รศ.พิภพ อุดร อดีตคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุถึงกรณีการจัดชุมนุมของกลุ่มมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดผ่านเฟซบุ๊กดังนี้
3 เรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ของธรรมศาสตร์จะไม่ทน
ปฏิกริยาและความเห็นรุนแรงทั้งหลายต่อกิจกรรมธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะมีเหตุที่กระทบกระเทือนความรู้สึกและจิตใจของผู้คนในสังคม แต่การจับจ้องไปที่เหตุการณ์ชุมนุมวันที่ 10 ส.ค. โดยไม่คำนึงถึงบริบทใหญ่ อาจทำให้ภาพที่เห็นนั้น ขาดมิติสำคัญใน 3 ประเด็นหลัก คือ
ห่วงโซ่ของการเปลี่ยนแปลง
1.ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เป็นพียงส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ลูกโซ่ (Chain of Events) – กิจกรรมธรรมศาสตร์จะไม่ทน ไม่ใช่ Isolated Event หมายถึง ไม่ใช่จู่ๆ ก็เกิดขึ้นแบบโดดเดี่ยว เดียวดาย นึกอยากจัดก็ลุกขึ้นมาจัด ในทางตรงกันข้าม กิจกรรมวันที่ 10 ส.ค. เป็นโมเมนตัมที่ต่อเนื่องมาจากการชุมนุมเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นก่อนหน้าอย่างมากมายหลายจุด กระจายไปในหลายพื้นที่ หลายมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่่ในระดับโรงเรียนมัธยม ซึ่งสะท้อนความคุกรุ่นในความคิดของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่รวมพลังกันเพื่อแสวงหาคำตอบ และต้องการการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในประเทศไทย
การชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค.จึงไม่ใช่เหตุการณ์เดี่ยว แต่เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ลูกโซ่ที่มีโมเมนตัมของความเคลื่อนไหวมาก่อนหน้านี้ และที่สำคัญกำลังจะมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องเป็นคลื่นลูกใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามมาอีกมากมาย อย่างน้อยที่คาดหมายกันได้ ก็คือการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 16 ส.ค. ที่กำลังจะมาถึงนี้ ดังนั้นการมุ่งจัดการกับผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมวันที่ 10 ส.ค.ด้วยอารมณ์โกรธเกรี้ยวจึงไม่ช่วยหยุดยั้ง หรือแก้ปัญหาเหตุการณ์ห่วงโซ่ทั้งหลายที่กำลังไหลหลากมาอย่างต่อเนื่องอยู่ในสังคมไทยในขณะนี้
สอบสวนด้วยข้อเท็จจริงก่อนกล่าวหา
2.ไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหา หรือการจับกุมในการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน และการชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. มีความยาวหลายชั่วโมง มีผู้อภิปรายแสดงความคิดเห็นจำนวนมากทั้งนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เนื้อหาและลีลาของการอภิปรายมีทั้งการใช้หลักการเหตุผล ถ้อยคำที่เป็นกลางในการถกเถียงเพื่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันจะนำไปสู่การร่วมคิดและหาคำตอบร่วมกัน แน่นอนที่ปฏิเสธไม่ได้คือเนื้อหาและลีลาการอภิปรายก็ย่อมมีทั้งที่อารมณ์พาไป หรือล้ำเส้นอยู่บ้างในบางช่วงบางตอน บางผู้อภิปราย แต่ก็มิอาจเหมาโหลไปว่าการอภิปรายทุกช่วง ผู้อภิปรายทุกคน และการชุมนุมในวันนั้นเป็นเรื่องการกระทำผิด เป็นสิ่งเลวร้ายที่รับไม่ได้ สังคมที่เข้มแข็งและสุขภาพดีย่อมไม่ตัดสินอะไรแบบง่ายๆ เช่นนั้น
หากแต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าการชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. มีการกระทำผิดใดเกิดขึ้นบ้าง ฐานความผิดคืออะไร ผิดกฎหมาย ระเบียบ หรือวินัยใด เมื่อพบการกระทำความผิดก็สามารถดำเนินการไปตามฐานความผิดในแต่ละราย แต่ละกรณีนั้นๆ ได้ เพราะเข้าใจว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวก็น่าจะมีทั้งตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปร่วมสังเกตการณ์ และรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับการชุมนุม
หากมีการกระทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจนซึ่งหน้าเกิดขึ้นจริง บรรดาตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นย่อมไม่อาจนิ่งเฉยต่อการกระทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจนซึ่งหน้าได้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหา หรือการจับกุมใด ๆ เกิดขึ้นในการชุมนุมดังกล่าว และยังคงไม่มี แม้กระทั่งเวลาผ่านมามากกว่า 2 วันแล้วก็ตาม
ดังนั้นเพื่อให้เกิดการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเหมาะสม โดยใช้เหตุผลบนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน มหาวิทยาลัยควรตั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงขึ้นเพื่อตรวจสอบข้อมูล ว่ามีผู้ใดกระทำความผิดในเรื่องใด และดำเนินการไปตามฐานความผิดนั้นๆ โดยมหาวิทยาลัยก็ย่อมมีหน้าที่ในการประสานงานดูแลนักศึกษา รวมทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการตรวจสอบและการดำเนินการ ในกรณีที่มีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นในการชุมนุมครั้งนี้
เปิดใจรับฟังด้วยการให้เกียรติ
3.การเรียกร้องประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลง เป็นปรากฎการณ์แห่งเจนเนอเรชัน –ความเคลื่อนไหวลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย หากแต่เป็นปรากฏการณ์ร่วมของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งอาจถือว่าเป็นปรากฏการณ์แห่งเจนเนอเรชันใหม่ก็ว่าได้ เพราะคนรุ่นใหม่อยู่กับข้อมูลข่าวสารที่ส่งถึงกันได้อย่างรวดเร็วและทั่วโลก สามารถค้นหาความรู้และสิ่งที่ต้องการรู้ได้ด้วยปลายนิ้วในทุกเวลาที่ต้องการ มีความคิดอ่านเป็นตัวของตัวเอง ปฏิเสธกฎระเบียบข้อบังคับ รวมทั้งประเพณีปฏิบัติที่รับต่อๆ กันมาโดยที่ไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้อย่างน่าศรัทธา เชื่อถือใน role model ที่เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันมากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับอายุหรือประสบการณ์
ดังนั้นการกล่อมเกลาเยาวชนคนรุ่นใหม่จึงไม่อาจใช้วิธีบังคับ การครอบงำความคิด หรือสั่งให้ทำโดยไม่อธิบายเหตุผลที่โน้มน้าวเขาเหล่านั้นได้ ที่สำคัญความพยายาม "ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ" หรือ "ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด" จึงไม่เพียงแต่ใช้ไม่ได้ หากแต่กลับยิ่งท้าทายความรู้สึกนึกคิดและทำให้เกิดความเคลื่อนไหวที่เข้มข้น มากยิ่งขึ้นในเจนเนอเรชันนี้ แน่นอนหากมีการกระทำที่เกินเลย หรือการกระทำผิดที่ต้องรับผิดชอบกับผลที่ตามมา ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่เราทุกคนก็อาจเคยผ่านสิ่งเหล่านี้มา
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมีพันธกิจหลักในการกล่อมเกลาเยาวชนคนหนุ่มสาวให้เรียนรู้ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีที่พร้อมนำและทำประโยชน์ให้สังคม ซึ่งพันธกิจที่ว่านี้ก็เป็นของทุกภาคส่วนในสังคมด้วยเช่นกัน แต่ที่สำคัญยิ่งคือต้องทำพันธกิจนี้ด้วยใจที่มีเมตตาต่อนักศึกษา ต่อเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ต่อไปก็จะกลายเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนสังคมทดแทนบรรดาผู้อาวุโส ที่แม้จะเปี่ยมด้วยความรู้ และประสบการณ์แต่ก็อ่อนกำลังลงไปทุกวัน
"เราไม่อาจมองเจนเนอเรชันใหม่ผ่านเลนส์แห่งเจนเนอเรชันเดิมๆ ได้เพราะภาพที่เห็นก็จะเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจ ผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพึงตระหนักว่าการเดินเข้าหาเยาวชนคนหนุ่มสาวนั้นพึงเป็นไปด้วยท่าทีที่เป็นมิตร บนพื้นฐานความเข้าใจ และให้เกียรติในความคิดอย่างคนที่เท่าเทียมกัน มิใช่เห็นว่าเขาเหล่านั้นเป็นเด็กที่ไร้เดียงสา ไม่รู้อะไร ถูกหลอกได้ง่าย
"เพราะหากเริ่มต้นด้วยวิธีคิดที่ดูแคลนกันเช่นนั้นจะไปหาทางออกร่วมกันได้อย่างไร การดำเนินการต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพและการเติบโตของเขาเหล่านั้นที่เป็นอนาคตของชาติ และมุ่งประโยชน์ระยะยาวของสังคม มากกว่าที่จะมุ่งคุกคามหาคนผิด หรือล่าแม่มด ซึ่งมีแต่จะทำให้เหตุการณ์ลุกลาม บานปลายและลงเอยด้วยการสร้างความเสียใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: