เทสลาสร้างกระแสฮือฮาด้วยการเตรียมเข้าไปตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในจีน ตอกย้ำบทบาทของจีนในฐานะผู้นำด้านยานยนต์พลังงานสะอาดอันดับหนึ่งของโลกแทนที่สหรัฐฯ เราไปดูกันว่าที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและไฮบริดในสหรัฐฯกับจีนเป็นอย่างไร ทำไมเทสลาจึงตัดสินใจบุกจีน
จากกราฟ ฟิกนี้จะเห็นว่าในปี 2014 ที่ผ่านมา สหรัฐฯยังมียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดนำหน้าจีนเกือบเท่าตัว อยู่ที่ 119,710 คัน ขณะที่จีนมียอดจำหน่ายเพียง 58,866 คัน แต่ในปี 2015 สหรัฐฯมียอดจำหน่ายรถไฟฟ้าลดลงเหลือ 115,000 คัน แต่จีนกลับมีมากขึ้นเป็น 379,000คัน แซงหน้าสหรัฐฯไปกว่า 3 เท่าตัว และในปี 2016 ก็ยังมียอดขายรถไฟฟ้าสูงต่อเนื่อง อยู่ที่ 325,000 คัน ขณะที่สหรัฐฯมียอดขายรถไฟฟ้าเพียง 159,000 คันเท่านั้น ปัจจุบัน ยอดขายรถไฟฟ้าและไฮบริดกว่าครึ่งของโลก เป็นยอดขายที่เกิดจากจีน ทำให้สามารถพูดได้ว่าจีนเป็นเจ้าตลาดยานพาหนะพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง
ที่ เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งจนพัฒนาเศรษฐกิจและเปิดนิคมอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด เกิดปัญหามลภาวะตามมาจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นที่ ประชาชนมีต่อรัฐบาลพรรคคอมิวนิสต์ โดยคนจีนจำนวนมากเริ่มมองว่ารัฐบาลเอาคุณภาพชีวิตของประชาชนมาแลกกับการปั๊ม ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการแก้ไข ทั้งการควบคุมการปล่อยมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม และมลภาวะบนท้องถนน อันเกิดจากการจราจรที่ติดขัดในเมืองใหญ่ และอัตราการครอบครองรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปีตามการพัฒนาทาง เศรษฐกิจ
โดยในปี 2025 รัฐบาลจีนประเมินว่ายอดขายรถยนต์ทั่วประเทศจะพุ่งสูงถึง 35 ล้านคัน จาก 28 ล้านคันในปี 2016 ทำให้ต้องมีการตั้งเป้าว่าในจำนวน 35 ล้านคันนี้ 1 ใน 5 หรือประมาณ 875,000 คัน ต้องเป็นรถยนต์พลังงานสะอาด เช่นรถไฮบริดหรือรถยนต์ไฟฟ้า
ตัวเลขที่ว่ามานี้ ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่เทสลาจะเห็นจีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสุด โดยกระแสนิยมรถยนต์พลังงานสะอาดที่ได้รับการส่งเสริมโดยภาครัฐ ทำให้เมื่อปีที่ผ่านมา รายได้รวมของเทสลาประเทศจีนเพิ่มขึ้นรวดเดียวกว่า 3 เท่า เป็นกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ หรือ 34,000 ล้านบาท
และล่าสุด ก็มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ว่าเทสลากำลังจะลงนามกับรัฐบาลท้องถิ่นเซี่ยงไฮ้ ตั้งฐานการผลิตรถไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมหลินกั่ง ซึ่งถูกวางให้เป็นศูย์กลางการเดินเรือของโลกในอนาคต แม้ว่าจะยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากทั้งเทสลาและทางการจีน แต่แหล่งข่าวของบลูมเบิร์กยืนยันว่าจะมีการลงนามกันภายในสัปดาห์นี้ โดยเทสลาจะต้องร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นอย่างน้อย 1 รายเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายจีน แต่ยังไม่มีรายงานออกมาว่าบริษัทจีนที่จะเข้ามาร่วมทุนด้วยเป็นผู้ประกอบการ รายใด
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะถือเป็นก้าวสำคัญของเทสลา เนื่องจากการที่สามารถเข้าไปตั้งฐานการผลิตรถยนต์ในจีนได้ จะทำให้เทสลาสามารถเลี่ยงการจ่ายภาษีนำเข้าร้อยละ 25 และสามารถขายรถได้ในราคาถูกลงมาก เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับผู้ผลิตในจีน โดยทันทีที่ข่าวนี้ออกมา หุ้นของเทสลาในสหรัฐฯก็ทะยานขึ้นทันทีร้อยละ 2 ส่วนหุ้นของหลินกั่งโฮลดิงส์ รัฐวิสาหกิจผู้จัดการบริหารนิคมอุตสาหกรรมหลินกั่ง ก็พุ่งขึ้นทันทีร้อยละ 8.7 ในตลาดเซี่ยงไฮ้
การทำให้รถไฟฟ้าราคาถูกลง เป็นหัวใจของการขยายตลาดให้รถไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ บริโภคมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมา รถไฟฟ้าถูกจำกัดวงให้อยู่ในเฉพาะลูกค้าเศรษฐีและชนชั้นกลางระดับบนผู้ใส่ใจ สิ่งแวดล้อมและหลงใหลนวัตกรรมใหม่ๆ โดยดีลครั้งสำคัญนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด นั่นก็คือก่อนหน้าการเปิดตัวโมเดล 3 รถซีดานรุ่นใหม่ของเทสลา ที่ลดราคาลงมาให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น และอีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลาก็เพิ่งให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่าเขาตั้งเป้าให้โมเดล 3 เป็นรถที่ผลิตในจีน
นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เทสลาจีนก็เพิ่งขายหุ้นร้อยละ 5 ให้กับเทนเซ็นท์ โฮลดิงส์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ที่สุดในจีน ซึ่งการร่วมหุ้นกับเท็นเซ็นท์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียที่ทรงพลังอย่าง WeChat และ QQ จะช่วยให้เทสลาทำการตลาดในธุรกิจที่แข่งขันสูงอย่างรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น