เมื่อเดือนที่ผ่านมา การแบนขนสัตว์กลายเป็นเทรนด์ใหญ่ในวงการแฟชั่นโลก แต่ขณะเดียวกัน ในเอเชียบางประเทศยังนิยมใช้ขนสัตว์มาผลิตเสื้อผ้า เพื่อจับตลาดคนรุ่นใหม่ ค่านิยมของโลกแฟชั่นทั้งสองซีกโลกแตกต่างกันอย่างไร
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไดแอน ฟอน เฟอร์สเทนเบิร์ก (Diane von Furstenberg) กลายเป็นดีไซเนอร์ชื่อดังคนล่าสุดที่ออกมาต่อต้านการใช้ขนสัตว์ หลังจาก Burberry , Gucci , Versace , Michael Kors , Ralph Lauren , และ Armani เคยออกมาประกาศไปก่อนหน้านี้
โดย ซานดรา แคมโพส ซีอีโอของแบรนด์ Diane von Furstenberg หรือ DVF ระบุในแถลงการณ์ว่า มันถึงเวลาแล้วที่ DVF ต้องเปลี่ยนแปลงและแสดงความรับผิดชอบในฐานะแบรนด์แฟชั่น ให้มั่นใจได้ว่าเราไม่สนับสนุนการฆ่าสัตว์เพื่อแฟชั่น และเริ่มตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไป DVF จะไม่ใช้ขนสัตว์ หนังสัตว์ รวมไปถึงขนแพะและกระต่ายแองโกราอีกต่อไป
กระแสการแบนขนสัตว์นี้ทำให้ จูเลีย บรัคคัลเลียรี คอลัมนิสต์บันเทิงและแฟชั่นของ The Huffington Post กล่าวว่า เทรนด์ครั้งนี้แตกต่างจากการแบนขนสัตว์ในวงการแฟชั่นครั้งที่ผ่าน ๆ มา ที่มีการต่อต้านแต่ก็นำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนหนึ่งเพราะแบรนด์ใหญ่ ๆ เริ่มจริงจังกับการรณรงค์มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีการเผยแพร่ภาพที่น่าตกใจจากกระบวนการทำขนสัตว์ ทำให้ความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงมาจากทั้งภายในอุตสาหกรรม คือ ผู้ผลิต และภายนอกอุตสาหกรรม คือ ผู้บริโภค
ก่อนหน้านี้ วงการแฟชั่นเคยแบนขนสัตว์มาแล้วครั้งหนึ่ง ในช่วงกลางทศวรรษที่ 90s แต่ก็กลับมาฮิตอีกครั้งในช่วงกลางทศวรรษที่ 2000s โดยช่วงปี 2000 ถึง 2004 ยอดขายขนสัตว์ทั่วโลกพุ่งขึ้นจาก 9,100 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 300,000 ล้านบาท เป็น 11,700 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 400,000 ล้านบาท เมื่อคิดเป็นค่าเงินในปัจจุบัน ขณะที่ มูลค่าของตลาดขนสัตว์ในสหรัฐฯ ปัจจุบันยังคงสูงถึง 114 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 4,000 ล้านบาท และมียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะมีการประกาศแบนโดยเหล่าดีไซเนอร์ดังแล้วก็ตาม
ไม่เพียงแต่ดีไซเนอร์เท่านั้น เมื่อเดือนที่แล้ว สมาคมแฟชั่นอังกฤษได้ประกาศระหว่างงานสัปดาห์แฟชั่นลอนดอนว่างานนี้จะเป็นงานที่ fur-free หรือ 'ปราศจากขนสัตว์' ขณะที่เมื่อย้อนไปช่วงต้นปี ในเดือนมีนาคม ซานฟรานซิสโกก็เป็นเมืองใหญ่เมืองแรกในสหรัฐฯ ที่แบนการซื้อขายขนสัตว์ ต่อจากการประกาศแบนของเบิร์กลีย์และเวสต์ฮอลลีวูด ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
อย่างไรก็ตาม บทความล่าสุดจากสื่อฝั่งตะวันออกอย่าง The Korea Herald กลับสะท้อนภาพที่แตกต่างออกไป โดยระบุว่า แม้จะมีการรณรงค์ต่อต้านขนสัตว์จริงอย่างหนักในประเทศฝั่งตะวันตก แต่ 'ขนสัตว์' ยังคงถือเป็นวัสดุที่มีสถานะทางสังคมอย่างมากในเอเชีย โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้บริโภคผู้หญิงวัยกลางคนในเกาหลี ที่เสื้อโค้ตตัวยาวทำจากขนสัตว์แท้ยังคงเป็นสิ่งที่ระบุถึงความมั่งคั่งได้ดี
ขณะเดียวกัน กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้คล้อยตามกระแสในตะวันตกเสียทีเดียว เพราะยังมีดีไซเนอร์และคนรักแฟชั่นจำนวนมากที่สนับสนุนการใช้วัสดุธรรมชาติในอุตสาหกรรมแฟชั่น และขนสัตว์ก็เป็นวัสดุธรรมชาติอย่งหนึ่ง ตรงข้ามกับขนสัตว์เทียม ที่ทำจากพลาสติกปิโตรเลียม
สัปดาห์ที่แล้ว สมาพันธ์ขนสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ IFF เพิ่งจัดงานประกวดการออกแบบเสื้อผ้า ภายใต้คอนเซปต์ Asia Remix ขึ้นที่กรุงโซล โดยเน้นสนับสนุนดีไซเนอร์หน้าใหม่จากเกาหลี ญีปุ่น จีน ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งแต่ละคนก็นำขนสัตว์มาออกแบบได้โฉบเฉี่ยว หลากสีสัน และง่ายต่อการสวมใส่ยิ่งขึ้น ซึ่งสื่อที่รายงานระบุว่า กรรมการจะตัดสินผู้ชนะจากเทคนิคการตัดเย็บและ eco-chicness หรือ ความชิคแบบรักษ์โลก ของเสื้อผ้าแต่ละคอลเลกชัน
สุดท้ายแล้ว ผู้ชนะในงาน Asia Remix ได้แก่ ดีไซเนอร์ เฉินหลง ที่ใช้ขนสัตว์สีดำและเทา มาตัดกับเสื้อด้านในสีแดง สะท้อนไอเดียว่าขนสัตว์จริงเป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ด้วยดวงอาทิตย์ ซึ่งหลังจากนี้ เขาจะได้ไปแข่งขันในงาน Global Remix ต่อที่มิลาน ในอิตาลี ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
เคลลี สวี ซีอีโอของ IFF ภาคพื้นเอเชีย ให้สัมภาษณ์กับ The Korea Herald ว่าทางองค์กรพยายามเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ว่าขนสัตว์มีไว้สำหรับผู้หญิงวัยกลางคน และความจริงแล้ว คนรุ่นใหม่ก็สามารถสวมใส่ได้เช่นกัน งานนี้จึงเน้นที่จะออกแบบอย่างสร้างสรรค์ ให้ขนสัตว์เป็นสิ่งที่เหมาะกับคนหลากหลายกลุ่ม
นอกจากนี้ สวี ยังระบุว่า ขนสัตว์เทียมไม่ใช่วัสดุที่ยั่งยืน เพราะผลิตจากพลาสติกปิโตรเลียม ที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ทั้งพื้นดิน มหาสมุทร และระบบนิเวศโดยรวม ทำให้แฟชั่นเป็นวงการที่ทำลายธรรมชาติมากเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊ส เท่ากับว่า ในความคิดของเธอ การใช้ขนสัตว์จริงเป็นสิ่งที่มีจริยธรรมมากกว่า
ทั้งนี้ สิ่งที่ฝ่ายสนับสนุนการใช้ขนสัตว์ไม่ได้กล่าวถึง คือ มาตรการการผลิตขนสัตว์ที่ไม่ทารุณสัตว์ ซึ่งเป็นเหตุผลหลักให้หลายประเทศลุกขึ้นมาต่อต้าน