ไม่พบผลการค้นหา
อดีตผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผย ไทยยังไม่มีการนำวิธีรักษาเซลล์ภูมิคุ้มกันมาใช้ทำลายเซลล์มะเร็ง เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนเตรียมการและทดลองในห้องปฏิบัติการเฉพาะ อีกทั้งยังต้องใช้ความรู้ความสามารถจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้วย

นพ. ธีรวุฒิ คูหะเปมะ อดีตผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีที่ในสหรัฐฯ พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายหายขาดด้วยการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด หลังแพทย์ทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกัน หรือ ที-เซลล์ (T-Cell) ในร่างกายผู้ป่วย กลายเป็นเซลล์นักฆ่าที่ออกค้นหาและทำลายเซลล์มะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพว่า ในประเทศไทยยังไม่มีการนำวิธีการรักษานี้มาใช้รักษากับคนจริงๆ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและทดลองในห้องปฏิบัติการ อีกทั้งยังต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านมาควบคุมด้วย

สำหรับวิธีการรักษามะเร็งในปัจจุบัน ยังคงเป็นไปตามขั้นตอนที่แพทย์แนะนำ ซึ่งต่อไปหากการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดได้รับการยอมรับก็อาจเข้าไปเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่แพทย์จะนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ แต่อาจไม่ใช่ทางเลือกแรกของการรักษา

ด้านเพจ Drama-addict โพสต์ข้อความเกี่ยวกับข่าวการรักษามะเร็งในผู้ป่วยว่า ข่าวดังกล่าวเป็นเหมือนความหวังของผู้ป่วยมะเร็งซึ่งในไทยยังไม่มี และที่ต่างประเทศยังอยู่ในขั้นวิจัยเพื่อทำให้ราคาถูกลง สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยทั่วไปได้ ถ้าอยากสนับสนุนการวิจัยด้านนี้ ให้คนไทยได้ใช้งานไวๆ แนะนำให้สอบถามที่ศูนย์วิจัยมะเร็งในไทย เช่น กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง จุฬาฯ



อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


Photo by Ken Treloar on Unsplash