ในการแถลงนโยบายต่างประเทศที่สำคัญครั้งแรกของซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรกล่าวว่า สิ่งที่เรียกว่า “ยุคทอง” ของความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับจีนนั้น “จบลงแล้ว พร้อมกันกับความคิดไร้เดียงสาที่ว่า การค้าจะนำไปสู่การปฏิรูปทางสังคมและการเมืองโดยอัตโนมัติ” โดยผลที่ตามมา คือ สหราชอาณาจักร “จำเป็นต้องพัฒนาแนวทางของเราต่อจีน” ทั้งนี้ ซูนัคแถลงท่าทีของรัฐบาลตนต่อจีน ในงานเลี้ยงของนายกเทศมนตรีนครในกรุงลอนดอน โดยซูนัคกล่าวเสริมอีกว่า รัฐบาลจีน “แข่งขันอย่างจดจ่อ เพื่อสร้างอิทธิพลระดับโลก โดยใช้อำนาจรัฐทั้งหมดที่มี”
“พูดให้ชัดก็คือ สิ่งที่เรียกว่า 'ยุคทอง' ได้สิ้นสุดลงแล้ว พร้อมกับความคิดไร้เดียงสาที่ว่าการค้าจะนำไปสู่การปฏิรูปทางสังคมและการเมือง” ซูนัคกล่าว โดยอ้างอิงถึงคำอธิบายของ จอร์จ ออสบอร์น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อความสัมพันธ์จีน-สหราชอาณาจักรในปี 2558 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรย้ำว่า รัฐบาลของตนจะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางการค้า และความมั่นคงที่ลึกซึ้งกับพันธมิตรในอินโดแปซิฟิก พร้อมกล่าวเสริมว่า “เศรษฐกิจและความมั่นคงเป็นสิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้” ในภูมิภาคนี้
สมาชิกบางคนในพรรคอนุรักษนิยมของซูนัค วิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีของประเทศ โดยมองว่าซูนัคมีท่าทีที่แข็งกร้าวกับจีนน้อยกว่า ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้า โดยในขณะลงท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมกับทรัสส์ ซูนัคสัญญาว่าตนจะแข็งกร้าวกับจีน หากตนชนะการรับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค และขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยซูนัคเรียกจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจแห่งเอเชียว่าเป็น “ภัยคุกคามอันดับหนึ่ง” ต่อความมั่นคงภายในประเทศและระดับโลก
ก่อนหน้านี้ สองผู้นำจากสหราชอาณาจักรและจีนมีกำหนดพบหน้ากันเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ดี แผนการประชุมระหว่างซูนัคและ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนในการประชุมสุดยอด G20 เมื่อช่วงเดือนนี้ที่เกาะบาหลีประสบกับความล้มเหลว และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางการสหราชอาณาจักรได้ออกคำสั่งแบนกล้องวงจรปิดที่ผลิตโดยบริษัทของจีน จากสถานที่ราชการที่มีความละเอียดอ่อนด้านความปลอดภัย
“เราตระหนักดีว่า จีนมีความท้าทายเชิงระบบต่อค่านิยมและผลประโยชน์ของเรา ซึ่งเป็นความท้าทายที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อจีนเคลื่อนตัวไปสู่อำนาจเผด็จการที่รุนแรงขึ้นกว่า” ซูนัคกล่าวโดยอ้างถึงคำแถลงของสำนักข่าว BBC ที่ระบุว่า ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งของทางสำนักข่าวถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจีนทำร้ายร่างกาย “แน่นอนว่า เราไม่สามารถเพิกเฉยต่อความสำคัญของจีนในกิจการโลก ต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลกหรือประเด็นต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ อีกมากมายก็เข้าใจเรื่องนี้เช่นกัน” ซูนัคย้ำ
คำแถลงดังกล่าวของซูนัคเกิดขึ้น ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศทวีความร้อนแรงยิ่งขึ้น หลังจาก เอ็ด ลอว์เรนซ์ ซึ่งลงพื้นที่อยู่ในประเทศจีนในฐานะผู้สื่อข่าว BBC อย่างถูกต้องตามกฎ ถูกจับขณะเข้ารายงานสถานการณผู้ประท้วงการล็อกดาวน์โควิด-19 ในเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ ลอว์เรนซ์ยังถูกควบคุมตัวโดยทางการจีนเป็นเวลาหลายชั่วโมง
เจมส์ คเลเวอร์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ออกมาระบุว่า เหตุการณ์ทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าว BBC โดยเจ้าหน้าที่ของทางการจีนเป็นเรื่อง “น่าวิตกอย่างยิ่ง” พร้อมย้ำว่า “เสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการประท้วงต้องได้รับการเคารพ ไม่มีประเทศใดได้รับการยกเว้น” คเลเวอร์ลีทวีต “นักข่าวต้องสามารถทำงานได้โดยปราศจากการข่มขู่”
การทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าว BBC เกิดขึ้นในขณะที่ประชาชนหลายร้อยคน พากันออกไปตามท้องถนนในเซี่ยงไฮ้ เมืองใหญ่ของจีนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (27 พ.ย.) ท่ามกลางความโกรธแค้นของสาธารณชนที่มีต่อรัฐ เกี่ยวกับการบังคับใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ โดยกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวเมื่อวันจันทร์ (28 พ.ย.) ว่า ลอว์เรนซ์ไม่ได้ระบุว่าตัวเองเป็นผู้สื่อข่าวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจีน
“จากสิ่งที่เราได้รับรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเซี่ยงไฮ้ เขาไม่ได้ระบุว่าตัวเองเป็นผู้สื่อข่าว และไม่ได้แสดงข้อมูลการเป็นสื่อมวลชนประจำตัวของเขาโดยสมัครใจ” จ้าวลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าว พร้อมย้ำกับสื่อต่างประเทศให้ “ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของจีน ขณะอยู่ในประเทศจีน”
ที่มา: