ท่ามกลางความน่ายินดี และดราม่าร้อนๆ บนโซเชียลมีเดีย ดวงฤทธิ์เริ่มต้นเล่าย้อนความให้ฟังว่า เมื่อกลางปี 2560 หลังจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (Airports of Thailand : AOT) เรียกประกวดแบบอาคารเทอร์มินัล 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิ และเขาต้องพบกับข้อจำกัดเรื่องค่าแบบค่อนข้างต่ำ แต่ด้วยจังหวะความพร้อมในการทำงานร่วมกับบริษัทนิคเคเซคไค (Nikken Sekkei) จึงกลับมาพิจารณารายละเอียดซ้ำอีกครั้ง ก่อนจะตัดสินใจส่งแบบเข้าประกวดรอบสอง เนื่องจากรอบแรกมีผู้ส่งแบบเพียงแค่เจ้าเดียวเท่านั้น
“ใครทำงานระดับโปรเฟสชั่นนอลแล้วรู้อัตราของแบบต่างๆ คงพอเข้าใจดีว่า โปรเจกต์เทอร์มินัล 2 เป็นไปไม่ได้ที่ทางนิคเคเซคไคประเทศญี่ปุ่นจะเข้ามาออกแบบ” ดวงฤทธิ์กล่าว
แม้หลายเสียงพูดกันหนาหูว่า ภาพอาคารเทอร์มินัล 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิ ออกมาดูอบอุ่นอารมณ์ญี่ปุ่น ทว่าดวงฤทธิ์ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า เป็นผลงานการออกแบบของเขาเอง ซึ่งใช้เวลาทำงานอยู่นาน 2 เดือนเต็ม อย่างไรก็ตาม ทางนิคเคเซคไคประเทศญี่ปุ่นยังคงทำหน้าที่ดูแลระบบสนามบิน เพื่อสร้างความมั่นให้ใจว่า หลักการออกแบบสอดคล้องกับมาตรฐานสนามบินระดับสากล
ส่วนประเด็นรูปแบบสถาปัตยกรรมดวงฤทธิ์เน้นย้ำว่า ความจริงฟังก์ชั่นของสนามบินเป็นสิ่งสำคัญมากสุด ทุกคนควรสนใจในเรื่องนั้น ส่วนการออกแบบด้วยวิธีซ้อนไม้ และการสอดประสานธรรมชาติ ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ส่วนตัวเขาหลงใหลกับมันมานานแล้ว
“หากคนคุ้นเคยผลงานของผมคงทราบว่า ผมหมกมุ่นอยู่กับองค์ประกอบไม้ซ้อนๆ อยู่แล้ว ทั้งที่เดอะนาคาจังหวัดภูเก็ต หรือโรงแรมในศรีลังกา ผมก็ทำมาแล้วหลายโปรเจกต์ ไม่ใช่เพิ่งทำ ดังนั้น แง่ของการสืบค้นมันจะเห็นรากความคิดอยู่แล้ว ส่วนการบอกว่าเหมือนของญี่ปุ่น จริงๆ แล้วมันก็อาจเป็นไปได้ แต่มันไม่ได้มาจากตรงนั้นแน่นอน
“จากประสบการณ์ทำงานผมทราบอยู่แล้วว่า คงเกิดเรื่องไม่ว่าจะชนะ หรือแพ้ แต่ผมเคารพความคิดเห็นของทุกคน ทั้งคนที่ชอบ – ไม่ชอบ คอมเมนท์ต่างๆ ต้องเปิดใจรับฟัง ยอมรับ แต่ไม่มีความจำเป็นต้องแก้ต่าง เพราะผมทราบที่มาที่ไปชัดเจน ไม่ได้ลอกใครแน่ๆ” ดวงฤทธิ์อธิบาย
แม้จะทำงานอยู่แวดวงสถาปัตกยรรมมานานกว่า 30 ปี คว้ารองวัลระดับโลกมาแล้วมากมาย แต่ดวงฤทธิ์เสริมด้วยว่า สำหรับการออกแบบอาคารเทอร์มินัล 2 การทำความเข้าใจระบบสนามบินเป็นสิ่งยากสุด และมันทำให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากมาย
“เรื่องการวางผังการเข้าออกสนามบิน ทั้งระบบการเดินทางขาเข้า – ออก ผมใช้ประสบการณ์จากการเดินทางมาใช้ และส่วนของคอมเมอร์เชียลทั้งหมด ผมนำประสบการณ์จากการช่วยออกแบบช้อปปิ้งมอลล์เอ็มควอเทียร์มาปรับ แต่มันมีสิ่งใหม่ๆ ต้องเรียนรู้หลายอย่าง เช่น ระบบเกต ระบบเครื่องบิน อย่างหลักการออกแบบสวิงเกต ซึ่งสามารถปรับใช้ให้เหมาะกับการรองรับทั้งผู้โดยสารทั้งภายประเทศ และระหว่างประเทศ รวมถึงระบบจอดเครื่องบินหลายขนาดในเกตเดียว ซึ่งช่วยทำให้ลักษณะกายภาพของสนามบินรองรับผู้โดยสารได้ดีขึ้น”
ที่ผ่านมา สนามบินของไทยล้วนเป็นผลงานสถาปนิกต่างชาติ สถาปนิกไทยไม่เคยออกแบบสนามบินขนาดใหญ่กว่า 3 แสนตาราเมตรมาก่อน โปรเจกต์อาคารเทอร์มินัล 2 ที่ทุกคนเฝ้ารอเลยนับเป็นผลงานครั้งแรกของสถาปนิกไทย โดยดวงฤทธิ์ออกแบบด้วยระบบโมดูลาร์ ทำให้การขยายตัว การแก้ไข ปรับปรุง และยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งเป็นหลัการสำคัญของการออกแบบสนามบิน ส่วนเรื่องสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องรอง
“มันเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผม และเป็นคนไทยคนแรกๆ เลยด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องเป็นห่วงนะครับ เพราะทางนิคเคเซคไคเขามาตรฐานสูงมาก ถ้าแบบไม่ดีจริงเขาก็ไม่ยอมให้ผ่านเหมือนกัน และเราทำงานกันเข้มข้นมากในช่วง 2 เดือนที่ออกแบบ” ดวงฤทธิ์กล่าว
นอกจากนั้น ดวงฤทธิ์ยังเผยกับผู้สื่อข่าวตรงๆ ว่าตนเองไม่ได้เก่งเกินกว่าใคร หากดูคะแนนทางเทคนิคผลงานของเขาก็เป็นอันดับ2 แต่การทำงานจริงจะมองเฉพาะการออกแบบอย่างเดียวไม่ได้
“ผมไม่ได้คาดหวังจะชนะด้วยซ้ำ คือรู้อยู่แล้วว่าอันดับ 1 ต้องชนะแน่ แต่ตามข่าวแจ้งว่า เขาเกิดความผิดพลาดเรื่องการยื่นซอง ซึ่งทางผมก็เสียดายแทน แต่หากมองกันอีกมุมหนึ่งว่า เรื่องของการดูแลเอกสารให้ได้ตามมาตรฐาน หรือเป็นไปตามขอกำหนดก็เป็นสิ่งสำคัญ คือถ้าเกิดจะทำงานโครงการใหญ่ระดับชาติ หลายแสนตารางเมตร หากทำเอกสารผิดพลาดคงเกิดความกังวลเกี่ยวกับการทำงานต่อไปในอนาคต”
สำหรับผลงานการออกแบบเทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ ดวงฤทธิ์ต้องการเปิดบนทสนาใหม่เกี่ยวกับความเป็นไทย โดยตัวอาคารโทนสีน้ำตาลอบอุ่นรับแรงบันดาลใจมาจาก ‘ป่าไม้’ สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 30 ล้านคนต่อปี
“ตอนออกแบบผมนึกถึง ‘ป่า’ คือผมต้องการเล่าความเป็นไทยผ่านมุมมองใหม่ๆ เพราะเวลาพูดถึงความเป็นไทย หลายคนมักมององค์ประกอบอย่างเจดีย์ วัด หรือวัง แต่ผมอยากสร้างบทสนทนาใหม่ว่า หากจะเล่าเรื่องความเป็นไทยในอนาคต ควรเป็นเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศของประเทศไทย มันควรเดินหน้าไปทางไหน
“ผมออกแบบให้เวลาเดินเข้าสนามบิน ทุกคนจะได้รับประสบการณ์เหมือนเดินเข้าป่า คือมีแสงลอดตัวลงมาจากกิ่งไม้ และจริงๆ แล้วถ้าใครเห็นตัววิดีโอพรีเซนต์จะทราบว่า นั่นเป็นมุมมองแรกที่ผมต้องการสื่อ”
เมื่อถามถึงก้าวต่อไปของงานออกแบบเทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ ดวงฤทธิ์ทิ้งท้ายให้ฟังว่า ทางบริษัทของต้องทำการออกแบบให้แล้วเสร็จภายใน 300 วัน ต่อด้วยทำการประกวดราคาหาผู้รับเหมา และอาจจะเริ่มก่อสร้างในปลายปี 2562 โดยใช้เวลาก่อสร้าง 30 เดือน สามารถเปิดให้บริการได้เร็วที่สุดในกลางปี 2565