ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมในจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มซบเซา หลังชนชั้นกลางชาวจีนชะลอการใช้จ่ายอันเป็นผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้าและสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มถดถอย
สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียนรีวิวรายงานว่า ในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา บรรดาบริษัทสินค้าแบรนด์เนมหรือสินค้ากลุ่มลักชัวรีจากหลายประเทศทั่วโลกต่างตั้งความหวังไว้กับยอดขายในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งนอกจากจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกแล้ว จีนยังเป็นตลาดสินค้าแบรนด์เนมที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในขณะนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป ด้วยยอดขายสินค้าหรูในกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่เริ่มชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชนชั้นกลาง
นิกเกอิเอเชียนรีวิวยกตัวอย่างกรณีศึกษาของสตรีชาวจีนที่ชื่อว่านางเคลลี ไช่ เธอประกอบอาชีพเป็นพนักงานของบริษัทใหญ่ด้านเทคโนโลยีในกรุงปักกิ่งของจีน เธอเล่าว่าหลายปีก่อนหน้านี้ เธอมักจะใช้เงินไปกับการซื้อสินค้าแบรนด์เนมที่ไม่ได้มีราคาสูงมากอย่าง หลุยส์ วิตตอง อยู่เป็นประจำ แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มเปลี่ยนไป พฤติกรรมการใช้จ่ายของไช่ก็เริ่มเปลี่ยนตาม
ไช่เล่าว่า เธอไม่ได้ซื้อสินค้าแบรนด์หรูมาสักพักใหญ่ ๆ ได้แล้ว ไม่แม้กระทั่งจะซื้อกระเป๋าถือแบรนด์ล่างลงมาอย่าง Coach ที่กระเป๋าถือราคาคาเพียงแค่หมื่นบาทต้น ๆ เท่านั้น เพราะเธอรู้สึกว่าสิ่งของเหล่านี้มันไม่ได้จำเป็นกับเธออีกต่อไป และเธอก็มีสินค้าพวกนี้อยู่แล้ว ประกอบกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในครอบครัวที่เธอต้องรับผิดชอบ การชอปปิงสินค้าแบรนด์เนมสำหรับเธอจึงกลายเป็นสิ่งที่เริ่มไกลตัวออกไปทุกที แม้ว่ามันจะเคยเป็นสิ่งที่เธอทำเป็นประจำก็ตาม
ไช่มีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 76,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ในปัจจุบันของเธอตกไปอยู่ที่การผ่อนชำระค่าอพาร์ตเมนต์ ซึ่งถือว่าอยู่ในทำเลที่ตั้งที่ดี ใกล้กับโรงเรียนที่มีคุณภาพ แม้จะมีราคาแพง แต่ก็แลกกับการที่ลูกชายของเธอจะสามารถเข้าไปเรียนในโรงเรียนนี้ได้ ซึ่งนี่ยังไม่รวมถึงค่าเล่าเรียนที่เธอต้องรับผิดชอบ ค่ากิจกรรมต่าง ๆ และค่าเรียนพิเศษของลูกอีกด้วย
สถานการณ์เช่นนี้เริ่มเห็นได้มากขึ้นในครอบครัวชาวจีนชนชั้นกลาง ไม่ว่าจะเป็นการมีรายจ่ายที่มากขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น แม้จะมีเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่การใช้ชีวิตของชนชั้นกลางชาวจีนในเมืองใหญ่ก็ยังไม่สามารถเงยหน้าอ้าปากได้เช่นสมัยก่อน นักเศรษฐศาสตร์จึงมองว่า พฤติกรรมการลดการซื้อสินค้าแบรนด์เนมในจีนคือตัวชี้วัดสำคัญเบื้องต้นที่ทางการจีนจะต้องเร่งจัดการในภาพรวมให้เร็วที่สุด
ฮ่องกงซึ่งถือว่าเป็นสวรรค์แห่งหนึ่งของนักชอปชาวจีนที่มักจะเดินทางเข้ามาเพื่อเลือกซื้อสินค้าหรูแบบปลอดภาษี ก็ยังไม่วายได้รับผลกระทบจากความซบเซาของเศรษฐกิจจีนตามไปด้วย โดยล่าสุดมีการรายงานตัวเลขจากสำนักงานสถิติของจีนออกมาว่า ยอดขายสินค้าลักชัวรีอย่างเครื่องประดับ นาฬิกา และของขวัญราคาแพง ในเดือนกันยายน 2018 โตเพียง 2.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และน้อยลงกว่าในเดือนสิงหาคมของปีนี้อย่างน่าตกใจ เนื่องจากยอดขายเดือนสิงหาคมนั้นโตอยู่ที่ 20.8 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ด้านลูคา ซัลคา นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าแบรนด์เนมจากบริษัท Exane BNP Paribas ให้สัมภาษณ์ทางอีเมล์กับสำนักข่าวนิกเกอิเอเชียนรีวิวว่า เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าความมั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจของชาวจีนเริ่มถดถอย และถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป บวกกับสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ไม่มีทีท่าจะดีขึ้นในเร็ววัน ปริมาณการซื้อสินค้าแบรนด์เนมของลูกค้าชาวจีนก็จะลดลงมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน
LVMH บริษัทแม่ของแบรนด์ระดับโลกอย่างหลุยส์ วิตตอง เปิดเผยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า ยอดขายของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง ประจำเดือนตุลาคม 2018 ลดลงอย่างน่าตกใจ จากหลักสิบปลาย ๆ มาอยู่เพียงหลักสิบต้น ๆ แต่ทางบริษัทไม่มีการระบุตัวเลขที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม จำนวนเปอร์เซ็นต์ที่ลดลงเมื่อเทียบกับจำนวนลูกค้าชาวจีนถือเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้กับทางบริษัทไม่ใช่น้อย
นิกเกอิเอเชียนรีวิวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจถึงสาเหตุของการชะลอตัวในการซื้อสินค้าแบรนด์เนมของชาวจีนว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาชาวจีนคือลูกค้ากลุ่มใหญ่ของสินค้าประเภทนี้ แต่อุตสาหกรรมสินค้าลักชัวรีต้องสะดุดเมื่อนายสีจิ้นผิง ประธานาธิบของจีนได้ประกาศสงครามกับการคอร์รัปชันในประเทศเมื่อปี 2012 ส่งผลกระทบโดยตรงกับยอดขายสินค้าหรู
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นในปี 2016 ยอดขายของสินค้าแบรนด์เนมเริ่มฟื้นตัวกลับมา โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นในช่วงท้ายปี 2017 อีกราว 20 เปอร์เซ็นต์แตะมูลค่า 20,400 ล้านดอลลาร์ หรือราว 670,000 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นไม่นานอุตสาหกรรมแบรนด์หรูต้องสะดุดอีกครั้ง เมื่อยอดขายสินค้าที่มีราคาแพงกว่าหลายเท่าอย่างรถยนต์นั้นได้ลดลงเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ยอดขายอุตสาหกรรมยานยนต์จีนลดลงมากที่สุดในรอบ 5 ปี ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น ตลาดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และการจับจ่ายของผู้มีความมั่งคั่งในจีนก็เริ่มเลวร้ายลง เป็นผลให้วงการสินค้าแบรนด์เนมซึ่งเป็นสินค้าปลายแถวได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ