ไม่พบผลการค้นหา
ประมวลและวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 66 ชัยชนะของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และความพ่ายแพ้ของพรรคการเมืองฝ่ายขั้วรัฐบาลเดิม

การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งคิดเป็น 75.22% ซึ่งเป็นสถิติที่มากที่สุดตั้งแต่ กกต. จัดการเลือกตั้งมา สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนและทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายมากยิ่งขึ้น ประชาชนพร้อมใจกันออกมาขับไล่รัฐบาลเผด็จการและทวงคืนอำนาจของประชาชน การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนและความหวังของคนไทยและประเทศไทย ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง 1  สิทธิ 1 เสียง ก็สามารถกำหนดอนาคตและทิศทางของประเทศไทย และเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งประเทศได้   

เมื่อเปรียบเทียบผลคะแนนการเลือกตั้งปี 62 กับปี 66 แล้ว จะเห็นได้ว่าในทั้งสองการเลือกตั้ง พรรคที่ได้คะแนนมากที่สุด 5  อันดับแรกยังเป็นพรรคการเมืองกลุ่มเดิม ได้แก่ พรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล  (เดิมคือพรรคอนาคตใหม่),  พรรคภูมิใจไทย,  พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาอย่าง พรรคพลังประชารัฐในปี 62 และพรรครวมไทยสร้างชาติในปี 66 

อย่างไรก็ตาม จำนวนคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างชัดเจน ในการเลือกตั้งปี 62 พรรคพลังประชารัฐอ้างว่าได้ รับคะแนนมหาชน (ป๊อปปูล่าร์โหวต) มากที่สุด โดยได้ไป 8,433,137 เสียง ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทยเป็นอันดับ 2  ได้ไป  7,920,630  เสียง อันดับ  3  คือ พรรคอนาคตใหม่ ได้ไป  6,265,950  เสียง อันดับที่  4  คือ ประชาธิปัตย์ 3,959,358 เสียง และ อันดับ 5 ภูมิใจไทย 3,734,459 เสียง 

ในขณะที่การเลือกตั้งปี 66 พรรคก้าวไกลซึ่งแต่เดิมคือพรรคอนาคตใหม่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นพรรคอันดับหนึ่งที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุด โดยได้ไปมากถึง 14,438,851 เสียง ซึ่งมากกว่าเดิมประมาณ 8 ล้านเสียง ส่วนพรรคอันดับ 2 ยังคงเป็นพรรคเพื่อไทยเช่นเดิม ได้ไป 10,962,522 เสียง ซึ่งได้มากขึ้นประมาณ 3 ล้านเสียง อันดับ 3 คือพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ไป 4,766,408 เสียง ซึ่งได้น้อยลงประมาณ   3.6 ล้านเสียง อันดับ 4 คือพรรคภูมิใจไทย 1,118,870 เสียง ได้น้อยลงประมาณ  2.6  ล้านเสียง และอันดับที่  5  พรรคประชาธิปัตย์  897,689  เสียง ซึ่งได้น้อยลงประมาณ 3  ล้านเสียง คะแนนเสียงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยกำลังได้รับความนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และในทางกลับกันพรรคที่นำโดยอดีตผู้นำรัฐประหารและอดีตพรรคร่วมรัฐบาลกลับได้รับความถดถอย 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจะสามารถกวาดคะแนนเสียงไปอย่างถล่มถลาย ทิ้งห่างพรรคอันดับสามอย่างขาดลอย แต่การที่อดีตพรรคร่วมรัฐบาลยังคงสามารถครองเสียง  3  ใน  5  อันดับของพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด ก็แสดงให้เห็นว่าพรรคการเมืองเหล่านี้และอดีตพรรคร่วมรัฐบาลพรรค อื่นๆ ยังคงได้รับความนิยมอยู่ในหลายพื้นที่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในภาคใต้ที่พรรคประชาธิปัตย์,  ภูมิใจไทย, รวมไทยสร้างชาติ, และพรรคพลังประชารัฐ สามารถชนะ  ส.ส.แบบแบ่งเขตได้ในแทบทุกเขตการเลือกตั้งในเกือบทุกจังหวัด มีเพียงจังหวัดภูเก็ตที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง ส.ส.เขตในทุกเขตเลือกตั้ง และ จังหวัดยะลาที่ พรรคประชาชาติชนะการเลือกตั้ง ส.ส. เขตในทุกเขตเช่นกัน   

รศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาและนักวิชาการการเมืองใต้ได้วิเคราะห์ว่าสาเหตุที่พรรคพลังประชารัฐพ่ายแพ้เสียฐานเสียงในจังหวัดภูเก็ตให้กับพรรคก้าวไกลในครั้งนี้ อาจเป็นเพราะชาวภูเก็ตได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าจากการที่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาการท่องเที่ยวที่ซบเซาจากโควิดได้ ซึ่งเศรษฐกิจของภูเก็ตพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ในขณะที่ก้าวไกลมีนโยบายพรรคที่เน้นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวภูเก็ตจะหันไปเลือกก้าวไกลจนสามารถแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ 

สำหรับพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้ ก็ดูเหมือนว่าคำกล่าวที่ว่า  “คนใต้รักจริง”  จะสามารถใช้ได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะถึงแม้ว่าในภาพรวมคะแนนความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์จะดูเหมือนจะติดลบอย่างหนัก นับตั้งแต่ที่พรรคประชาธิปัตย์โหวตรับรองพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 62  แต่การที่พรรคประชาธิปัตย์ยังคงสามารถชนะการเลือกตั้ง ส.ส. เขตได้ในหลายเขตในพื้นที่ภาคใต้ ก็ชี้ให้เห็นว่าการสร้างแบรนด์ว่าเป็น  ‘พรรคของคนใต้’, ‘ผู้นำทางจิตวิญญาณของคนใต้’  และ สโลแกนของพรรคที่ว่า ‘พรรคของเรา คนของเรา พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค’ ที่พยายามแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของพรรคและความเป็นคนใต้ จนนำมาซึ่งการผูกขาดความนิยมและความผูกพันของคนใต้ที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์นั้นยังคงได้ผลอยู่ 

รศ.ดร.บูฆอรี ยังได้อธิบายถึงการสร้างแบรนด์และพยายามขายพรรคว่าเป็นพรรคของคนใต้ของพรรคประชาธิปัตย์เอาไว้ว่า มันเริ่มจากการที่พรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับรัฐบาลของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งได้รับขนานนามว่าเป็น ‘นายกรัฐมนตรีคนใต้’ และ ‘รัฐบุรุษ’ จึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับอานิสงส์ความนิยมในพื้นที่ภาคใต้ ต่อมาเมื่อ ชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายกรัฐมนตรีคนที่20 ของประเทศไทย จึงเหมือนเป็นการผูกขาดความนิยมและความผูกผันของประชาชนในภาคใต้ที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ จนพรรคเชื่อว่า ‘ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ’ ดังจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ในปี2548 ที่พรรคไทยรัก ไทยได้รับความนิยมถึงขีดสุด และกวาดชัยชนะในภาคอื่นๆอย่างถล่มถลายจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ แต่ในภาคใต้ ประชาชนก็ยังคงนิยมพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดิม ในยุคถัดๆมา พรรคประชาธิปัตย์ยังคงมีหัวหน้าพรรคอย่าง บัญญัติ บรรทัดฐาน หรือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, อดีตเลขาธิการพรรคอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ และกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆที่เป็นคนใต้มาตลอด

แต่ชัยชนะของ ส.ส. เขตพรรครวมไทยสร้างชาติในทุกเขตของจังหวัดชุมพรและเกือบทุกเขตในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และพรรคภูมิใจไทยในทุกเขตของจังหวัดกระบี่ก็แสดงให้เห็นอีกด้านว่า ตอนนี้กำลังมีพรรคอื่นๆ เริ่มเข้ามาทลายการผูกขาดความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์กับคนใต้แล้ว และประชาชนก็เริ่มที่จะหันไปเทความสนใจในพรรคอื่นแทนที่ประชาธิปัตย์ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะความนิยมในตัวพล เอกประยุทธ์, นโยบายบัตรสวัสดิการ (บัตรคนจน) หรือเพราะความไม่ชัดเจนในจุดยืนเรื่อง  ‘เอาลุงหรือไม่เอาลุง’  ของพรรคประชาธิปัตย์เอง นอกจากนี้การที่พรรคประชาธิปัตย์เสียฐานที่มั่นอย่างจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และกระบี่ ก็อาจจะนำมาซึ่งคำถามว่า ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์กำลังเข้าสู่ช่วงตกต่ำใช่หรือไม่ และหากไม่สามารถรักษาฐานเสียงและการผูกขาดความนิยมในภาคใต้ต่อไปได้ พรรคประชาธิ ปัตย์จะถึงคราว ‘สูญพันธ์ุ’ หรือไม่ 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าในหลายเขตในภาคใต้ ยกเว้นจังหวัดภูเก็ต จะเป็นพรรคภูมิใจไทย,  ประชาธิปัตย์,  รวมไทยสร้างชาติ,  พลังประชารัฐ ที่ชนะ ส.ส.เขต แต่ผลการเลือกตั้ง ส.ส แบบบัญชีรายชื่อกลับมีเพียงพรรครวมไทยสร้างชาติเท่านั้นที่สามารถครองอันดับหนึ่งการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ในเขตที่ตนชนะการเลือกตั้ง ส.ส. เขตด้วย และในเขตที่พรรครวมไทยสร้างชาติไม่สามารถครองอันดับหนึ่งได้นั้น จะเป็นพรรคก้าว ไกลเท่านั้นที่สามารถคว้าอันดับหนึ่งไปได้ ดังนั้น แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะชนะ ส.ส. เขตได้เพียงแค่ในจังหวัดภูเก็ต แต่ก้าวไกลก็สามารถครองอันดับหนึ่งหรือสอง  (top  2)  ในการเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อทุกเขตทั่วภาคใต้ แสดงให้เห็นว่าภาคใต้ก็ได้เข้าร่วมในกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงและเทความนิยมสนใจให้ตัว ‘พรรค’  ก้าวไกลไปไม่น้อย อีกทั้งยังมีคะแนนเสียงที่แตกจากการแยกตัวของสองพี่น้องประยุทธ์ และประวิตร์ เป็น 2 พรรคใหญ่ด้วยเช่นกัน เพียงแต่การที่ก้าวไกลยังไม่สามารถชนะการเลือกตั้ง ส.ส. เขตได้ในหลายพื้นที่นั้น อาจเป็นเพราะการยึดติดใน      ‘ตัวบุคคล’  หรือ  ‘นามสกุล’  ความเป็นบ้านใหญ่ยังคงมีผลต่อการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส. เขตครั้งนี้ เช่น บ้านใหญ่ธรรมเพชร บ้านใหญ่จุลใส บ้านใหญ่วิชัยกุล บ้านใหญ่ขาวทอง บ้าน ใหญ่บุญญามณี เป็นต้น หรืออาจจะเป็นเพราะ  ‘การซื้อเสียง’ ของพรรคใหญ่อดีตพรรคร่วมรัฐบาล  ที่มักจะมีผู้ออกมาแฉหรือร้องเรียนอยู่เสมอตลอดระยะช่วงการหาเสียง โดยเฉพาะในคืนหมาหอน อาทิเช่น คลิปสัมภาษณ์หัวคะแนนสงขลาเขต 2 ที่ได้ออกมาโวยว่าผู้สมัครส.ส.เขตพรรคภูมิใจไทยได้ให้ชาวบ้านล่ารายชื่อเพื่อเลือกตน โดยจะให้หัวละ 1000 บาท แต่เมื่อได้รายชื่อไปแล้วและชาวบ้านก็กาให้แล้วนั้น ชาวบ้านกลับไม่ได้รับเงินตามที่ตกลงกันไว้ 

เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในพื้นที่ภาคใต้ที่เดียวเท่านั้น แต่ในพื้นที่อื่นๆ เองก็จะพบว่า หากพรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะการเลือกตั้ง ส.ส.เขต ก็มักจะได้คะแนนเสียงส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นอันดับหนึ่งด้วยเสมอ เช่น ทุกเขตในกรุงเทพ สมุทรปราการ สมุครสงคราม สมุทรสาคร ระยอง จันทบุรี ตราด นนทบุรี แสดงให้เห็นถึงการลงคะแนนเสียงที่ดูไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่พรรคเพื่อไทย ในพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ได้รับชัยชนะในการ เลือกตั้ง ส.ส.เขต ก็จะได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งในการเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อด้วยเช่นกัน มีเพียงบางเขตเท่านั้นที่เป็นรองพรรคก้าวไกล เช่น อุตรดิตถ์ แพร่ สุโขทัย น่าน แต่ในทางกลับกัน หากเป็นพรรคอดีตพรรคร่วมรัฐบาลที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งส.ส.เขต พรรคเหล่านั้นมักจะไม่ได้รับคะแนนเสียงอันดับหนึ่งในการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่จะเป็นพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทยที่ได้รับคะแนนเสียงอันดับหนึ่งไปแทน เช่น สุพรรณบุรี ราชบุรี แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร อุทัยธานี อำนาจเจริญ อ่างทอง 

พรรคเพื่อไทยยังคงได้รับชัยชนะที่ล้นหลามในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน จนสามารถกวาด ส.ส.เขตไปกว่า 112 ที่นั่ง อีกทั้งยังแลนด์สไลด์ในหลายพื้นที่ อาทิเช่น น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย หนองบัวลำภู แต่ในขณะเดียวกันก็เสียฐานที่มั่นอย่างเชียงใหม่และลำปางให้แก่ก้าวไกลเช่นกัน 

สาเหตุที่ก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นจากทั้งประเทศในการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นเพราะประชาชนเริ่มเบื่อการเมืองแบบเดิม จนเกิดแนวคิดที่ว่า  ‘ถ้าเลือกแบบเดิม ก็จะได้แบบเดิม’  ประชาชน ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดยืนที่ชัดเจน,  นโยบายที่มีการปฏิรูปการเมืองและสังคม,  การดีเบตที่แสดงแนวคิดของพรรค และเวทีปราศรัยที่เข้าถึงผู้คน คือส่วนสำคัญในการสร้างหัวคะแนนธรรมชาติให้กับก้าวไกล การที่ก้าวไกลสามารถครองชัยชนะการเลือกตั้งส.ส.เขตได้ในหลายพื้นที่ จนเรียกได้ว่าเป็นการ ‘แลนด์สไลด์’ สามารถปักธงใหม่ล้มบ้านใหญ่ในหลายๆพื้นที่ อาทิเช่น  ‘อยู่บำรุง’ ในกรุงเทพเขต  28  ,  ‘อัศวเหม’  ในสมุทรปราการ, หรือ ‘ปิตุเตชะ’ ในระยองได้ และได้รับคะแนนเสียง ส.ส.บัญชีรายชื่อได้เป็นอันดับหนึ่ง แสดงให้เห็นว่ากระแสก้าวไกลฟีเวอร์ หรือที่หลายๆคนขนานนามว่า  ‘ด้อมส้ม’  นั้น ถูกจุดติดแล้ว และไม่ได้เป็นเพียงกระแสบนโลกโซเชียลอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันถูกแปลงไปเป็นอาวุธจริงที่พาก้าวไกลไปสู่การเป็นพรรคอันดับหนึ่งได้ในครั้งนี้

การเลือกตั้งในครั้งนี้สะท้อนความนิยมในตัวพรรคการเมืองที่แบ่งออกเป็น  2  ขั้วอย่างชัดเจน ระหว่างกลุ่มพรรคที่เอาลุงหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยม และกลุ่มพรรคไม่เอาลุงหรือฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย และดูเหมือนว่า ชัยชนะครั้งนี้จะตกเป็นของฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย เพราะคะแนนเสียงของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เพียงแค่ 2 พรรครวมกันก็ได้เกิน 60% ของคะแนนเสียงทั้งหมดแล้ว

เรียบเรียงโดย พรกฤษณะ ประชุมวรรณ์, ศุภิสรา รัตน์สุรีย์