ไม่ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร หรือประสบกับวิกฤตการเมืองมากี่ครั้ง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ยังคงเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจโดยรวมของไทยได้เสมอ แต่สื่อต่างชาติก็ตั้งคำถามว่า การท่องเที่ยวไทยจะช่วยเศรษฐกิจไทยไปได้อีกนานเท่าไหร่
สำนักข่าว ดอยเชอ เวลเลอของเยอรมนีมองว่า สเน่ห์ดึงดูดของไทยทำให้มีนักท่องเที่ยวหลายล้านคนทั่วโลกมุ่งหน้ามาเที่ยวในไทย ซึ่งสร้างรายได้มูลค่ามหาศาล แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ
ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวของไทยยังบูมมาก แทบไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนักจากความวุ่นวายทางการเมืองในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ทั้งการประท้วงและการปราบปรามโดยใช้กระสุนจริงในใจกลางกรุงเทพมหานคร การรัฐประหาร ไปจนถึงระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ โดยปี 2016 ไทยมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวมากกว่าปี 2009 ถึง 2 เท่า
ปีนี้ รัฐบาลไทยตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยประมาณ 34.4 ล้านคน มากกว่าปี 2016 ประมาณ 7 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน โดยมีหลายปัจจัยที่ทำให้การท่องเที่ยวไทยประสบความสำเร็จ ประการแรกคือ ไทยมีกิจกรรมมากมายให้กับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะชอบเที่ยวแบบไหน นอกจากนี้ ค่าครองชีพที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคุณภาพ ขณะเดียวกัน ก็มีเที่ยวบินมาลงที่ไทยมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แค่กาตาร์ แอร์เวย์สกับเอมิเรตส์ก็มีเครื่องบินมาลงกรุงเทพฯ 5 เที่ยวต่อวัน อีกทั้งยังมีเที่ยวบินตรงไปภูเก็ตอีกด้วย
แม้ Oxford Economics ทำนายว่า การท่องเที่ยวไทยจะเติบโตขึ้นอีก แต่นักวิเคราะห์ก็ยังตั้งข้อสงสัยว่า ไทยจะพร้อมพัฒนาให้การท่องเที่ยวเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ นายริชาร์ด โบรเวอร์ ผู้บริหารฝ่ายโฆษณาของบริษัทคีรี แทรเวล ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมากว่า 25 ปีเชื่อว่า ไทยจะพัฒนาได้ หากรัฐบาลพร้อมจะให้ความรู้ประชาชน เพราะไทยมีโรงเรียนสอนการท่องเที่ยวและโรงแรมที่ดี แต่ราคาแพง ทำให้หลายคนไม่สามารถเรียนได้
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนโดยการท่องเที่ยวและการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการอย่างการสร้างทางรถไฟก็ล่าช้าไปหลายปีจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และตามมาด้วยการยึดอำนาจในปี 2014 ซึ่งเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจะยิ่งทำให้ชนชั้นกลางและภาคธุรกิจไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้น
การท่องเที่ยวเป็นเพียงไม่กี่อุตสาหกรรมที่ยังสดใส เพราะในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวเติบโตถึงร้อยละ 17 แต่เศรษฐกิจไทยโตเพียงร้อยละ 3.2 หรือเพียงครึ่งเดียวของจีดีพีปี 2012 เพราะที่ผ่านมา เศรษฐกิจพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งทอ แต่อุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่รุ่งเหมือนเดิมแล้ว
นายกุนดี จาห์ยาดี นักเศรษฐศาสตร์ที่ DBS Asian Insights ระบุว่า ภาคธุรกิจเอกชนในไทยใหญ่กว่าภาครัฐถึง 3 เท่า แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากลับทำรายได้ไม่มากนัก ทำให้ไทยต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเรื่องเสี่ยงมาก เพราะแม้ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีอุตสาหกรรมใดเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่การพึ่งพารายได้จากหลายส่วนย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่า และไทยควรต้องกลับไปกระตุ้นอุตสาหกรรมการผลิต หากไทยยังต้องการการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในระยะยาว