เป็นข่าวเซอร์ไร์ซตลาดทีวีดิจิตอลที่ขณะนี้หลายช่องประสบปัญหาการขาดทุน หลังจาก "อมรินทร์พริ้นติ้ง" ประกาศขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับกลุ่มทุน "ตระกูลสิริวัฒนภักดี" เข้ามาถือหุ้นใหญ่ ด้วยมูลค่า 850 ล้านบาท และล่าสุดกับจอมเทคโอเวอร์ ตระกูลปราสาททองโอสถ ที่ได้ทุ่มเม็ดเงิน เกือบ 2,000 ล้านบาท ซื้อหุ้นช่อง ONE ถือเป็นการรุกธุรกิจทีวีดิจิทัล เป็นช่องที่ 2 ต่อจาก พีพีทีวี
บริษัท วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะทำการเพิ่มทุนจดทะเบียน อีก 1,905 ล้านบาท เป็น 3,810 ล้านบาท โดยออกหุ้นเพิ่มทุน 19.05 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม คือ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่ถือหุ้นใหญ่ 51% และกลุ่มนายถกลเกียรติ วีรวรรณ ถือหุ้น 49% ของทุนจดทะเบียน
แต่ทั้ง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และกลุ่มนายถกลเกียรติ ได้สละการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน และเปิดทางให้กลุ่มใหม่ คือบริษัท ประนันท์ภรณ์ ใช้สิทธิซื้อหุ้นดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งบริษัท ประนันท์ภรณ์ มีนางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 99.98% ดังนั้นบริษัท ประนันท์ภรณ์ จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งหมด ทำให้ ผู้ถือหุ้นเดิม ทั้ง 2 ราย จะถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นลง โดยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เหลือสัดส่วนหุ้น 25.50% จากเดิม 51% และกลุ่มนายถกลเกียรติ เหลือ 24.50% จากเดิม 49%
นายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ กล่าวว่า ผู้ร่วมทุนรายใหม่ มองเห็นโอกาสในการเติบโตของช่อง ONE ซึ่งที่ผ่านมา เติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยโครงสร้างการบริหารงานของช่อง ONE จะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ปัจจุบัน แหล่งที่มาของรายได้กลุ่มตระกูลปราสาททองโอสถ มาจากธุรกิจโรงพยาบาล มากกว่า 63,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมาย ทำให้ได้ถึง 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2561
ขณะที่ ธุรกิจการบิน บางกอกแอร์เวย์ส มีรายได้รวม 24,902 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,849 ล้านบาทเมื่อปี 2558 ส่วนธุรกิจใหม่ คือทีวีดิจิทัล ในนามบริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด หรือ พีพีทีวี มีรายได้ 151 ล้านบาท การซื้อหุ้นช่อง ONE ทำให้กลุ่มปราสาททองโอสถ มีทีวีดิจิตอล ประเภทช่อง HD ถึง 2 ช่อง
ธราภุช จารุวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย มองว่า การที่กลุ่มทุนเข้าซื้อหุ้นทีวีดิจิตอล เพราะมองโอกาสสร้างผลตอบแทนในอนาคต และสื่อทีวี ยังครองเม็ดเงินโฆษณาก้อนใหญ่ สัดส่วน 50-60% ของอุตสาหกรรม
เดือนกันยายนที่ผ่านมา(59) เรตติ้งช่อง ONE อยู่อันดับ 5 รองจาก ช่อง 7 , ช่อง 3 , เวิร์คพ้อยท์ทีวี และโมโน 29 โดยวางกลยุทธ์ในปี 2560 เน้นกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นผู้หญิงอายุ 25 ปีขึ้นไป และจะขยายฐานผู้ชมให้มากขึ้น จากปัจจุบันกว่า 5 ล้านคน
ส่วนผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกปีนี้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ขาดทุนมากถึง 264 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 142 ล้านบาท ส่วนปี 2557 ที่ทีวีดิจิตอล เริ่มออกอากาศเมื่อเดือนเมษายน พบว่าขาดทุน 2,314 ล้านบาท จากปี 2556 ที่ยังไม่มีทีวีดิจิตอล ขาดทุน 1,282 ล้านบาท