ไม่พบผลการค้นหา
พรรคเป็นธรรม เปิด 6 นโยบายด้านแรงงาน เนื่องในวันแรงงาน 1 พฤษภาคม 2566 นำหลักการความมั่นคงมนุษย์มาแทนที่ความมั่นคง นำแรงงานไทยสู่สากล ให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ , ผู้ลี้ภัยและผู้ไร้สัญชาติ, Sex Worker

กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ออกคำแถงพรรคเป็นธรรม เนื่องในวันแรงงาน โดยระบุว่า วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี คือ วันกรรมกรสากล ที่หลายคนคงคิดเพียงแค่การฉลองให้กับหยาดเหงื่อของ “ผู้ใช้แรงงาน” และ “คนที่ทำงาน” โดยทั่วไปที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคม 

หากแต่สิ่งสำคัญของการระลึกถึงวันกรรมกรสากลนี้ ควรมองถึงการต่อสู้ในการได้มาของหลัก “วันทำงาน 8 ชั่วโมง” หรือ “Eight-hour day” ที่กลุ่มพี่น้องผู้ทำงานต่อสู้กับนายจ้างที่ริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ โดยให้แรงงานทำงานอย่างยาวนานและไม่คำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชนใดๆ 

การต่อสู้ดังกล่าวสะท้อนถึงการเรียกร้องสิทธิที่จำเป็นต่างๆ รวมถึง เสรีภาพในการแสดงออกของพี่น้องแรงงานที่ถูกกดขี่อย่างไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง

ในปี 2566 นี้ พรรคเป็นธรรมได้เล็งเห็นความสำคัญที่ประเทศไทยต้องเร่งมีแนวทาง หลักการ และกฎหมายที่เกี่ยข้องกับแรงงานในประเทศ โดยพิจารณาการนำกระบวนการที่อยู่บนฐานทางด้านสิทธิ (rights-based approach) มาเป็นหลักการสำคัญของการสร้างแนวทาง หลักการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

ทั้งนี้ การปรับใช้และบังคับใช้แนวทาง หลักการ และกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจำเป็นต้องมองก้าวข้ามปัญหา เรื่อง “สัญชาติ” และ “สถานะ” ของแรงงานในประเทศ เนื่องจากแรงงานทั้งหลายได้สร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมทั้ง การเคลื่อนตัวทางเศรษฐกิจและสังคม และลดการว่างงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง 

พรรคเป็นธรรมจึงเสนอรายละเอียดนโยบายด้านแรงงานของพรรค 6 ข้อ ซึ่งจะเป็นการทำให้ไทยเป็นสากล หากไทยทำได้ทั้ง 6 ข้อนี้ ไทยจะก้าวข้ามผ่านกำแพงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนกับแรงงาน และไทยจะสามารถยืนแนวหน้าของการเป็นผู้นำด้านการดูแลและให้ความคุ้มครองแรงงานในเวทีโลกต่อไปได้

นโยบายด้านแรงงานพรรคเป็นธรรม

1. นำหลักการความมั่นคงมนุษย์มาแทนที่ความมั่นคงกระแสเก่าเมื่อพิจารณาเรื่องแนวทาง หลักการ และกฎหมายด้านแรงงาน

2. นำไทยสู่สากลด้านแรงงาน ด้วยการเข้าร่วมเป็นภาคีและให้สัตยาบันกับกรอบกฎหมาย/ข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและการเคารพสิทธิแรงงาน ดังนี้

- อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัว

- อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง 

- อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา 

- อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการคุกคามในโลกแห่งการทำงาน และ 

- อนุสัญญาระหว่างประเทศเรื่องแรงงานข้ามชาติ และสมาชิกในครอบครัว ค.ศ. 2007

3. ปรับปรุงกฎหมายไทยที่มีอยู่ด้านแรงงาน หรือ หากมีความจำเป็นที่มีข้อทับซ้อนของกฎหมายที่มีอยู่ สมควรอนุวัตรกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับกรอบและกฎกติการระหว่างประเทศด้านแรงงาน

4. ยกระดับคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันสังคม และคณะกรรมการประกันสังคม โดยใช้หลักการไม่เอนเอียงและความเป็นกลาง

5. ยกระดับและขยายการคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุมทุกการทำงานและอาชีพ อาทิ แรงงานบริการทางเพศ (sex worker) แรงงานทำงานในบ้าน และแรงงานแพลตฟอร์ม

6. ขยายการคุ้มครองแรงงานแบบครอบคลุม โดยก้าวข้าม เรื่องสัญชาติและสถานะบุคคลของแรงงานในไทย (ผู้ลี้ภัยและบุคคลไร้สัญชาติ) โดยจดทะเบียนแรงงาน เพื่อรับรองสถานะและนำเข้าระบบแรงงานอย่างถูกต้อง

กัณวีร์ สืบแสง