ศาลเยอรมัน ตัดสินว่าอาการเมาค้างเป็นอาการป่วย จากคดีอาหารเสริมอ้างสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดหัว คลื่นไส้ จากอาการเมาค้างได้
เมื่อวันที่ 23 กันยายน ศาลสูงภูมิภาค (oberlandesgericht) เมืองแฟรงเฟิร์ต ระบุในคำตัดสินคดีหนึ่งให้นิยามการเมาค้าง (kater ในภาษาเยอรมัน) เป็นอาการป่วย
ก่อนหน้านี้บรรดาโจทก์ได้ฟ้องบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดเครื่องดื่มและผงชงดื่ม ซึ่งอ้างว่ามีสรรพคุณแก้เมาค้าง ฝ่ายโจทก์ชี้ว่านี่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณด้านสุขภาพอย่างผิดกฎหมาย
ศาลได้ตัดสินให้การเมาค้างเป็นอาการป่วย บริษัทอาหารจึงไม่สามารถอ้างสรรพคุณในการรักษาได้ ซึ่งศาลเยอรมันกล่าวในคำตัดสินว่า "ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่สามารถอ้างว่ามีคุณสมบัติในการยับยั้ง รักษา หรือเยียวยาอาการป่วยของมนุษย์ หรือทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีคุณสมบัติเช่นนั้นได้"
ศาลได้ขยายความต่อว่าอาการป่วยนั้น คือการเกิดการรบกวนที่เปลี่ยนแปลงการทำงานหรือภาวะปกติของร่างกายไปแม้จะเพียงเล็กน้อยหรือชั่วคราวก็ตาม นั่นรวมถึงอาการอ่อนล้า คลื่นไส้ และปวดหัวด้วย ทางบริษัทจำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทสามารถแก้อาการเหล่านี้ได้ และผู้พิพากษายังชี้อีกว่าในทางการแพทย์นั้น ก็มีคำว่า ไวซัลเกีย (Veisalgia) ซึ่งเป็นศัพท์ทางการแพทย์สำหรับอาการเมาค้างอยู่แล้วด้วย
ทั้งนี้ ไม่มีการเปิดเผยชื่อบริษัทฝ่ายจำเลย คำตัดสินนี้ออกมาประจวบเหมาะกับช่วงเริ่มเทศกาลอ็อกโทเบอร์เฟสต์ (Oktoberfest) เทศกาลกินดื่มที่มีชื่อเสียงของเมืองมิวนิกพอดี
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ได้มีงานวิจัยที่เผยแพร่ผ่านวารสารโภชนศาสตร์คลินิกอเมริกา (American Journal of Clinical Nutrition) ศึกษาว่าการกินไวน์ก่อนหรือหลังเบียร์ส่งผลต่อการลดอาการเมาค้างหรือไม่ พบว่าลำดับการดื่มไม่ส่งผลให้เมาค้างมากหรือน้อยกว่าแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ในงานวิจัยระบุว่าอาการเมาค้าง เป็นอาการไม่พึงประสงค์ทางร่างกายและเกิดขึ้นเมื่อระดับแอลกอฮอล์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการดื่ม ปรับตัวลดลงจนเหลือศูนย์ โดยปัจจุบันอาการเมาค้างไม่มีวิธีการรักษาทางการแพทย์ที่ชัดเจน มีแต่เรื่องที่เชื่อต่อๆ กันมาเท่านั้น และอาการเมาค้างก็เป็นสัญญาณเตือนของร่างกายให้มนุษย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในอนาคต ให้งดการดื่มเพื่อจะได้ไม่ต้องประสบอาการปวดหัวหรือคลื่นไส้เช่นนี้อีก