ไม่พบผลการค้นหา
ย่านลอนดอนบริดจ์ซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำเทมส์คึกคักไปด้วยผู้คนที่ดูหลากหลาย พวกเขาใช้พื้นที่ว่างสาธารณะริมน้ำพักผ่อน ออกกำลังหรือแม้แต่กินอาหาร ช่วงกลางวัน เช้าและเย็นมีคนทำงานเดินกันพลุกพล่านระหว่างอาคารทรงแปลกตากับสถานีรถไฟลอนดอนบริดจ์ที่เป็นศูนย์กลางการเดินทางต่อเชื่อมไปทางใต้ของเมือง

ลอนดอนบริดจ์ในปัจจุบันเปลี่ยนโฉมไปอย่างสิ้นเชิงจากเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วที่ไม่ได้รับความสนใจมากนักแม้ว่าจะอยู่ติดน้ำและใกล้เมือง วันนี้การพัฒนาหลายจุดชุบชีวิตให้ย่านนี้ นักลงทุนรุ่นใหม่สามพี่น้องจากตระกูลอินเงินชี้ว่า ลอนดอนบริดจ์ได้รับการขนานนามให้เป็นย่านการเงินขนาดเล็ก mini financial district ของลอนดอนไปแล้ว และพวกเขากำลังเป็นส่วนหนึ่งของมันด้วยการลงทุนทำร้านอาหารที่ออกแบบด้วยวิธีคิดที่คู่ขนานไปกับการเติบโตของพื้นทีี่

คนที่ใช้พื้นที่ย่านลอนดอนบริดจ์นั้น ชาคริต อินเงินเล่าว่าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวบวกกับพนักงานบริษัทที่เป็นกลุ่มธุรกิจด้านการเงิน กฎหมาย การบัญชี ซึ่งมีกำลังซื้อสูง ยังมีกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเช่นจากมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจกับอีกหลายแห่งที่อยู่ไม่ไกล รวมทั้งคนในชุมชน แต่ที่กำลังเห็นกระแสคือคนกลุ่มที่พวกเขาถือว่าเป็นเป้าหมายในการลงทุนหนนี้

“ย่านนี้เป็นย่านของคนที่ทำงานในแวดวงครีเอทีฟ กราฟิกดีไซเนอร์ แฟชั่น เอเจนซี่โฆษณา แกลอรีศิลปะ พิพิธภัณฑ์ และเริ่มมีบริษัทที่ทำ Start up เข้ามาในพื้นที่นี้ รวมถึงคนที่รักการกิน คนที่ชอบหาที่กินใหม่ๆ เพราะย่านนี้อยู่ติดกับตลาดโบโรห์ (Borough Market) ซึ่งเป็นแหล่งรวมคนชอบการกิน” แบงก์ น้องชายคนเล็กให้ข้อมูล ในความเห็นของเขา ลอนดอนบริดจ์เป็นพื้นที่ที่กำลัง “เทรนดี้” มีความใหม่ที่เป็นผลของการผสมผสานของความหลากหลายอันกลายมาเป็นอัตลักษณ์ของลอนดอน มันไม่ใช่พื้นที่ที่เป็นอังกฤษแบบดั้งเดิม เป็นกระแสใหม่ที่พวกเขาเข้าถึงและเป็นส่วนหนึ่งของมัน

Borough4.JPG

ชาคริต รสรินและแบงก์ อินเงินเป็นทายาทของเจ้าของร้านอาหารไทยสุชาติที่อยู่ในย่านลอนดอนบริดจ์ วันนี้สามคนพี่น้องจับมือกันทำงานเพื่อทำร้านอาหารไทย ใช้ความสามารถในการอ่านตลาดผู้บริโภคในย่านลอนดอนบริดจ์บวกกับความรู้และความเป็นคนรุ่นใหม่ของพวกเขาเป็นตัวกำหนด

“หาข้อมูลนานมากครับ” แบงก์เล่า พวกเขาไปทดลองร้านอาหารอื่นๆ ก่อนจะออกแบบของตัวเอง “ในส่วนของอาหาร ก็ยังคงความเป็นไทยอยู่ เราใช้เครื่องเทศ สมุนไพรจากเมืองไทย อาหารสด เราใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นแต่ทำให้เป็นรสชาติไทย อาหารบางชนิดที่รสชาติแรงๆ ก็ต้องปรับไม่ให้แรงเกินไป” แบงก์เล่า

“คอนเซ็ปต์ของร้านคือ เอาครัวหลังบ้านออกมาไว้ข้างนอก ให้ทุกคนมานั่งกินในครัวของเรา เป็นครัวไทยโมเดิร์น การตกแต่งร้านอยากให้ร้านมีสีสัน ใช้ผ้าไหม มีบาร์ที่พยายามทำด้วยงานไม้ที่เป็นงานฝีมือ ต้นไม้ที่ใช้ตกแต่ง อยากได้เป็นต้นไม้จากฝั่งเอเชีย ให้เค้ารู้สึกเหมือนเวลาไปเมืองไทย เวลาเดินเข้ามาเหมือนเข้ามาอีกโลกนึงเลย ข้างนอกเป็นตึกเก่าอังกฤษ เข้ามาจะเป็นครัวไทย รู้สึกสบาย เหมือนย้ายที่ไปประเทศแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ลุ่ยเล่าเสริม

ประสบการณ์ในการทำร้านอาหารในลอนดอนได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก รสรินบอกว่าร้านอาหารในวิถีใหม่กำลังผลุดโผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ 

“สมัยก่อน ร้านแบบดั้งเดิม ต้องกินออร์เดิร์ฟ (Starter) กินอาหารจานหลัก (Main course) กินของหวาน โต๊ะอาหารต้องมีการจัดวาง ต้องปูโต๊ะ ต้องมีบริการ กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้ร้านพวกนั้นเงียบลง ร้านใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นแทนจะเป็นร้านสบายๆ กินง่ายๆ มีอาหารมาจานเล็กๆ ให้ลูกค้าลองได้หลายๆอย่าง เดี๋ยวนี้คนไม่ได้ไปกินเป็นทางการขนาดนั้น”

Borough1.JPG

วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนไป มันส่งผลไปถึงวิธีคิดในการจัดการร้านอาหารเพื่อให้บริการด้วย “คนต้องการประสบการณ์ใหม่ๆมากขึ้น” เธอเล่าต่อ “คนเร่ิมแชร์ แบ่งกันทาน มีอาหารตรงกลาง สมัยก่อนอังกฤษต่างคนต่างกิน พอทุกคนเริ่มได้รับประสบการณ์จากวัฒนธรรมอื่น ตอนนี้อาหารทุกอย่างเป็น Sharing Plate (กินร่วมกัน) เกือบหมด ไม่ว่าจะอาหารฝรั่งเศส อิตาเลียน Sharing Plate สไตล์เอเชีย มันกลายเป็นไลฟ์สไตล์ของลอนดอน”

ด้วยโจทย์ทางธุรกิจที่ต้องการฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ บวกกับวัฒนธรรมการกินที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นมใหม่ และทำเลของร้านบนถนน Bermondsey ซึ่งเป็นย่านครีเอทีฟ จึงกลายมาเป็นร้านอาหาร Kin+Deum หรือเคแอนด์ดี “กินดื่ม” ที่ทั้งสามกำลังซุ่มทำเพื่อรับเทรนด์ที่กำลังมา แน่นอนว่าร้านเคแอนด์ดีก็จะใช้แนวคิดเดียวกันกับร้านอาหารใหม่ๆคือการเสริ์ฟอาหารสไตล์เอเชียให้ลูกค้าสามารถแบ่งกันกันได้ เป็นจานเล็กลง และแบ่งปันกันได้ ส่วนลูกค้านั่งด้วยกัน พวกเขาสามารถนั่งกินไปด้วยและคุยกันได้ ร้านอยู่ในตึกจากยุคสมัยวิคทอเรียนที่มีอายุกว่า100 ปี เป็นรูปทรงและเอกลักษณ์ที่ใครมีอยู่ก็มักจะต้องการเก็บรักษาไว้

การที่เป็นเมืองที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ลอนดอนจึงกลายเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมที่หลากหลาย หรือ Cultural Hub ในขณะที่ผู้คนยุคใหม่เห็นการเดินทางท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญของชีวิตทำให้ชาวลอนดอนมีประสบการณ์เกี่ยวกับอาหารมากขึ้นตามไปด้วย “สมัยก่อน คนอาจจะไม่ได้คุ้นเคยอาหารไทยเท่ากับปัจจุบัน ตอนนี้คนต่างชาติกินอาหารไทยเหมือนเราเลย กินลาบได้ กินปลาเผาแบบบ้านเราได้” เธอว่า มันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดว่าผู้คนเริ่มมีประสบการณ์ที่เข้าใกล้กันมากขึ้น


แบงก์บอกว่า เขาเองมองว่าลอนดอนเป็นเมืองที่เปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ มีคนในกลุ่มนี้จากหลากหลายประเทศและภูมิหลังที่หลั่งไหลเข้าสู่ลอนดอน บางคนไปทำงาน บางคนไปเรียนด้วยทำงานด้วย มันทำให้เกิดบรรยากาศการแลกเปลี่ยนและต่างคนต่างได้หยิบความคิดของคนอื่นๆมาใช้ไม่ว่าจากประเทศไหนก็ตามที่พวกเขาได้พบ ทำให้ลอนดอนมีความพิเศษเช่นนี้สำหรับพวกเขา แม้แต่ในการลงทุนทำร้านอาหารเคแอนด์ดี พวกเขาก็เคยคิดว่าจะดึงคนจากที่อื่นๆ มามีส่วนร่วม แต่ต้องพับความคิดไป

“เมื่อก่อนถ้าเกิดร้านไทยที่เป็นพนักงานไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่เป็นไร คือพนักงานไทยอยู่แล้ว แต่อย่างร้านใหม่อาจจะต้องรับคนฝรั่งเศส เสปน อิตาลี เพราะเขาเอาความคิดจากประเทศเขามารวมเข้าด้วยกัน ถ้าแม้ว่าเขาจะทำสปาเกตตี พาสตา อาหารอื่น แต่ความคิดเอามารวมกัน อันนี้ก็เสียไปตอนที่เกิดเบร็กซิตขึ้น”

เบร็กซิต (Brexit) คือการที่อังกฤษกำลังดำเนินการเพื่อถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรืออียู การถอนตัวนี้จะมีผลในปี 2019 แบงก์เชื่อว่ามันจะทำให้คนจากบางแห่งบางประเทศเข้าสู่อังกฤษได้ยากมากขึ้น มันเป็นอนาคตที่พวกเขาดูจะไม่ชอบนักแต่ก็ยอมรับและเห็นว่าจะต้องปรับตัวต้อนรับสถานการณ์ใหม่ รวมทั้งทำความเข้าใจกับเหตุผลของคนที่อยากจะออกจากอียู

“การที่มีคนมาจากประเทศอื่นในยุโรปเข้ามาทำงานที่นี่ ทำให้คนอังกฤษมีงานทำน้อยลง รัฐบาลต้องจ่ายเงินให้กับคนอังกฤษที่ไม่มีงานทำ และยังต้องจ่ายตังค์ให้อียู สำหรับการเป็นส่วนหนึ่งในสหภาพยุโรป เป็นเรื่องที่เข้าใจได้” แบงก์เล่า “มีหลายคนที่มาจากประเทศอื่นในอียู ตอนนี้เค้าเริ่มที่จะย้ายออกไปแล้ว ยังไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่เราก็เตรียมพร้อม”

Borough3.JPG

รสรินเล่าว่าตอนผลโหวตออกมาเมื่อปี 2016 ปรากฏว่า คนอังกฤษ 51.9% ต้องการออกจากสหภาพยุโรป ในขณะที่อีก 48.1% ยังอยากอยู่ เพื่อนๆรอบตัวเธอไม่ได้คาดคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น “ถ้าเป็นรุ่นลุ่ยนะคะ ส่วนใหญ่เลยไม่มีใครอยากให้ออกจากสหภาพยุโรป” เธอว่า “ลุ่ยเกิดที่นี่ อังกฤษเข้าไปอียู ตั้งแต่ 1973 ลุ่ยใช้ชีวิตอยู่ในอียูตลอด ยังไม่เคยสัมผัสว่านอกจากอียูมันจะเป็นยังไง ตั้งแต่ลุ่ยเติบโตมา ลุ่ยก็ได้สัมผัสคนที่มาจากหลายประเทศ คือทุกอย่างทึ่ลุ่ยสัมผัสมันเป็นอียูตลอด ของที่เรากิน เราใช้ อิทธิพลทางความคิด ทุกอย่างเพราะเราอยู่ในอียู” เธอชี้ว่า การเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่มอย่างเช่นอียูเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ได้ประโยชน์ ในสภาพของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป “ยิ่งปัจจุบันโลกมันโลกาภิวัตน์ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว พรมแดนมันไม่มี ถ้าทุกอย่างมันมีการไหลเวียนทั้งความคิดทั้งวัฒนธรรม”

แต่รสรินก็พยายามทำความกับเข้าใจความคิดของคนรุ่นก่อน “คนอายุมากกว่านี้ที่เป็นคนอังกฤษ คนที่เคยเห็นเหตุการณ์ก่อนและหลังการเข้าร่วมกับอียู เขาอาจจะเห็นว่าการเข้าร่วมกับอียูไม่ได้ดีอย่างที่เค้าคิดก็ได้ สมัยก่อนเขาอาจจะเห็นว่าเขาสะดวกสบายกว่า เขาได้ผลประโยชน์ที่มากกว่า ซึ่งตรงนี้ลุ่ยพูดแทนเค้าไม่ได้” แต่สำหรับคนรุ่นเธอแล้วรสรินบอกว่าทุกคนพอใจกับการอยู่กับอียู คนที่เป็นคนชอบท่องเที่ยวและค้นหาสิ่งใหม่ๆ ไม่มีปัญหากับเรื่องผู้อพยพหรือการที่คนข้างบ้านเป็นคนผิวสีอะไร

การเข้าสู่กระบวนการแยกตัวออกจากอียูมีผลกระทบต่ออังกฤษหลายอย่าง ชาคริตเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติที่ทำให้คนรู้สึกไม่มั่นใจ แต่หากมองหาโอกาสใหม่ๆจากการเปลี่ยนแปลง เขาคิดว่ายังมีอยู่

“ตอนเบร็กซิต ผมเพิ่งเข้ามาทำธุรกิจอสังหาฯ” ชาคริตบอก เขาเป็นนายหน้าขายอสังหาริมทรัพย์ในลอนดอนให้กับคนไทย “มันเป็นช่วงที่เงินปอนด์ตก ทำให้เงินบาทมีมูลค่ามากขึ้น จังหวะนั้นคนไทยก็เทเงินมาค่อนข้างเยอะ มีคนไทยมาซื้อเพนท์เฮาส์ ในย่านการเงินตรงถนนลิเวอร์พูล สำนักงานใหญ่ของธนาคารทั้งหลายจะอยู่ตรงนั้น ราคา ตอนนั้นเริ่มต้นหนึ่งห้องนอน อยู่ที่หนึ่งล้านปอนด์อัพ คนไทยบอกว่าไม่แพงนะครับ แต่สำหรับผมนี่แพงมาก”

ชาคริตมองว่าหลายประเทศยังมีความมั่นใจในอังกฤษ โดยเฉพาะคนไทย จีน ตะวันออกกลาง มีผู้ต้องการเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ส่วนรสรินเสริมว่า เงื่อนไขหลายอย่างของการต่อรองเงื่อนไขการแยกตัวและกำหนดกรอบความสัมพันธ์ใหม่กับอียูคงจะชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ

“ความมั่นใจในอังกฤษยังมีสม่ำเสมอมาตลอด” ลุ่ยเสริม “คนยังส่งลูกมาเรียน มหาลัยในอังกฤษก็ยังอยู่ในระดับท้อปเทนของโลก นอกจากนั้นการท่องเที่ยว โครงสร้างระบบกฎหมายก็มั่นคงมาตลอด คนทั่วโลกยังคิดว่าอังกฤษเป็นที่ที่สามารถกระจายการลงทุนมาไว้ที่นี่ได้ ถึงแม้ว่าเบร็กซิตจะทำให้เกิดความไม่แน่ใจบ้าง แต่ตอนนี้เค้าเริ่มเจรจากัน ทุกอย่างเริ่มเห็นกรอบเวลาและหนทางมากขึ้น คนก็เริ่มมีความมั่นใจกลับมา”

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ยังใช้ชีวิตในอังกฤษ รสรินมองในด้านบวก เธอชี้ว่าในเมื่อจะออกแล้วก็ต้องมองหาหนทางใหม่ “ เชื่อว่าต้องมีโอกาสใหม่ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยคิด ไม่เคยพยายามต่อรองเพราะว่าเราอยู่ในอียู เราอยู่ในโครงสร้างที่หลายประเทศติดต่อกัน เรามีโอกาสมากขึ้นจากทั่วโลกได้มากกว่า ในการที่เราทำธุรกิจได้มากขึ้น เมื่อเราออกแล้วเราก็ต้องหาเงื่อนไขที่ดีสำหรับเราและอียูแล้วก็หาโอกาสใหม่ๆ จากทั่วโลกด้วย”