ไม่พบผลการค้นหา
ประเทศไทยและโลกต่างตกตะลึงต่อเหตุการณ์อันหวาดผวาเมื่อวานนี้ (6 ต.ค.) หลังอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจพกอาวุธปืนและมีดเข้าก่อเหตุกราดยิง จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 38 ราย จำนวนมากในนั้นเป็นแค่เด็ก ที่กำลังนอนหลับอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู

ความสูญเสียหลังจากเหตุกราดยิง นำมาซึ่งบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ จากสถิติของสหรัฐฯ เปิดเผยว่าเหยื่อ สมาชิกครอบครัวของเหยื่อ และผู้คนในสังคมอาจเกิดภาวะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรืออาการกระทบกระเทือนทางจิตใจ ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่กระทบภาวะทางจิต 

อราช ชวัญภักติ์ นักวิจัยและแพทย์บำบัดอาการบอบช้ำทางจิตและภาวะวิตกกังวล รองศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวนสเตท ของสหรัฐฯ เขียนบทความลงใน The Conversation ระบุว่า ภาวะ PTSD ภายหลังจากเหตุการณ์กราดยิง เป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างบาดแผลแก่ครอบครัวและเพื่อนของเหยื่อ ให้ตกอยู่ในภาวะสิ้นหวัง ปวดร้าว และบอบช้ำ เช่นเดียวกันกับผู้พบเห็นเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ที่เข้าเผชิญเหตุ ผู้คนที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้กับสถานที่เกิดเหตุ รวมถึงผู้ที่ได้ยินเรื่องราวการกราดยิง โดยเฉพาะผ่านการนำเสนอข่าวของสื่อ

ชวัญภักติ์ชี้ว่า เหตุกราดยิงสร้างผลกระทบให้ต่อคนนับล้าน ในขณะที่ผู้รอดชีวิตและญาติผู้สูญเสียโดยตรง จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่สุด เช่นเดียวกันกับสังคมโดยรวม ที่ได้รับความทุกข์ทรมานทางใจไปกับเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ภาวะ PTSD หลังเหตุการกราดยิงยังคงเป็นปัญหาที่ถูกมองข้ามไปในสังคมวงกว้าง


PTSD คืออะไร

พญ.แสงศุลี ธรรมไกรสร ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือ ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง เป็นสภาวะป่วยทางจิตใจ เมื่อผู้ป่วยประสบกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างมาก เช่นจากภัยพิบัติ อุทกภัย แผ่นดินไหว การก่อการจราจล การฆาตกรรม สงคราม การปล้นฆ่า ข่มขืน เป็นต้น

พญ.แสงศุลีชี้ว่า ผู้รอดชีวิตและผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในเหตุการณ์รุนแรงนั้นๆ อาจเกิดภาวะความเครียดทางด้านจิตใจชนิดรุนแรงมาก จนต้องประสบกับความทุกข์ทรมาน และอาจยังผลให้เกิดความบกพร่องในหน้าที่การงานและการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ ตามมา

สำหรับอาการของผู้เข้าข่ายมีภาวะ PTSD นั้น อาการในช่วงแรกประมาณ 1 เดือน หรือที่เรียกว่าระยะทำใจ (Acute Stress Disorder) หรืออาการเครียดเฉียบพลัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการเครียด จนนำมาสู่อาการทางประสาทขึ้นมาได้ ในขณะที่อาการระยะที่สอง (PTSD: Post-Traumatic Stress Disorder) จะกินระยะเวลานานมากกว่า 1 เดือน โดยผู้ป่วยบางรายอาจจะมีระยะเวลาของการเกิดอาการยาวนานหลายเดือนไปถึงปี

สำหรับลักษณะอาการป่วย PTSD แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มอาการสำคัญ ได้แก่

1. เห็นภาพเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นนั้นตามมาหลอกหลอนอยู่บ่อยๆ ผุดขึ้นมาซ้ำๆ หรือฝันเห็นบ่อยครั้ง

2. อาการ Flash Back คือ เกิดความตื่นตัว เห็นเหตุการณ์นั้นๆ กำลังจะเกิดขึ้นกับเรา ควบคุมไม่ได้ เกิดอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ก้าวร้าว ซึ่งเดิมไม่เคยเกิดขึ้น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ตกใจง่าย ใจสั่น ความดันโลหิตสูง ไม่มีสมาธิ เครียดได้กับสิ่งต่างๆ รอบตัว

3. พยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่จะส่งผลทำให้กระทบกระเทือนต่อจิตใจ เช่น ภาพข่าวเหตุการณ์ การพูดถึงจากบุคคลอื่น

4. มีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ในเชิงลบ รู้สึกว่าชีวิตตัวเองหม่นหมอง ทั้งตัวเองและสิ่งรอบข้าง คิดว่าตัวเองคงไม่มีความสุขได้อีกต่อไปแล้ว ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบหรือเคยทำมาก่อนอีกแล้ว ทำให้อาจคิดฆ่าตัวตาย หรือพึ่งสารเสพติดต่างๆ เพื่อต้องการให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วอาจจะทำให้เกิดผลร้ายแรงยิ่งกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว


ผู้ที่ได้รับผลกระทบกลุ่มแรก: ผู้รอดชีวิต

ชวัญภักติ์ชี้ว่า เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความรู้ความเข้าใจของผู้รอดชีวิตแต่ละคนที่เจอกับเหตุการณ์กราดยิง มักประสบกับอาการหวาดผวาจากเหตุการณ์นั้นไม่เหมือนกันในแต่ละคน ขอบเขตของความบอบช้ำ ความเครียด หรือความกลัวของเหยื่อผู้รอดชีวิตอาจแตกต่างกันออกไป ผู้รอดชีวิตอาจเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตตัวเองไปตลอด พวกเขาอาจหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้พื้นที่ใกล้เคียงกับสถานที่เกิดเหตุกราดยิง หรือแม้แต่กระทั่งบริบทที่เกี่ยวข้องกับการยิง โดยในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ผู้รอดชีวิตอาจเกิดโรคเครียดหลังเหตุความรุนแรงดังกล่าว

ภาวะ PTSD ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยทรุดโทรมได้ ซึ่งเป็นอาการที่พัฒนามาหลังจากสัมผัสกับเหตุการณ์ ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เช่น สงคราม ภัยธรรมชาติ การข่มขืน การทำร้ายร่างกาย การโจรกรรม อุบัติเหตุทางรถยนต์ และในกรณีที่เรากำลังพูดถึง คือ ความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืน 

จากสถิติของสหรัฐฯ ระบุว่า เกือบ 8% ของประชากรสหรัฐฯ ประสบกับภาวะ PTSD เช่น อาการความวิตกกังวลสูง การหลีกเลี่ยงสิ่งเตือนความจำเกี่ยวกับบาดแผลทางใจ อาการชาทางอารมณ์ ความตื่นตัวมากเกินไป ความทรงจำที่ล่วงล้ำบ่อยครั้งเกี่ยวกับบาดแผล ฝันร้าย และเหตุการณ์ย้อนหลัง ภาวะดังกล่าวเกิดจากการที่สมองปรับโหมดการทำงานเพื่อสู้หรือวิ่งหนี หรือโหมดเอาชีวิตรอด และบุคคลที่ประสบกับภาวะ PTSD มักรู้สึกรอคอยว่าอาจมีเรื่องน่ากลัวเกิดขึ้นกับตัวเองตามมาเสมอ

เมื่อความบอบช้ำทางจิตใจเกิดขึ้นกับผู้ประสบเหตุกราดยิง ผลกระทบดังกล่าวอาจสร้างแรงกระทบอย่างใหญ่หลวงและลึกซึ้งทางจิตใจ จากสถิติเปิดเผยว่า อัตราการเกิดภาวะ PTSD ในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์กราดยิงมีสูงถึง 36% นอกจากนี้ อัตราการเกิดอาการซึมเศร้า ซึ่งเป็นภาวะทางจิตเวชที่อาจทำให้ร่างกายทรุดโทรมได้ในรูปแบบหนึ่ง มักเกิดในผู้มีภาวะ PTSD ถึง 80%

ที่เลวร้ายไปกว่านั้น ผู้รอดชีวิตจากเหตุกราดยิงอาจประสบกับความรู้สึกผิดที่ตนรอดชีวิต พวกเขาอาจรู้สึกว่าตัวเองผิดพลาดอะไรไป ซึ่งทำให้เหยื่อในเหตุการณ์คนอื่นๆ ต้องเสียชีวิตไป แต่ตนเองกลับรอดชีวิตมาได้ หรือไม่ก็คือ พวกเขาอาจรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรได้ไม่มากพอ หรือพวกเขาแค่อาจจะรู้สึกผิดที่ตัวเองรอดชีวิตมาได้เฉยๆ โดยไม่มีคำอธิบายใดๆ

ชวัญภักติ์ระบุว่า ผู้มีอาการ PTSD อาจมีอาการดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง แต่หลายคนต้องเข้ารับการรักษาบำบัด การรักษาภาวะ PTSD ที่มีทั้งในรูปแบบของการใช้จิตบำบัดและยารักษาโรค ทั้งนี้ ยิ่งผู้ป่วยซึ่งมีอาการ PTSD เรื้อรัง จะยิ่งส่งผลเสียต่อสมองของผู้ป่วยมากขึ้นเท่านั้น และภาวะ PSTD เรื้อรังจะส่งผลให้เกิดความยากลำบากต่อการรักษา 

เด็กและวัยรุ่น ที่กำลังพัฒนาโลกทัศน์และการตัดสินใจว่า ตนจะอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างปลอดภัยเพียงใด อาจต้องทนทุกข์กับอาการ PTSD ที่มากขึ้นไปกว่าเดิม การสัมผัสกับประสบการณ์ที่น่าสยดสยอง เช่น การยิงในโรงเรียน หรือข่าวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ สามารถส่งผลกระทบต่อวิธีคิดที่ผู้คนมองว่า โลกนั้นเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยกันแน่ และพวกเขาสามารถพึ่งพาผู้ใหญ่และสังคมโดยทั่วไปในการปกป้องพวกเขาได้มากน้อยเพียงใด

เด็กและวัยรุ่นที่รอดชีวิตจากเหตุการกราดยิง อาจแบกรับโลกทัศน์เช่นนี้ไปตลอดชีวิต และแม้กระทั่งว่าพวกเขาอาจถ่ายทอดโลกทัศน์ให้กับลูกๆ ของพวกเขาในอนาคต ยังมีงานวิจัยอีกจำนวนมากที่ศึกษาผลกระทบระยะยาวของการบาดเจ็บในวัยเด็ก ที่มีทั้งทางสุขภาพจิตและร่างกายของบุคคล และความสามารถในการใช้ตลอดชีวิตของพวกเขาในวัยผู้ใหญ่


ผลกระทบที่ตามมากับคนใกล้ชิด และผู้ตามเข้ามาทีหลังในที่เกิดเหตุ

อาการ PTSD ไม่ได้พัฒนาขึ้นผ่านแค่เพียงการสัมผัสกับภาวะบอบช้ำทางจิตใจ แต่มันยังสามารถเกิดขึ้นผ่านการสัมผัสกับอาการบอบช้ำทางจิตใจสาหัสของผู้อื่นด้วย ชวัญภักติ์ชี้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่เอาชีวิตรอดมาได้ ด้วยความสามารถในความรู้สึกกลัวเป็นกลุ่ม 

ชวัญภักติ์อธิบายว่า ภาวะดังกล่าวทำให้มนุษย์อย่างเราเรียนรู้ความกลัว และประสบกับความหวาดกลัว ผ่านการสัมผัสกับบาดแผลและความกลัวของผู้อื่น จากงานศึกษาพบว่า แม้เพียงแค่เราเห็นภาพใบหน้าขาวดำที่ดูหน้ากลัวบนจอคอมพิวเตอร์ ก็ทำให้สมองส่วนอะมิกดะลา ซึ่งทำหน้าที่รับรู้ความหวาดกลัว ทำงานขึ้นทันที

ผู้คนในบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่เกิดเหตุกราดยิง อาจพบเห็นร่างของศพที่เปลือยเปล่า เสียโฉม ถูกไฟไหม้ หรือไร้ชีวิตได้ พวกเขาอาจเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บนอนทนทุกข์ทรมานปางตาย หรือได้ยินเสียงดังจากความรุนแรง และพบกับความโกลาหลและความหวาดกลัวในสภาพแวดล้อมของที่เกิดเหตุหลังการกราดยิง พวกเขายังต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่รู้จัก หรือรู้สึกว่าตัวเองควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ความกลัวต่อสิ่งแปลกปลอมมีบทบาทสำคัญในการทำให้ผู้คนรู้สึกไม่ปลอดภัย หวาดกลัว และบอบช้ำ

กลุ่มบุคคลที่สัมผัสกับภาวะดังกล่าว มักเป็นเจ้าหน้าที่เข้าเผชิญเหตุอย่างเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล ซึ่งพวกเขามักถูกละเลยว่าพวกตนอาจประสบกับภาวะ PTSD หลังการเข้าพบกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์กราดยิง เพราะในขณะที่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ และผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อกำลังพยายามหนีจากมือปืนที่เข้าจู่โจม ตำรวจ นักดับเพลิง และหน่วยแพทย์เอง เป็นผู้ที่ต้องรีบเข้าไปในเขตที่เกิดเหตุ ซึ่งมีความอันตรายเกิดขึ้น


ภาวะหวาดวิตกและความเจ็บปวดที่แพร่กระจายออกไป

นอกจากเหยื่อ ครอบครัวของเหยื่อ และเจ้าหน้าที่เข้าเผชิญเหตุ ชวัญภักติ์ระบุว่า ผู้ที่ไม่ได้สัมผัสกับเหตุกราดยิงโดยตรง แต่ได้รับข่าวสารก็ประสบกับความทุกข์ ความวิตกกังวล หรือแม้แต่ภาวะ PTSD สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นหลังจากเหตุวินาศกรรม 9/11 มาแล้ว

โดยความกลัวเกิดขึ้นจากความไม่รู้ว่าจะมีสิ่งอะไรที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา มันจะมีการโจมตีเกิดขึ้นอีกครั้งไหม มันผู้สมรู้ร่วมคิดคนอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีกไหม ผู้คนจะประสบกับภาวะขาดศรัทธาลง ในการรับรู้ถึงความปลอดภัยซึ่งอาจมีบทบาทต่อเหตุการณ์ดังกล่าว

ชวัญภักติ์กล่าวว่า เมื่อใดที่เกิดเหตุกราดยิงในสถานที่ใหม่ๆ ผู้คนจะเรียนรู้ว่าสถานที่เกิดเหตุในแบบใหม่เหล่านี้ ได้มีเข้าไปอยู่ในรายชื่อสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยอย่างมาก ผู้คนจะหวั่นวิตกไม่ใช่แต่เพียงแค่ความปลอดภัยของตัวเอง แต่หมายรวมถึงความปลอดภัยของบุตรหลาน และบุคคลอันเป็นที่รักของพวกตน


พลิกวิกฤตโศกนาฏกกรมเป็นโอกาสในการระงับเหตุกราดยิง

ชวัญภักติ์ระบุว่า เราสามารถถ่ายทอดความทุกข์ทรมาน และความคับข้องใจร่วมกัน เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอันมีความหมาย เช่น การทำให้กฎหมายปืนปลอดภัยยิ่งขึ้น การเปิดการอภิปรายถึงปัญหาการกราดยิงที่สร้างสรรค์ การแจ้งให้สาธารณชนทราบเกี่ยวกับความเสี่ยง และการเรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติดำเนินการต่อปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง 

ในเวลาแห่งความยากลำบาก ชวัญภักติ์ชี้ว่า มนุษย์มักจะสามารถยกระดับความเป็นชุมชน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขา รวมถึงสิทธิในความปลอดภัยในโรงเรียน สถานจัดคอนเสิร์ต ร้านอาหาร และโรงภาพยนตร์

กรณีตัวอย่างหลังเหตุโศกนาฏกรรมที่โบสถ์ยิวต้นไม้แห่งชีวิตในเดือน ต.ค. 2561 ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สวยงามตามมา หลังจากความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชนมุสลิมกับชาวยิว ที่เข้ามาช่วยเหลือซึ่งกันและกันหลังจากเหตุกราดยิง นี่เป็นผลดีอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งความกลัวและความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา

แม้จะเกิดความขุ่นหมอง แต่ความโศกเศร้า ความวิตกกังวล ความโกรธ และความคับข้องใจ แต่มันสามารถถูกส่งต่อไปเป็นการกระทำต่างๆ เช่น การมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหว และการอาสาที่จะช่วยเหลือผู้ประสบเหตุกราดยิง ชวัญภักติ์ย้ำว่า สำหรับผู้ที่เสพข่าวการกราดยิง สิ่งสำคัญคืออย่าใช้เวลาดูรายการโทรทัศน์มากเกินไป คุณควรปิดโทรทัศน์เมื่อรู้สึกเครียดมากเกินไป

จากการศึกษาวิจัยพบว่า การเสพสื่อเป็นเวลาหลายชั่วโมงทุกวัน หลังเกิดการกราดยิง สามารถนำให้ผู้เสพข่าวจะนำไปสู่ความเครียดสูง ดังนั้น ผู้เสพข่าวควรตรวจสอบข่าวเพียง 2 ครั้งต่อวันเพื่อรับทราบข้อมูล แต่อย่าค้นหาการรายงานข่าว และการเปิดเผยภาพและข่าวที่มีเนื้อหาความรุนแรง ชวัญภักติ์ชี้ว่า วงจรของการรายงานข่าว มีแนวโน้มที่จะรายงานเรื่องเดียวกันซ้ำๆ กันไปในแต่ละช่อง โดยไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมมากนัก

เหตุกราดยิงสร้างผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างใหญ่หลวง ไม่เพียงแต่ความหวาดผวา โกรธแค้น เศร้าโศก แต่มันยังนำมาซึ่งความงุนงงสงสัย ถึงเหตุจูงใจในการที่มนุษย์คนหนึ่งจะหยิบปืนขึ้นสังหารผู้อื่น หากเราไม่สามารถจัดการความโกลาหลทางสังคมในตอนนี้ สังคมไทยอาจตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง ต่อการเสพติดความรุนแรงในทางอ้อม และซ้ำร้ายกว่านั้น คือ เราอาจจะกำลังเมินเฉยต่อปัญหาภาวะ PTSD อย่างที่สังคมกำลังประสบอยู่ในตอนนี้


อ่านบทความทำความเข้าใจ ปัญหาทางจิตในฐานะต้นเหตุเหตุกราดยิง: https://www.voicetv.co.th/read/a1T0wUJbj


ที่มา:

https://theconversation.com/mass-shootings-leave-behind-collective-despair-anguish-and-trauma-at-many-societal-levels-183884?fbclid=IwAR1wB95aZSLTNUpwHyzzUjkg0Rm2kTQWYEBqWafFMaSrfyx0Ob44z73N3DU

https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ptsd-%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8/