และทางศาลากลางก็ออกมาระบุว่าความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เป็นไปเพื่อพิจารณาปรับแก้มาตรการให้สอดคล้องกับความต้องการการใช้รถยนต์ของพลเมือง
การตัดสินใจยกเลิกคำสั่งห้ามยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษสูงเข้าสู่กรุงมาดริดดังกล่าว ทำให้พลเมืองมาดริดหลายพันคนออกมาชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมชี้ว่าเหตุการณ์นี้สะท้อนถึงความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของระบบการเมืองสเปนซึ่งกลายเป็นการเมืองที่มีการแบ่งขั้วและเปราะบาง อันส่งผลโดยตรงกับคุณภาพชีวิตของพลเมือง และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก
ในปัจจุบันบรรดาชาติยุโรปต่างตั้งเป้าลดการปล่อยมลพิษด้วยการแบนไม่ให้ยานพาหนะเครื่องยนต์ดีเซลเก่าเข้าสู่เมืองใหญ่กัน ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้บริสทอล เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของอังกฤษก็เริ่���ทำประชามติ 6 สัปดาห์ เกี่ยวกับการแบนไม่ให้รถยนต์ดีเซลเข้าย่านใจกลางเมือง หลังจากที่ในปี 2017 รัฐบาลอังกฤษประกาศตั้งงบประมาณกว่า 3 พันล้านปอนด์ เพื่อนำไปใช้ในนโยบายแก้ปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งจะรวมถึงการสั่งห้ามขายและห้ามการขับขี่ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งเบนซินและดีเซล ภายในปี 2040 และจะส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในด้านต่างๆ รวมถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทดแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
แน่นอนว่ากลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมต่างสนับสนุนความคืบหน้าของรัฐบาลอังกฤษอย่างมากในครั้งนี้ หลังจากที่ ก่อนหน้านั้นรัฐสภาของสหภาพยุโรปลงมติผ่านร่างกฎหมาย ลงโทษบริษัทรถยนต์ที่ไม่สามารถพัฒนาเครื่องยนต์ให้ควบคุมการปล่อยมลพิษได้ เช่นเดียวกับรัฐบาลในหลายประเทศ ทั้งฝรั่งเศส เม็กซิโก สเปน และกรีซ ที่ออกคำสั่งห้ามรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเข้าไปในพื้นที่ใจกลางเมืองหรือพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหามลพิษทางอากาศมาก่อนหน้านี้แล้ว
ขณะที่ เมืองฮัมบูร์กและสตุตการ์ต ในเยอรมนีก็เริ่มแบนมาตั้งแต่ 31 พฤษภาคม 2018 และ 1 เมษายน 2019 ตามลำดับ ส่วนบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียมเริ่มการแบนมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2018 และจ่อแบนทั้งรถเบนซินและดีเซลในปี 2030 ด้วย ทางด้านประเทศไอร์แลนด์ และกรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์เอง ก็มีเป้าจะหยุดจำหน่ายยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงเบนซินและดีเซลภายในปี 2030 เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ก็มีการเห็นต่างอยู่เช่นกันเช่นในกรณีของเยอรมนีเองก็มีความพยายามจากสมาชิกสภาที่ต้องการจะกลับลำการแบน เนื่องจากมองว่าการห้ามรถเข้าสู่เมืองเลยนั้นเป็นยาขมเกินไปในการรักษาสิ่งแวดล้อม หลังจากที่ในปีที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดของเยอรมนีในเมืองไลป์ซิก ได้มีคำพิพากษาบังคับให้เมืองใหญ่ของเยอรมนีสั่งห้ามรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้การมานาน และมีเครื่องยนต์เก่า ไม่ให้เข้ามาวิ่งบนท้องถนนในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเมืองสตุตการ์ต และดุสเซลดอฟ ซึ่งเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งในเยอรมนี ขณะที่ ทางการของรัฐเวิร์ทเทมเบอร์ก และนอร์ธไรน์ - เวสต์ฟาเลีย กำลังยื่นอุธรณ์ต่อสู้คัดค้านเรื่องนี้อยู่
ด้านผู้เชี่ยวชาญมีการคาดการณ์ไว้ด้วยว่า ปริมาณไนโตรเจนออกไซด์ที่มีจำนวนมากในประเทศเยอรมนี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศกว่า 6,000-13,000 คนต่อปี โดยเฉพาะโรคหืด ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจาการขนส่งที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล โดยเกณฑ์ที่สหภาพยุโรปกำหนดคือ ไนโตรเจนออกไซต์ต้องไม่เกิน 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่หลายเมืองในเยอรมนีกลับมีไนโตรเจนออกไซต์มากถึง 70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เช่น สตุตการ์ต ดุสเซลดอฟ โคโลญจน์ และมิวนิก