แม้ปัจจุบันทั่วโลกจะหันมาให้ความสำคัญอย่างมากต่อการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมสำหรับกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่งานวิจัยชี้ว่ายังมีกลุ่มคนจำนวนมากที่ยังรู้สึกไม่ปลอดภัยในการเปิดเผยตัวตนในสถานที่ทำงาน เพราะเชื่อว่าจะส่งผลเชิงลบอย่างแน่นอนต่ออาชีพการงาน
เว็บไซต์ CNBC News รายงานว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่สุดในโลกยุคที่โซเชียลมีผลอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตก็คือ การยอมรับในประเด็นของความหลากหลายทางเพศที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้คนออกมาสนับสนุนให้รัฐบาลของตัวเองผ่านกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน เพื่อมอบสิทธิที่เสมอภาคและเท่าเทียมให้กับประชาชนทุกคน ไปจนถึงการนำเสนอความหลากหลายทางเพศในสื่อต่าง ๆ ทั้งวงการข่าวและวงการบันเทิง อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ จำนวนมากยังคงรู้สึกไม่ได้รับการยอมรับที่มากนักในสถานที่ทำงาน
CNBC อ้างอิงข้อมูลการสำรวจจากเว็บไซต์ Glassdoor ที่ทำการสำรวจความเห็นคิดพนักงานจากที่ต่าง ๆ ในช่วงก่อนเริ่มเทศกาล Pride Month หรือเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งผลสำรวจชี้ว่า พนักงานและลูกจ้างกลุ่ม LGBTQ จำนวนมากถึง 4 ใน 10 คนกล่าวว่า พวกเขาไม่กล้าแสดงออกว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเต็มที่เวลาอยู่ที่ทำงาน ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าวก็คือ 'ความกลัว' ว่าจะถูกการกีดกัน แบ่งแยก และการถูกปฏิบัติอย่างแตกต่างไปจากกลุ่มคนรักเพศตรงข้าม ซึ่งผู้ทำแบบสำรวจครึ่งหนึ่งยอมรับว่าการ 'เปิดตัว' ในที่ทำงานจะส่งผลกระทบในทางไม่ดีต่ออาชีพการงานของพวกเขาอย่างแน่นอน
ผลการศึกษาครั้งนี้เน้นย้ำอย่างมากถึงปัจจัยในเรื่องของ 'ความกลัว' และ 'ความกังวล' ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ยังคงจะเกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในสถานที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้มีอำนาจทางกฎหมายในหลายมลรัฐของสหรัฐฯตอบสนองในเชิงสนับสนุนต่อกฎหมายด้านการจำกัดสิทธิเสรีภาพของกลุ่ม LGBTQ เช่นกฎหมายว่าด้วยสิทธิของการเข้าใช้ห้องน้ำสาธารณะของกลุ่มคนข้ามเพศที่ยังคงไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนหรือเป็นธรรมในหลายพื้นที่
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า ‘การเปิดตัว’ ถึงเพศสภาพของพนักงานในสถานที่ทำงานจะส่งผลดีอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพการทำงานทั้งของพนักงานกลุ่ม LGBTQ เอง และต่อหัวหน้างานของพวกเขา โดยงานวิจัยของนักวิจัยชาวออสเตรเลียระบุว่า ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศจะมีความสุขและความพึงพอใจในทุกมิติของการทำงานมากกว่าการที่ต้องปิดบังสภาพหรือรสนิยมทางเพศที่แท้จริงของตัวเอง
สกอต ดูโบสกี ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสารองค์กรของทีมวิจัย Glassdoor ผู้ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศชี้ว่า งานวิจัยนี้เป็นเหมือนเครื่องเตือนสติให้กับทุกคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมว่าประเด็นนี้มีความสำคัญมากแค่ไหน และที่สำคัญก็คือการทำงานวิจัยนี้ทำให้เขาเองรู้สึกประหลาดใจ เศร้าใจ และผิดหวังอย่างมากที่ในปัจจุบันยังมีกลุ่มคน LGBTQ มากถึง 4 ใน 10 คนที่มีความเชื่อว่าการกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเองในที่ทำงานนั้นจะสร้างความไม่มั่นคงและความเสี่ยงให้กับหน้าที่การงานของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม สกอตยอมรับว่าเขาไม่ได้รู้สึกแปลกใจมากนักกับความจริงที่ว่ามีชาว LGBTQ เกินครึ่งเคยต้องเผชิญกับพฤติกรรมต่อต้านคนที่มีความหลากหลายทางเพศจากคนรอบข้างในสถานที่ทำงาน เพราะตัวเขาเองก็เคยประสบเหตุการณ์เดียวกันมาไม่ใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นเชิงลบต่อกลุ่ม LGBTQ ทั้งแบบตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่นั่นแสดงให้เห็นว่ายังมีความจำเป็นอยู่อีกมากที่ในทุกสถานที่ทำงานจะต้องมีวิธีการหรือกระบวนการสร้างการเรียนรู้ให้กับพนักงานในองค์กรว่าพฤติกรรมแบบใดบ้างคือสิ่งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมในการปฏิบัติกับชนกลุ่มน้อยในสถานที่ทำงาน ซึ่งนอกจากมิติทางเพศแล้ว ก็อาจหมายรวมถึงการปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานที่มาจากต่างชาติและศาสนาด้วย
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัย Glassdoor ยังย้ำให้เห็นถึงประเด็นที่ว่า ในปัจจุบันพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมหาศาลยังคงต้องเดินหน้าทำงานต่อไปโดยไม่ได้รับการปกป้องสิทธิทางกฎหมายที่รองรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราขณะนี้ผู้ที่อาศัยและทำงานอยู่ใน 26 มลรัฐของประเทศสหรัฐฯ นั้น ไม่มีกฎหมายว่าด้วยการปกป้องสิทธิให้กับกลุ่ม LGBTQ
ฉะนั้น จะเห็นได้เลยว่า ไม่ว่าภาคสาธารณะจะแสดงการสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศมากแค่ไหน แต่สิ่งที่สำคัญที่จะสามารถขับเคลื่อนให้เกิดความเท่าเทียมและ 'ความรู้สึกปลอดภัย' ในการใช้ชีวิตในสถานที่ทำงานก็คือการผลักดันและการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมจากผู้มีอำนาจหรือบรรดานายจ้าง
หนึ่งในผู้ตอบแบบสำรวจของทาง Glassdoor ระบุว่า เขาต้องการเห็นการสนับสนุนที่ชัดเจนจากกลุ่มนายจ้างมากกว่านี้ เพราะการที่เหล่านายจ้างตั้งใจออกมาร่วมเดินขบวนในงาน Pride Parade ต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ ยังไม่เพียงพอ เพราะยังไม่ได้ขับเคลื่อนให้เกิดการเป็นแปลงที่เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติกับพนักงานที่เป็นสมาชิกกลุ่ม LGBTQ สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการออกนโยบายที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ เช่น การมอบสิทธิที่เท่าเทียมขั้นพื้นฐานของการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น
ที่ผ่านมา มีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นมากมายในคดีที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความไม่เป็นธรรมในการปฏิบัติต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างเช่นในเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ ศาลสูงสุดเพิ่งจะรับพิจารณาคดีที่จะมีผลโดยตรงกับการมอบสิทธิให้กับบริษัทต่าง ๆ ในการไล่พนักงานออกเพียงเพราะสถานะทางเพศสภาพของพวกเขา เนื่องจากว่ามีผู้ยื่นฟ้องสองคนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ โดยพวกเขาถูกนายจ้างไล่ออกจากที่ทำงานเพราะมีเพศสภาพเป็นเกย์และบุคคลข้ามเพศ
ผู้เชี่ยวชาญด้านการจ้างงานชี้ว่า หากจะมีมาตรการที่ก่อให้เกิดผลกับกลุ่มพนักงานที่เป็น LGBTQ มากที่สุด หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ควรมีมาตรการในการตรวจสอบเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานว่า องค์กรหรือบริษัทนั้น ๆ มีนโยบายที่ชัดเจนในการดูและสิทธิของชาว LGBTQ และมีนโยบายดูและพ่อแม่ที่เป็น LGBTQ ที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกับพ่อแม่ชายหญิงตามที่มีระบุไว้ในกฎระเบียบอยู่แล้ว นอกจากนั้นก็ยังมีนโยบายที่ทั่วโลกพูดถึงกันอย่างการสร้างห้องน้ำสำหรับเพศกลาง หรือบุคคลที่ไม่ระบุเพศ รวมไปถึงการออกแบบแบบฟอร์มเอกสารที่ใช้ในการทำงานที่มีตัวเลือกสำหรับบุคคลที่ไม่ต้องการระบุว่าตนเองเป็นเพศชายหรือเพศหญิง
สกอต ดูโบสกี ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสารองค์กรของทีมวิจัย Glassdoor ทิ้งท้ายไว้ว่า บรรดานายจ้างทุกคนต่างก็มีความต้องการที่จะสร้างเม็ดเงินจากธุรกิจของตัวเองและต้องการที่จะประสบความสำเร็จ แต่พวกเขาจำเป็นจะต้องมีบุคคลที่มีความสามารถอันเท่าเทียมมาเป็นตัวช่วย จึงจะสามารถผลักดันบริษัทและองค์กรไปถึงจุดนั้นได้ อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างทั้งหลายไม่ให้ความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศ และความเป็นอยู่ของกลุ่ม LGBTQ พวกเขาก็จะพลาดโอกาสจากกลุ่มคนที่มีความสามารถกลุ่มนี้ไปอย่างน่าเสียดาย