องค์กรด้านสิทธิแรงงาน 'ไอแอลโอ' ระบุว่าแรงงานต่างชาติที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงไทย ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะยังมีอุปสรรคอีกหลายประการที่ทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ เปิดเผยรายงานเนื่องในวันต่อต้านการค้ามนุษย์โลก เมื่อวานนี้ (30 กรกฎาคม) โดยระบุว่าแรงงานต่างชาติจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิแรงงานและการค้ามนุษย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทำให้ผู้เสียหายหลายรายไม่ได้รับการฟื้นฟูเยียวยา โดยอุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้แรงงานที่ถูกละเมิดหรือตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับช่องทางการร้องเรียนที่ไม่ได้มีมากนัก และข้อจำกัดเรื่องภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร
รายงานของไอแอลโออ้างอิงข้อมูลของศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างชาติในประเทศกัมพูชา มาเลเซีย เมียนมา เวียดนาม และไทย ระหว่างปี 2011 ถึง 2015 ซึ่งมีการยื่นเรื่องร้องเรียนคดีละเมิดสิทธิแรงงานและค้ามนุษย์มากกว่า 1,000 คดี แต่มีผู้เสียหายรวมกันกว่า 7,000 คน ขณะที่รัฐบาลของแต่ละประเทศที่สุ่มสำรวจข้อมูลก็ได้พยายามผลักดันมาตรการป้องกันและปราบปรามปัญหาละเมิดสิทธิแรงงานและการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น ทำให้มีการไต่สวนและดำเนินคดีผู้ก่อเหตุเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยหน่วยงานรัฐบาลในอาเซียนมีคำสั่งให้ผู้ก่อเหตุชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อหลายราย รวมเป็นเงินกว่า 1 ล้าน 6 แสน 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 56.7 ล้านบาท
นายเบน ฮาร์คินส์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ ไอแอลโอ ไทรแองเกิล ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมสิทธิแรงงานในอาเซียนของไอแอลโอ ระบุว่า รูปแบบการเอารัดเอาเปรียบหรือละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศอาเซียนมีความแตกต่างหลากหลาย มีทั้งการหลอกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการจัดทำเอกสารหรือขออนุมัติวีซ่าเพื่อทำงานที่ไม่มีอยู่จริง การเก็บค่าธรรมเนียมสูงเกินความจริงเพื่อหาประโยชน์จากเงินส่วนต่าง การแปลเงื่อนไขสัญญาจ้างงานไม่ตรงกัน โดยจงใจให้ผู้ว่าจ้างได้ประโยชน์มากกว่า การจ่ายเงินค่าจ้างไม่ตรงเวลา รวมถึงการยึดเอกสารสำคัญอย่างหนังสือเดินทาง เพื่อควบคุมไม่ให้แรงงานต่างชาติหลบหนี โดยมีผู้ตกเป็นเหยื่อหลายรายถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวและบังคับให้ทำงานหนักเยี่ยงทาสด้วย
อย่างไรก็ตาม นายฮาร์คินส์ระบุว่า ในหลายกรณีที่ผู้ก่อเหตุละเมิดสิทธิแรงงานอ้างว่าจ่ายเงินชดเชยแล้ว แต่ที่จริงเป็นเพียงการจ่ายเงินส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่ยังค้างอยู่เท่านั้น หรือกรณีที่มีแรงงานต่างชาติต้องการย้ายงานก็มักจะได้รับการตอบสนองที่ล่าช้า หรือบางทีก็ได้รับเพียงเอกสารคืนมา แต่ไม่ได้รับค่าชดเชยเยียวยาใดๆ ซึ่งไอแอลโอเสนอว่าการร่างกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและการค้ามนุษย์ในประเทศอาเซียนจะต้องได้รับการปรับปรุงให้ครอบคลุมการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ นอกเหนือจากการดำเนินคดีเอาผิดผู้ก่อเหตุเพียงอย่างเดียว