ระบบอีเพย์เมนท์ผ่านสมาร์ทโฟนช่วยให้ชายเคนยาถึงร้อยละ 2 พ้นจากความยากจนได้ภายใน 6 ปี และยังช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้หญิงอีกด้วย
เป็นที่ยอมรับกันว่าโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เปลี่ยนโลก และสร้างคุณูปการให้กับสังคมมนุษย์มากที่สุดในบรรดาประดิษฐกรรมทั้งมวล แต่ล่าสุด The Economist นำเสนอการเปลี่ยนแปลงที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างไม่น่าเชื่อจากการแพร่หลายของโทรศัพท์มือถือ นั่นก็คือการช่วยลดความยากจน
ในปี 2016 ที่ผ่านมา ประชากร 2 ใน 5 ของภูมิภาคซับซาฮารา ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ยากจนที่สุดในโลก มีโทรศัพท์มือถือ ในขณะที่การเข้าถึงไฟฟ้าของประชากรส่วนใหญ่ยังมีอัตราส่วนประมาณร้อยละ 25 หรืออย่างมากไม่เกินร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ หมายความว่าโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายว่าไฟฟ้า แม้ว่าคนจำนวนมากจะต้องเดินหลายกิโลเมตรเพื่อหาสัญญาณหรือชาร์จโทรศัพท์ก็ตาม
สิ่งที่เกิดตามมาจากการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือ ก็คือระบบอีเพย์เมนท์ผ่านโทรศัพท์ ซึ่งทำให้คนจำนวนมากสามารถโอนเงิน จ่ายเงินได้โดยตรงผ่านโทรศัพท์มือถือ และทำให้หลายประเทศก้าวข้ามจากการมีระบบธนาคารที่มีเสถียรภาพ ไปเป็นการใช้จ่ายผ่านอี-วอลเล็ททันที เนื่องจากที่ผ่านมา ประชากรส่วนใหญ่ในแอฟริกาเข้าไม่ถึงระบบบัญชีธนาคาร หรือไม่เชื่อใจการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ ทำให้การใช้จ่ายเงินส่วนใหญ่ยังเป็นเงินสด แต่เมื่อมีการพัฒนาระบบอี-เพย์เมนท์ อี-วอลเล็ทขึ้นมาเพื่อใช้กับโทรศัพท์มือถือ คนส่วนใหญ่จึงหันมาใช้งานระบบนี้ เนื่องจากสะดวกสบายและไม่มีขั้นตอนยุ่งยากเท่ากับการเปิดบัญชีธนาคาร
ผลวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT และมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ของสหรัฐฯ พบว่าในเคนยา การแพร่ขยายของระบบอีเพย์เมนต์ผ่านสมาร์ทโฟน ทำให้ประชาชนจำนวนมากสามารถพ้นจากความยากจนได้ เนื่องจากการซื้อขายสินค้าและบริการต่างๆ การโอนเงิน รับเงินระหว่างบุคคลทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการโอนเงินจากคนหนุ่มสาวที่ไปทำงานในเมืองใหญ่ กลับมายังพ่อแม่ในชนบท
ผลวิจัยยังพบว่าระบบอีเพย์เมนท์ M-Pesa เพียงระบบเดียว ซึ่งเป็นระบบที่ชาวเคนยากว่าร้อยละ 96 ช่วยให้ครอบครัวชาวเคนยา 194,000 ครัวเรือน หรือร้อยละ 2 ของประชากรทั้งประเทศพ้นจากความยากจนได้ ในช่วงระหว่างปี 2008-2014 เนื่องจากการส่งเงินกลับสู่ชนบททำได้ง่ายขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง โดยผลสำรวจพบว่าครอบครัวที่ใช้อี-เพย์เมนท์ ประหยัดได้มากกว่าครอบครัวที่ใช้ระบบโอนเงินแบบปกติถึงร้อยละ 22 และปัจจุบัน มีชาวเคนยาเพียง 4 ล้านคนที่มีบัญชีธนาคาร แต่กว่า 10 ล้านคนใช้ M-Pesa
ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นก็คือ อี-วอลเล็ท ช่วยส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในเคนยาด้วย โดยพบว่าอี-เพย์เมนท์กระตุ้นการใช้จ่ายได้มากกว่าเป็น 2 เท่าจากค่าเฉลี่ย ในครอบครัวที่มีหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้หญิง และผู้หญิงที่เข้าถึงอี-เพย์เมนท์ ก็มีแนวโน้มมากกว่าที่จะย้ายจากการทำงานในภาคการเกษตรสู่ภาคธุรกิจ ซึ่งหมายความว่าการใช้จ่ายที่ทำได้ง่ายขึ้น ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีศักยภาพในด้านต่างๆและมีโอกาสมากขึ้น
โอนเงินผ่านมือถือ,ระบบอีเพย์เมนท์,สมาร์ทโฟน,The Economist ,อิเล็กทรอนิกส์