ธนาคารโลกและ IMF แสดงควมกังวลว่าปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่ไทยกำลังเผชิญ จะทำให้ไทยไม่สามารถก้าวข้ามจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วและมีรายได้สูง ขณะที่ประชากรในวัยทำงานก็ต้องแบกรับภาระหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น
ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF จัดการประชุมประจำปีร่วมกันเป็นครั้งที่ 95 เมื่อวันที่ 23-25 เมษายนที่ผ่านมา ที่กรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ ซึ่งมีบุคคลสำคัญในแวดวงการเงินและเศรษฐกิจของโลก อย่างรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง, นายธนาคาร, ประธานบริษัท และนักเศรษฐศาสตร์ เข้าร่วมการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจโลก การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศต่างๆ และการแก้ไขปัญหาความยากจน
ระหว่างการประชุม ธนาคารโลกและ IMF ก็ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่ไทยกำลังเผชิญ และรายได้ของประชากรที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอาจจะหยุดชะงักลงก่อนที่รายได้โดยเฉลี่ยของประชาชนจะเพิ่มสูงขึ้น ซและจะส่งผลกระทบต่อระบบสวัสดิการสังคมในอนาคต เพราะรัฐบาลจะเก็บภาษีรายได้ได้น้อยลงและมีเงินสำรองไม่มากพอ
ปัญหาที่เศรษฐกิจจะแก่ก่อนรวยนี้เป็นปัญหาที่ประเทศที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศกำลังเผชิญ ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องดูแลที่มีเพิ่มมากขึ้น ก็จะเป็นอุปสรรคขวางกั้นไม่ให้ประเทศเหล่านี้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีรายได้สูง
นอกจากนี้สังคมผู้สูงอายุยังจะก่อให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะที่สะสมมากขึ้น เนื่องจากมีประชากรในวัยทำงานที่จะช่วยกันแบกรับภาษะหนี้สาธารณะของรัฐบาลลดน้อยลง โดยเมื่อปี 2005 ไทยมีประชากรผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด แต่ในอีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด หรือมีจำนวนมากถึง 16 ล้านคน
นักเศรษฐศาสตร์ก็แนะนำว่ารัฐบาลไทยจำเป็นต้องเร่งเพิ่มจำนวนประชากรในวัยทำงานให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้หญิงออกมาทำงานมากขึ้น หรือการยืดเวลาเกษียณอายุออกไปอีก โดยยกตัวอย่างประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงอายุในเอเชียเหมือนกันอย่างสิงคโปร์, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่มีการฝึกงานให้ผู้สูงอายุยังสามารถทำงานได้ และลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มการผลิต