ไม่พบผลการค้นหา
World Trend - สงครามการค้ากระทบอุตสาหกรรมการบินโลก - Short Clip
Jun 5, 2019 05:29

ไออาตาคาด รายได้ของ 'การขนส่งทางอากาศ' ทั่วโลกจะลดลงถึง 7 เปอร์เซ็นต์ หลังข้อพิพาททางการค้าระหว่างชาติมหาอำนาจรุนแรงขึ้น ฉุดรั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาตา (IATA) ซึ่งเป็นตัวแทนของสายการบินกว่า 290 สายการบิน ซึ่งคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของการจราจรทางอากาศทั้งหมด ออกมาประกาศปรับลดประมาณการกำไรประจำปี 2019 ลงกว่า 1 ใน 5 โดยเป็นผลพวงมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ประกอบกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น สร้างความลำบากให้กับอุตสาหกรรมการบินในภาพรวม

ตัวเลขรายรับประจำปี 2019 คาดว่าจะมีการปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.8 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 8.8 ล้านล้านบาท จากที่เคยมีการคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ที่ 3.6 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 11.3 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นการลดลงของรายได้ถึง 7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับตัวเลขรายรับรวมปี 2017 อันเป็นผลมาจากสงครามการค้าที่กระทบการขนส่งสินค้าทางอากาศ รวมถึงกำลังซื้อของผู้โดยสารทั่วไป

อเล็กซานเดอร์ เดอ จูนิแอค อธิบดีและประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ กล่าวในคำแถลงการณ์ว่า การค้าโลกมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องจากข้อพิพาททางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงกับการขนส่งสินค้าทางอากาศ อย่างไรก็ตามความตึงเครียดดังกล่าวยังอาจส่งผลกระทบมาถึงการเดินทางของผู้โดยสารทั่วไปเช่นเดียวกัน

ในมุมของภูมิภาคเอเชีย ปัจจุบันมีกิจกรรมการขนส่งทางอากาศคิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของการขนส่งทางอากาศทั่วโลก ซึ่งทั้งหมดมีความอ่อนไหวต่อสงครามการค้าค่อนข้างสูง เพราะรายได้ในหลายอุตสาหกรรมยึดโยงอยู่กับอุตสาหกรรมการบินอยู่มาก อย่างไรก็ตาม จูนิแอค ชี้ว่า ยังมีโอกาสที่สายการบินพอจะแบ่งภาระขาดทุนจากอุปสงค์ที่ค่อนข้างแข็งแรงของผู้บริโภคได้บ้าง

จูนิแอค กล่าวเพิ่มเติมว่า การเติบโตของอุปสงค์ในเอเชียมีมาก โดยอีก 5 ปีต่อจากนี้ จีนจะกลายเป็นตลาดการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่ อินเดียจะกลายเป็นตลาดการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 3 ในระยะเวลา 8 - 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสารอาจจะเข้ามาช่วยทดแทนการหดตัวลงของการขนส่งทางอากาศท่ามกลางสงครามการค้าได้ แม้จะไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม และจูนิแอคได้ย้ำว่าหากเศรษฐกิจชะลอตัวลง ธุรกิจการบินจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แต่คงไม่แย่เท่าวิกฤตเมื่อ 15 - 20 ปีก่อน

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการบินโลกมีกำไรต่อเนื่องถึง 10 ปีเต็ม แต่ด้วยสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2018 ทำให้อุตสาหกรรมที่อิงอยู่กับการค้าและผู้บริโภคเผชิญความเสี่ยงไม่น้อย หลังจากที่ปี 2018 ตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินเพิ่มขึ้น 3.4 เปอร์เซ็นต์ และปี 2017 เพิ่มขึ้นถึง 9.7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในปีนี้กลับไม่เพิ่มขึ้นอย่างที่เป็นมา

นอกจากประเด็นของสงครามการค้าแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจัยเรื่องของต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้บรรดาผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกต้องปรับตัวอย่างมากเช่นกัน โดยช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินจากฝรั่งเศสอย่างแอร์บัสตัดสินใจออกมาประกาศว่าจะยุติการผลิตเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่พิเศษรุ่น A380 และจะยุติการส่งมอบเครื่องบินรุ่นดังกล่าวให้สายการบินที่สั่งซื้อภายในปี 2021

แอร์บัสระบุว่า การตัดสินดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่ 'เจ็บปวด' หลังจากสายการบินเอมิเรตส์ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ลดการสั่งซื้อจาก 162 ลำ เหลือเพียง 123 ลำ และหันไปสั่งซื้อเครื่องบินขนาดเล็กกว่าอย่างแอร์บัส A330 และ แอร์บัส A350 แทน ซึ่งการประกาศยุติการผลิตเครื่องบินรุ่น A380 ของแอร์บัสในครั้งนี้จะส่งผลให้พนักงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินรุ่นดังกล่าวประมาณ 3,000 - 3,500 คน ต้องเสี่ยงตกงาน อย่างไรก็ตาม แอร์บัสกล่าวว่า จะย้ายคนงานไปอยู่ในภาคการผลิตชิ้นส่วนของเครื่องบินรุ่นอื่นต่อไป

ขณะที่บริษัทโบอิง ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่จากสหรัฐฯ ก็ตัดสินใจประกาศลดการผลิตเครื่องบินโบอิง 737 ลงจากเดิม 52 ลำต่อเดือน เหลือ 42 ลำต่อเดือน นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายนเป็นต้นมา เพราะถูกสายการบินทั่วโลกรวมถึงในไทยสั่งพักการใช้งานเครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์ หลังเกิดเหตุเครื่องบินโบอิง 737 แม็กซ์ ของเอธิโอเปียแอร์ไลน์ตก เพียงไม่กี่นาทีหลังจากเทกออฟจากกรุงแอดดิสอาบาบา ส่งผลให้นักบิน ลูกเรือและผู้โดยสารทั้งหมด 157 คนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา 

ยิ่งไปกว่านั้น 5 เดือนก่อนเกิดเหตุดังกล่าว เครื่องบินรุ่นเดียวกันของไลออนแอร์ก็ตกทะเล ไม่นานหลังจากขึ้นบินจากกรุงจาการ์ตา ของอินโดนีเซีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 189 ราย ส่งผลให้ทางบริษัทต้องเผชิญกับวิกฤติครั้งใหญ่ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา CEO ของบริษัทโบอิงออกมาให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าว CNBC ว่า ทางบริษัทยังไม่ได้รับการสั่งซื้อเครื่องบินโบอิงรุ่น 737 แม็กซ์ อีกเลยตั้งแต่เกิดเหตุ และทันทีที่บทสัมภาษณ์นี้ถูกเผยแพร่ออกไป มูลค่าหุ้นของโบอิงก็ตกลงอีก 1.5 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม เขาได้ให้คำมั่นต่อสาธารณะว่าบริษัทโบอิงกำลังเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินรุ่นนี้อยู่ และคาดว่าจะสามารถกลับมาเดินหน้าผลิตต่อได้อีกครั้งภายในปีนี้


Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog