ความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมอาจไม่มาก แต่ดอยสุเทพเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเชียงใหม่ ถกปัญหาวิกฤตอภิสิทธิ์ชน ดุลยพินิจของรัฐมักอยู่เหนือประโยชน์สาธารณะเสมอ ด้านคกก.ปฏิรูปฯ ชี้ป่าแหว่งแนวโน้มเกิดซ้ำ เหตุดูแลโดยหลายหน่วยงาน
27 เม.ย.61 ชมรมนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง(ทุนคิงส์) จัดเสวนาหัวข้อ “เสือดำ และเรื่องที่ …ใหญ่กว่า” ที่ห้องอเนกประสงค์ ชั้น1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วิทยากรประกอบด้วย นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หมอนักอนุรักษ์ รอง ปธ.มูลนิธิสืบฯ ทุนคิงส์ 2526, ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ รอง ปธ.คกก.ปฏิรูปฯ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย), น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด, นายเพชร มโนปวิต นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ IUCN ดำเนินรายการโดย ดร.อรณิชา สว่างฟ้า (ทุนคิงส์ 2540) ภายในงานมีการประมูลผลงานจากศิลปิน-ดารา เพื่อสมทบทุนแก่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หมอนักอนุรักษ์ รอง ปธ.มูลนิธิสืบฯ ทุนคิงส์ 2526 กล่าวว่า ได้เคยจุดประเด็นกรณีการสร้างบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่เรื่องเงียบไป สำหรับความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อาจจะดูเหมือนไม่ได้มากนัก เป็นป่าดีเพียงแต่ว่าไม่ได้มีพันธุ์ไม้หรือสัตว์ป่าหายากเป็นพิเศษ เป็นป่าเต็งรัง และเป็นเรื่องความถูกต้องเหมาะสม สำหรับคนเชียงใหม่ดอยสุเทพไม่ได้เป็นแค่ภูเขาแต่เป็นสถานที่ที่เราเคารพรักเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ ฉะนั้น จึงเป็นบาดแผลที่เราต้องมองอยู่ทุกวัน มองไปแล้วทำไมมีแผลขึ้นไปตรงนั้น
แล้วถ้าทำอย่างนั้นได้เป็นเหมือนกับการเปิดช่องทางให้คนอื่นๆ ทำได้ด้วย เป็นจุดที่จะต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น เรามองว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจหรือทางป่าไม้อาจจะไม่เยอะ แต่ความสูญเสีย ที่ใหญ่ที่สุด คือความศรัทธาและเชื่อมั่นกับกระบวนการยุติธรรมที่อาจจะถูกมองว่าเป็นอภิสิทธิชนหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น
ส่วนการให้เหตุผลในการสร้างบ้านพักตุลาการหลายอย่างก็เรียกแขกทั้งนั้น ฟังแล้วยังรู้สึกว่าไม่เหมาะสมเท่าไหร่
น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า วิกฤตอภิสิทธิ์ชนไม่ได้เพิ่งเป็นวิกฤต แต่เพิ่งมีหลายอย่างที่เป็นอาการ เวลารัฐจะทำอะไร ดุลยพินิจของรัฐ ดูเหมือนจะอยู่เหนือประโยชน์สาธารณะเสมอ ขณะที่ถ้าเป็นเอกชนหรือประชาชนจะทำเช่นเดียวกัน ต้องอธิบายความจำเป็นมากมาย ซึ่งเป็นความลักลั่น
เช่นเดียวกับกรณีบ้านพักตุลาการที่จ.เชียงใหม่ ถ้าจะบอกว่าพื้นที่ตรงนี้มีความสำคัญอย่างไรก็ควรจะใช้มาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าคนที่ขอใช้ประโยชน์จะเป็นใคร อีกประเด็นส่วนตัวเห็นว่า กรณีป่าแหว่งและปฏิกิริยาตุลาการบางท่านที่ออกมาให้ความเห็น ก็น่าสนใจว่าอาจจะยังไม่สะท้อนหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน บางท่านพูดแต่เรื่องกฎหมาย แต่เรื่องหลักนิติธรรม Rule of Law ไม่ได้เริ่มต้นและจบลงที่ตัวบทกฎหมาย แต่มีเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น เช่น การมีส่วนร่วมเขียนกฏหมายเพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะ
รวมถึงกระบวนการบังคับใช้ให้เกิดมาตรฐานที่เท่าเทียม ฉะนั้น กรณีนี้จึงเป็นกรณีศึกษาที่ดีเรื่องนิติธรรมในประเทศไทย ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เราอาจจะไม่ได้ต้องการนวัตกรรมทางการเงินเท่ากับวิธีคิด เราจะเปลี่ยนวิธีคิดได้อย่างไร
นายเพชร มโนปวิต นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ IUCN กล่าวว่า สิ่งที่จะคุกคามหรือมีส่วนเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดคือโครงการของรัฐ เช่น ป่าชายเลน มีหน่วยงานของรัฐขอใช้ประโยชน์ สำหรับกรณีป่าแหว่งมีความน่าสนใจมากเพราะ contrast กับกรณีเสือดำ กรณีเสือดำคือประชาชนกระทำ ขณะที่ป่าแหว่งภาครัฐอ้างว่าถูกกฎหมาย ซึ่งกรมธนารักษ์มีหลายกรณีที่ศาลพิพากษาให้รื้อแต่ปรากฏมีการผ่อนผันให้เปิดบริการ โดยอุทยานไม่สามารถเข้าไปรื้อได้
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพสะท้อนความเห็นของคนรากหญ้ามีการแยกระหว่างคนชั้นสูงกับคนชั้นล่าง ซึ่งถ้าคนไทยยังคิดอย่างนี้ต่อไปเรื่อง “ไพร่-อำมาตย์” ก็จะกลับมาและการต่อสู้ของผู้คนในสังคมก็จะกลับมา วันนี้คนไทยใส่ใจเรื่องคอรัปชั่นมากและไม่ยอมอะไรง่ายๆ
สิ่งที่แย่คือระบบพวกพ้องน้องพี่คอยอุปถัมป์เกรงใจกันอยู่ ทำให้เรื่องเหล่านี้แก้ไขไม่ได้ ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องใหญ่วันนี้คือเรากำลังจะมีบรรทัดฐานใหม่ในสังคม ซึ่งอย่ายอมให้เกิดขึ้น เช่น การอ้างว่า “ยืมเพื่อน คืนไปแล้ว” ถ้าวันนี้ผ่านไปวันข้างหน้าก็จะผ่านไปหมด เช่นเดียวกับการบอกว่า “ถ้าไม่ผิดกฎหมาย ทำอะไรก็ได้” เหมือนกรณีป่าแหว่ง
โดยสรุปคือ เรากำลังมีปัญหา ‘วิกฤตอภิสิทธิ์ชน’ ซึ่งในวันข้างหน้าจะร้ายแรงยิ่งขึ้น เรากำลังมีปัญหาอำนาจนิยมและผลประโยชน์ ระบบอุปถัมป์ หลายเรื่องไม่ถูกแก้ไข คนรวยคนมีอำนาจสามารถเอารัดเอาเปรียบสังคมได้ เพราะทำผิดแล้วไม่ถูกลงโทษ จึงน่าห่วงว่าวันข้างหน้าถ้าไม่ป้องกันวิกฤตอภิสิทธิ์ชน ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม
ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ รอง ปธ.คกก.ปฏิรูปฯ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรณีป่าแหว่งไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ไหนก็ตาม คงต้องบอกว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมด เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น ประเด็นที่อยากจะหยิบยกคือความพยายามของ คกก.ปฏิรูปฯ ร่วมกับพี่น้องประชน ในการรักษาพื้นที่ป่าซึ่งมีต้นไม้ขึ้นในอนาคตให้ยังคงอยู่ให้ได้ ถ้าหายไปต้องมีคนรับผิดชอบ
ในอนาคตอาจจะมีป่าแหว่งอีกเนื่องจากพื้นที่ป่าถูกดูแลโดยหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3 กรม ส่วนกระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ดูแลที่ราชพัสดุ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลที่ สปก. กรมพัฒนาที่ดินดูแลป่าถาวร สำหรับกระทรวงกลาโหมก็ดูแลที่ขอใช้ที่ราชพัสดุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น พื้นที่เหล่านี้ที่อยู่แต่ละจังหวัด ผู้ว่าฯ อธิบดี ต้องพิจารณาความเหมาะสม สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทราบว่ามีการตั้งคณะทำงานติดตามดู ดังนั้น ต้องติดตามกันต่อว่า ดำเนินการอย่างไรทั้งในพื้นที่และในแง่กฎหมาย