รายการ Intelligence ประจำวันที่ 13 มกราคม 2555
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ปัญหาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเหมือนทุ่นระเบิดทางการเมืองของไทย ปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เห็นชัดในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง เพราะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำลายล้างผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มี โทษสูง เปิดโอกาสให้ใคร ๆก็กล่าวโทษได้ และการตีความกฎหมายมีปัญหาจนกระทบเสรีภาพในการแสดงความเห็น
ปัญหามาตรา 112 ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้าง มีความเห็นเป็น 3 แนวทาง คือ แก้ไขเนื้อหาให้สอดคล้องสภาพความเป็นจริง แนวทางที่สอง คือ ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ไปเลย และแนวทางที่สาม คือ ไม่แตะต้อง ปล่อยให้คงอยู่ในสภาพเดิม
รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ อ.สาวตรี สุขศรี จากกลุ่มนิติราษฏร์ อธิบายที่มาที่ไปของการเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีรายละเอียดสำคัญ 7 ประเด็น คือ การเปลี่ยนฐานความผิดจากความผิดที่กระทบความมั่นคงแห่งรัฐ เป็นความผิดฐานหมิ่นพระเกียรติ
เพื่อป้องกันไม่ให้ใคร ๆก็แจ้งความกล่าวโทษได้ , การแยกฐานความผิด ว่าด้วย หมิ่นประมาท , ดูหมิ่น , แสดงความอาฆาดมาดร้ายออกจากกัน การแยกการคุ้มครองตำแหน่ง พระมหากษัตริย์ และ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการฯ , การลดอัตราโทษ , การเพิ่มเหตุยกเว้นความผิด การเพิ่มเหตุยกเว้นโทษ และการกำหนดผู้กล่าวโทษ คือ สำนักราชเลขาธิการ
ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของนิติราษฏร์ ได้มาจากการศึกษากฎหมายประเภทเดียวกันของนานาอารยประเทศ และการเปรียบเทียบกับกฎหมายที่ว่าด้วยการหมิ่นประมาทของบุคคลธรรมดา เพื่อให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากที่สุด
ในวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีการจัดกิจกรรมเปิดตัว "คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักกิจกรรม นักคิด นักเขียน นักวิชาการ หลายกลุ่ม เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามข้อเสนอของนิติราษฎร์
Produced by VoiceTV