วิจัยในสหรัฐฯ ชี้ ภาษีเครื่องดื่มผสมน้ำตาลช่วยลดการบริโภค เอื้อประโยชน์ต่อการต่อสู้โรคอ้วน
การศึกษาล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน หรือ JAMA ชี้ว่า ภาษีน้ำตาลและเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมีส่วนทำให้ผู้บริโภคลดปริมาณการบริโภคลง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรณรงค์ต่อสู้โรคอ้วนและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ โดยภาษีประเภทนี้บังคับเก็บในบางเมืองและเขตปกครอง เช่น ฟิลาเดลเฟีย ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2017
นับตั้งแต่เริ่มใช้มาตรการดังกล่าว ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่ม 1.5 เซ็นต์ สำหรับน้ำตาลทุกออนซ์ รวมถึงใน 'ไดเอ็ต โซดา' ด้วย การบริโภคน้ำตาลและเครื่องดื่มผสมน้ำตาลในฟิลาเดลเฟียก็ลดลงถึง 51 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม กลับพบว่าปริมาณการบริโภคในเมืองใกล้เคียงที่ไม่เก็บภาษีส่วนนี้ปรับเพิ่มขึ้น และเมื่อมาประมวลผลทั้งหมดจึงพบว่าการบริโภคลดลงสุทธิ 38 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละปี สอดรับกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ที่เมื่อสินค้าราคาสูงขึ้น คนก็จะซื้อน้อยลง
ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของการปรับขึ้นภาษีคือการลดปริมาณผู้ป่วยโรคอ้วน เบาหวาน และฟันผุ ซึ่งผู้ศึกษาวิจัยไม่ได้เก็บข้อมูลในส่วนนี้ แต่เชื่อว่าแนวโน้มการบริโภคที่ลดลงจะเอื้อต่อการลดจำนวนผู้ป่วยด้วย ปัจจุบัน เด็กในสหรัฐฯ บริโภคน้ำตาลคิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ ของแคลอรี่ทั้งหมดที่ร่างกายได้รับ ขณะที่ปริมาณที่เหมาะสมอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งครึ่งหนึ่งของน้ำตาลเหล่านั้นมาจากเครื่องดื่มที่เลือกบริโภค