มาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลมีมาอย่างยาวนาน แต่เหมือนตัวเลขจะลดลงไม่มากเมื่อเทียบความพยายามที่ดำเนินการมาหลายปี ล่าสุดศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เสนอแนวทางปรับมาตรการเมาแล้วขับทั้งระบบ
นายแพทย์ ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน หรือ ศวปถ. เปิดเผยว่า เป็นที่รู้กันว่าสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดจากพฤติกรรมเมาแล้วขับ แม้ว่าจะมีการแก้ไขโดยการวางมาตรการต่างๆ มาหลายปี แต่สำหรับประเทศไทย ยังมีการบกพร่องทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือปล่อยให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงแอลกอฮอล์ง่ายเกินไป ขณะที่กลางน้ำ เจ้าหน้าที่มีการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด ไม่เอาจริงจังในการจับกุม และปลายน้ำ แม้ว่าถูกจับกุมแต่ในกระบวนการศาล บทสรุปก็อยู่หยุดที่ลงอาญาเท่านั้น สะท้อนความไม่เอาจริงเอาจัง ทำให้คนไม่เกรงกลัวในการทำผิด
โดย นายแพทย์ ธนะพงศ์ หากประเทศไทยปรับข้อกฎหมายในการเอาผิดที่รุนแรงกว่านี้ จะสามารถช่วยได้ในระยะยาว ทั้งลดปริมาณคนที่เมาแล้วขับในปัจจุบัน รวมถึงอุบัติเหตุบนท้องถนน
นอกจากนี้ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เน้นย้ำในการเอาจริงเอาจังกับมาตรการความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต มีโทษจำคุกอย่างแน่นอน ทั้งนี้ นายแพทย์ ธนะพงศ์ มองว่า เป็นเรื่องที่ดี ที่ภาครัฐออกมามีบทบาทที่จริงจัง แต่ถึงอย่างไร ก็มีข้อควรระวัง คือ อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมชนแล้วหนี เพราะเป็นโอกาสที่ผู้ผิดจะไม่ได้รับโทษ
ขณะเดียวกัน มีการจัดแคมเปญให้ลดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่ 13 เมษายน แม้หลายฝ่ายมองว่า จำนวนวันที่รณรงค์น้อยเกินไป แต่ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มองว่า สามารถลดปริมาณอุบัติเหตุได้จริง โดยขอยกตัวอย่างง่าย ในช่วงวันเลือกตั้ง 23 และ 24 มีนาคม มีการสั่งงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ตัวเลขยอดเจ็บยอดตายลดลงถึง 1 ใน 3 จากอัตราส่วนปกติ
ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ย้ำทิ้งท้ายว่า การเพิ่มความหนักโทษทั้งในทางสังคมและทางกฎหมาย ไม่ได้ช่วยเพียงลดตัวเลขยอดเจ็บยอดตายในช่วงเทศกาลสำคัญๆเท่านั้น แต่ในระยะยาวจะช่วยให้ประเทศไทยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุลดลงในทุกๆ วันอีกด้วย