รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2563
นักวิเคราะห์ Talking Thailand มองท่าทีพรรคการเมือง พรรคใหม่ของบรรดา “หัวกะทิ” คนไทยรักไทย ที่เริ่มพูดคุย และผุดแนวคิด “ใบตองแห้ง” ชี้ ไม่ได้วางแนวเป็น “ฝาแฝดเพื่อไทย” และพรรคใหม่ต้อง “ไม่อิงทักษิณ” หรือ “ผลงานไทยรักไทย” แต่ควรสะท้อนแนวทางใหม่ ให้เป็นทางออกประเทศ “คำผกา” เชื่อพรรคใหม่จะยังยึดหลักการประชาธิปไตย
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวเรื่องการตั้งพรรคการเมืองใหม่ว่า อดีตแกนนำและผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ประกอบด้วย นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และนายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ร่วมกันจัดตั้ง กลุ่มแคร์ CARE หรือ Continue Ability Renew Efficiency โดยเชิญบุคคลสำคัญ เข้าร่วมอีกประมาณ 30-40 คน อาทิ ดร.โกร่ง นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายดวงฤทธิ์ บุนนาค นายอนุสรณ์ ธรรมใจ นายโชติชัย เจริญงาม นายศุภวุฒิ สายเชื้อ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาของประเทศ รวมทั้งพูดคุยและเสนอแนะเพื่อทางออก
ขณะนี้เตรียมจัดตั้งเป็น เพจ “แคร์” เพื่อสื่อสารกับประชาชนผ่านทางโซเชียลมีเดีย คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ โดยบุคคลที่ตอบรับจะมาร่วมพูดคุยปัญหาและร่วมกันหาทางออก เพราะทุกฝ่ายห่วงใยเห็นตรงกันว่าประเทศถึงทางตันแล้ว และเมื่อทุกฝ่ายมีจุดร่วมที่ตรงกัน ก็อาจจะนำไปสู่การตั้งพรรคการเมืองใหม่ต่อไป
ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม กล่าวว่า มีผู้ใหญ่ที่สนิทกัน โทรมาเล่าให้ฟังสั้นๆ เกี่ยวกับแนวคิดกลุ่ม CARE หนึ่งครั้งครับ ผมไม่ทราบรายละเอียดมากนัก เข้าใจว่า จะช่วยกันระดมความคิดว่าหลังโควิด ประเทศไทยจะไปทางไหนดี
แต่ปัจจุบัน ผมพยายามลงไปดูปัญหาของชุมชนและช่วยชุมชนที่เดือดร้อนจากโควิด ตามกำลังที่มีครับ ไม่ได้คิดจะไปตั้งหรือรวมกลุ่มทางการเมืองใดๆครับ และจากประสบการณ์ที่ได้ลงพื้นที่ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ยินดีจะให้ความเห็น ความคิดต่างๆกับทุกกลุ่ม ถ้าจะเป็นประโยชน์กับประชาชน ผมคิดว่าตอนนี้เราต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เท่าที่เราทำได้
ด้านนายภูมิธรรม กล่าวว่าตอนนี้ยังไม่มีชื่อกลุ่ม หรือรวมตัวกันตั้งกลุ่มอย่างที่เป็นข่าว รวมถึงการรวมตัวกันตั้งพรรคก็ยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่เคยได้รวมตัวกัน หรือประชุมร่วมกัน แต่มีการพูดคุยกันของกลุ่มคนบางคนที่มองเห็นปัญหาของบ้านเมือง รัฐบาลยังฟังเสียงประชาชนน้อย และไม่มีศักยภาพในการจัดการปัญหา ทำให้ประเทศเผชิญกับวิกฤติทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมอันเนื่องมาจากคนจะตกงานอีกมากในอนาคต
ทุกคนที่ได้พูดคุยกันต่างก็มองเห็นปัญหา ถ้าตราบใดที่กฎกติกายังเป็นอย่างนี้ รัฐบาลยังเป็นแบบนี้ มีวิธีคิด และจัดการปัญหาแบบนี้ ดูไม่มีอนาคต เราจึงชวนกันหาทางออก และหาทางแก้ไขปัญหาให้กับบ้านเมือง ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกันเป็นส่วนๆ ตามงาน หรือวาระโอกาสที่ได้มาพบปะกัน แต่ยังไม่ได้มีการตั้งพรรคอะไร แต่ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ
เมื่อถามย้ำว่า ก็แปลว่า มีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่การตั้งเป็นพรรคการเมืองได้ใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ถ้าเขาได้มาเจอกัน แล้วสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะมีการรวมกลุ่มขึ้นมาได้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ในยามที่ประเทศมีวิกฤติ เพราะโดยธรรมชาติของทุกคนคือต้องดิ้นรนหาทางออก
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ชี้แจงว่า หลังจากการเลือกตั้ง ไม่ได้กลับไปพรรคเพื่อไทย และได้ใช้เวลาทั้งหมด ในฐานะนักการเมืองที่ไม่มีสังกัดพรรค ในการพูดคุยกับนักการเมือง นักธุรกิจ อดีตข้าราชการ รวมถึงคนรุ่นใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาบ้านเมือง ปรับความคิด ซึ่งบางทีก็ใช้ความรู้เหล่านี้ ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเรื่อยมา จนกระทั่ง มีความเห็นร่วมกันว่าจะต้องตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาอีก เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนแนวทางหลักๆของพรรคที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคต ก็ยังคงอยู่บนแนวทางหลัก คือแนวทางประชาธิปไตย พัฒนาบ้านเมือง แก้ปัญหาเศรษฐกิจด้านต่างๆ อาศัยบุคคลและประสบการณ์ต่างๆจากในอดีต ประสานกับคนรุ่นใหม่เพื่อนำมาต่อยอดเป็นนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในอนาคต
และยืนยันว่า พรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นในอนาคต ไม่ใช่พรรคสาขาของพรรคเพื่อไทย เป็นอิสระจากพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองอื่น ไม่ใช่ไทยรักษาชาติ 2 ไม่ใช่พรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้เพื่อไทย อันเนื่องด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ใช่การรวมกันของกลุ่มคนเดือนตุลา ไม่ใช่การรียูเนียน แต่จะเป็นรวมคนที่หลากหลาย ที่จะร่วมกันสร้างพรรคการเมืองเพื่อประชาชน
ส่วนเรื่องการพูดคุย เพื่อร่วมงานหรือตั้งพรรคกับ นพ.สุรพงษ์ นพ.พรหมินทร์ หรือ นายภูมิธรรม ตามที่มีกระแสข่าวหรือไม่ นายจาตรุนต์กล่าวว่า เป็นเพื่อนกับทั้ง 3 มานาน เคยร่วมงานการเมืองด้วยกันมาหลายสิบปี แต่ไม่ได้พูดคุยเพื่อจะตั้งพรรคการเมืองร่วมกัน เราเป็นอิสระต่อกัน แต่ยังเดินบนวิถีทางประชาธิปไตยร่วมกัน ซึ่งถ้าหากในอนาคต หากจะมีโอกาสร่วมงานทางการเมืองกัน ก็มีความเป็นไปได้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับการร่วมงานกับทุกพรรค และทุกกลุ่มการเมือง ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน
สำหรับกรณีก่อนหน้านี้ ที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน ที่ออกมายอมรับในกรณีการพูดคุยเพื่อตั้งพรรคการเมือง นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ก็มีการพูดคุย พบปะ กันเป็นประจำปกติ ในเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง เช่นเดียวกับคนอื่นๆ แต่ไม่ได้คุยถึงเรื่องแผนการทำพรรคการเมืองที่ชัดเจน