ไม่พบผลการค้นหา
จากความเชื่อในพลังความคราฟต์สุดพิถีพิถัน บวกกับความเบื่อหน่ายกับแฟรนไชส์แบบเดิมๆ ทำให้เมื่อ 8-11 มีนาคมที่ผ่านมา หลายคนต่างตาค้างไปกับเทศกาลกาแฟสุดยิ่งใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ‘Thailand Coffee Fest 2018’ ครั้งที่ 3

บรรยากาศครบเครื่องด้วยการออกบูธของผู้จำหน่ายเครื่องชง เครื่องคั่ว และเมล็ดกาแฟชั้นนำจากมือเกษตรกรรวมแล้วมากกว่า 130 ราย พร้อมฉายภาพการเดินทางของกาแฟ ซึ่งพาทุกคนไปพบกับแนวคิดเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ ที่ซ่อนตัวอยู่ทุกอณูรายละเอียด

16.jpg

ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบัน ธุรกิจกาแฟขยายตัวต่อเนื่อง โดยปริมาณการบริโภคมีไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นตันต่อปี ถือเป็นธุรกิจที่ควรผลักดันให้เจริญก้าวหน้า เพื่อยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน และความโดดเด่นของกาแฟไทยสู่ระดับสากล

วัลลภ ปัสนานนท์ นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทยกล่าวว่า กระแสช่วงหลังๆ หลายคนนิยมบริโภคเอกลักษณ์ของกาแฟ ทำให้ผู้ผลิตรายเล็กๆ ต้องหันมาใส่ใจกับเรื่องการระบุสายพันธุ์ แหล่งปลูก และคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน จึงเกิดเป็นสมาคมกาแฟพิเศษไทย เพื่อทำหน้าที่สื่อสารกับเกษตรกร และบุคลากรในตลาดกาแฟ 

สำหรับตัวอีเว้นท์ ‘Thailand Coffee Fest’ ก็เป็นกิจกรรมเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำผลิตภัณฑ์ของตัวเองมานำเสนอแก่บรรดาร้านค้า และคอกาแฟ กระทั้งต่อมากระบวนการผลิตของเกษตรกรเกิดการพัฒนาขึ้น เพราะโรงคั่วเมล็ดกาแฟต่างๆ ภายในประเทศล้วนกำลังต้องการกาแฟคุณภาพดี เพื่อเสิร์ฟออกสู่ท้องตลาด 

“จากปกติที่คนส่วนใหญ่มักคิดถึงกาแฟต่างชาติดีๆ แพงๆ ทว่าปัจจุบันทุกภาคส่วนของกาแฟไทยช่วยกันพัฒนาทั้งเรื่องของรสชาติ และความโด่ดเด่นก็ค่อยๆ ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ปลายทางทั้งที่เป็นร้านกาแฟ หรือนักดื่มกาแฟ เริ่มหันมาสนใจกาแฟไทยมากขึ้น”

“ผมหวังว่า สักวันกาแฟไทยจะอยู่ในระดับที่คอกาแฟทั่วโลกให้การยอมรับ”

นอกจากนั้น ‘Thailand Coffee Fest 2018’ ครั้งที่ 3 ยังมาพร้อมคอนเซ็ปต์ ‘A Journey of Coffee : จากต้นจนจิบ’ โดยทุ่มความสำคัญกับเรื่องการทำธุรกิจกาแฟให้เกิด ‘ความยั่งยืน’ ตั้งแต่เกษตรกร โรงคั่วกาแฟ ผู้ส่งออก จนถึงร้านกาแฟ คือเป็นประโยชน์ต่อทั้งชุมชน และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือ ภายในงานเลือกใช้วัสดุรีไซเคิล เช่น การนำผ้ากระสอบมาตกแต่งและเสื้อที่ระลึกของ ‘The Cloud’ ก็มาจากแก้วกาแฟรีไซเคิลด้วย


สร้างสรรค์กาแฟอีสาน

หลายคนอาจไม่ทราบว่า ปัจจุบันเกษตรกรแถบภาคอีสานของประเทศไทยนิยมหันมาปลูกเมล็ดกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า และอราบิกาเป็นจำนวนมาก และอภินันท์ นิติมงคลวาร ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ ‘Green Bean Intertrade’ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่หันมาจับธุรกิจกาแฟด้วยการปลูกกาแฟสายพันธุ์อราบิก้าคาติมอร์ในจังหวัดชัยภูมิ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการฟื้นฟูดิน และสร้างอาชีพให้เกษตรกรท้องถิ่นอย่างยั่งยืนด้วย

13.jpg

“ผมทำการเพาะเบี้ย (ต้นกล้ากาแฟ) ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี จากนั้นค่อยนำเบี้ยไปให้เกษตรกรท้องถิ่นปลูก เป็นเหมือนนำการช่วยเหลือกัน เรียนรู้ร่วมกัน และพอพัฒนาจนกลายผลผลิตออกมาเราก็รับซื้อ”

อภินันท์กล่าวต่อว่า นอกจากจังหวัดชัยภูมิจะเป็นบ้านเกิดของเขาแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่เขาตัดสินใจปลูกกาแฟในภาคอีสานมาจากแนวคิดที่ว่า ต้นกาแฟสามารถทดแทนพืชชนิดอื่นๆ ได้

“เมื่อก่อนเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังกันอยู่ เราก็ให้เขาลองหันมาปลูกกาแฟแทนมันสำปะหลัง เพื่อใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ปัญหาคือ ผลผลิตทางการเกษตรเกรดเอ ขนาดเมล็ดใหญ่ จะออกมาน้อยหน่อย ส่วนเกรดบีออกมาเยอะหน่อย เมื่อต้องเทียบการปลูกกาแฟทางภาคเหนือเกรดเอจะออกมาเยอะกว่า แต่ผมก็ยังโอเค”

“ในความคิดของผม อย่างน้อยการปลูกกาแฟก็ดีกว่ามันสำปะหลัง แต่สุดท้ายมันก็ต้องเป็นการเข้าไปพัฒนาร่วมกันกับเกษตรกร เพราะเราไปบังคับ หรือสั่งพวกเขาไม่ได้”

ตลอดระยะเวลา 4 ปี แม้อภินันท์จะทราบว่า คุณภาพของดินและสภาพอากาศในจังหวัดชัยภูมิไม่ได้พิเศษมากนักสำหรับการปลูกกาแฟ เนื่องจากเคยใช้ปลูกมันสำปะหลังเป็นหลักมาก่อน แต่เขาพยายามให้ความรู้เกษตรกรเรื่องการดูแลมากขึ้น รวมถึงปรับปรุงดินให้มีแร่ธาตุ

จากการปลูกมันสำปะหลังกิโลละ 2 บาท แต่พอหันมาปลูกกาแฟพวกเขาก็ได้ราคากิโลละ 20 บาท

ส่วนเมล็ดกาแฟที่เขานำมาแสดงในมีหลากหลายชนิด เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันที่ดื่มกาแฟหลากหลายมากยิ่งขึ้น 

14.jpg

ผู้ผลิตกาแฟจากกองพล 93

ทางด้าน มายด์-ปริยานุช กุลบุตร ผู้จัดการร้าน ‘93 Army Coffee’ เล่าให้ฟังว่า ในอดีตคุณปู่ของคุณลิซ เสิน (Liz Shen) เจ้าของร้านเป็นหนึ่งในทหารกองพล 93 (ก๊กมินตั๋ง) ที่มาสู้รบต่อต้านการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์บริเวณพรมแดนไทย และตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณดอยผาตั้ง จังหวัดเชียงราย

12.jpg
“สมัยก่อนนิยมปลูกฝิ่น แต่ต่อมาเจเนอเรชั่น 2 เริ่มหันมาบุกเบิกการทำไร่กาแฟ จนพอมาเป็นเจเนอเรชั่น 3 จึงสานต่อการปลูกกาแฟอราบิก้าออร์แกนิคแบบเต็มตัว”

นอกจากนั้น ‘93 Army Coffee’ ยังขยายกิจการสู่การเปิดโรงคั่วเมล็ดกาแฟ และคาเฟ่ย่านพระราม 4 ในชื่อเดียวกัน

15.jpg
“เราให้เกษตรกรท้องถิ่นมาช่วยปลูกกาแฟ เป็นการสร้างอาชีพ และสร้างความยั่งยืนให้กับพวกเขา” มายด์กล่าว

จุดเด่นของ ‘93 Army Coffee’ คือการเป็นทั้งไร่กาแฟ โรงคั่วเมล็ดกาแฟ บวกกับหน้าร้านที่มีทั้งแบบดริป และเครื่องชง ทำให้อยู่ในกระบวการสร้างสรรค์กาแฟจากต้นจนจิบจริงๆ

“ส่วนตัวเราจะอยู่ในขั้นตอนการคั่วเมล็ดกาแฟ และชงกาแฟตรงหน้าบาร์ ซึ่งการทำทั้งบาริสต้า และโรสเตอร์ด้วย ทำให้รู้ความเป็นมาของกาแฟ เรียนรู้รสชาติแท้จริงของกาแฟ และรู้หลักการพรีเซนต์ เพื่อดึงคาแรคเตอร์ของกาแฟแก้วนั้นๆ ออกมาอย่างเต็มที่” มายด์กล่าวทิ้งท้าย