อาจารย์มหาวิทยาลัยชิงหัวของจีนประกาศจีนเดินหน้าพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ และพร้อมจะแซงหน้าสหรัฐฯ ด้วยการแข่งจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีด้านเอไอ
รองศาสตราจารย์สตีเวน ไวท์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยชิงหัวกล่าวว่า จีนกำลังจะขึ้นมาเป็นผู้นำในการแข่งขันกันพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และเทคโลยีด้านการเงิน หรือฟินเทค เนื่องจากสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน และรัฐบาลร่วมมือกันพัฒนาและอัดฉีดทรัพยากรเข้าไปในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเอไอ และเมื่อจีนตั้งเป้าจะเป็นผู้นำด้านนี้แล้ว สหรัฐฯ จะพ่ายแพ้ในการแข่งขันนี้ เพราะสหรัฐฯ ไม่มีทรัพยากรเพียงพอ
โดยที่ผ่านมา จีนพยายามให้ทุกภาคส่วนทำงานไปด้วยกัน มากกว่าการใช้วิธีให้ภาครัฐสั่งลงมา แต่รัฐบาลจะส่งเสริมด้วยการกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อการเติบโต และให้ทุนการวิจัยเบื้องต้น ส่วนสตาร์ตอัปที่ดูมีอนาคตก็จะได้รับทุนจากบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี 3 บริษัทที่หลายคนเรียกรวมกันว่า "BAT" ประกอบด้วย ไป่ตู๋, อาลีบาบา กรุ๊ป, และเทนเซนต์ โฮลดิ้งส์
ทั้งนี้ รศ.ไวท์ จบปริญญาเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ในสหรัฐฯ ก่อนย้ายมาอยู่ที่ชิงหัวในปี 2010 ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการของเอ็กซ์-แล็บของมหาวิทยาลัยชิงหัว ซึ่งสอนนักศึกษาและศิษย์เก่าเกี่ยวกับการทำธุรกิจสตาร์ตอัป ให้ความช่วยเหลือตั้งแต่การทำเวิร์กชอปเกี่ยวกับการตั้งบริษัทไปจนถึงการแนะนำนักศึกษาให้กับผู้ที่คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้คำแนะนำเรื่องการออกแบบสินค้า
ขณะที่ มหาวิทยาลัยชิงหัวเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งนิตยสารไทม์จัดอันดับให้อยู่ในอันดับ 14 ของสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับอุดมศึกษาประจำปีนี้
ส่วนเอ็กซ์-แล็บก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2013 มีโครงการมากมายในหลายอุตสาหกรรม รวมถึง เอไอและฟินเทค และมีทีมทำงานมากกว่า 1,200 ทีม และสตาร์ทอัพที่ร่วมกับเอ็กซ์-แล็บสามารถทำเงินได้มากกว่า 2,700 หยวน หรือ 13,000 ล้านบาทแล้ว และหนึ่งในเป้าหมายของเอ็กซ์แล็บคือการพัฒนาแนวคิดให้ไปสู่ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นส่วนที่จีนยังตามหลังซิลิคอน แวลลีย์ของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี รศ.ไวท์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยถือเป็นคู่แข่งของ MIT ในการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีของจีน
ขณะที่ เอไอเป็นหนึ่งในเสาหลักของหลักการ Made in China 2025 ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และทางการจีนได้เปิดเผยแผนการเป็นผู้นำในการเติบโตของโลกด้วยเอไอภายในปี 2030 ซึ่งรศ.ไวท์เปรียบเทียบว่า จีนจะกลายเป็นผู้นำด้านเอไอเหมือนกับสมัยที่สหรัฐฯ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศช่วงปี 1960 ที่ไม่มีใครกังวลว่าจะต้องทุ่มเงินไปเท่าไหร่ แต่ต้องไปให้ถึงดวงจันทร์ให้สำเร็จก่อนรัสเซีย
อีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ อาจเป็นตัวเร่งให้จีนผลักดันตัวเองไปสู่อิสรภาพด้านนวัตกรรม ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงผลจากการที่จีนพึ่งพิงเทคโนโลยีของต่างชาติคือ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สหรัฐฯ เพิ่งสั่งห้ามไม่ให้บริษัท ZTE บริษัทผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมของจีนซื้อส่วนประกอบจากซัพพลายเออร์ของบริษัทอเมริกันชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม รศ.ไวท์ระบุว่า คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักว่าจีนมีความทะเยอทะยานสูงขนาดไหน และเขาพยายามทำให้คนได้ตระหนัก และรู้สึกกลัวสิ่งที่จีนต้องการจะทำบ้าง