ประเด็นที่ผู้เขียนชื่นชอบที่สุด คือการที่มันไม่ใช่เรื่องการจัดบ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นการจัดการชีวิตและสภาพจิตใจด้วย
เดือนแรกของปี 2019 ซีรีส์ที่มีคนพูดถึงเยอะที่สุดเรื่องหนึ่งคงหนีไม่พ้น Tidying Up with Marie Kondo ที่แม้จะออกอากาศตั้งแต่ 1 มกราคมที่ผ่านมา แต่จนถึงช่วงท้ายเดือน ก็ยังเห็นบทความตามเว็บไซต์ต่าง ๆ เขียนถึงเรื่องนี้แทบทุกวัน ซึ่งก็น่าสนใจดีกว่ามีทั้งเสียงตอบรับด้านบวกและด้านลบ อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกจำนวนมากที่สงสัยว่า มาริเอะ คนโดะ คือใครกัน และอะไรทำให้เธอถูกพูดถึงเป็นวงกว้างไปทั่วโลก
มาริเอะ คนโดะ คือหญิงสาวชาวญี่ปุ่นวัย 34 ปี ที่โด่งดังจากการเขียนหนังสือว่าด้วยการจัดบ้านชื่อ The Life-Changing Magic of Tidying Up ที่ตีพิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่นในปี 2011 ก่อนจะถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 2014 เธอเรียกวิธีการจัดบ้านของตัวเองว่า KonMari Method โดยหนึ่งในไอเดียที่น่าสนใจและอาจแปลกประหลาดสำหรับบางคน คือการถามตัวเองว่าสิ่งของต่าง ๆ ในบ้าน 'Spark Joy' คือ ทำให้เรามีความสุข หรือไม่ ถ้าใช่เราก็ควรที่จะเก็บมันไว้ ถ้าไม่ใช่ก็ควรทิ้งเสื้อผ้าหรือสิ่งของชิ้นนั้นไป
หลังจากที่หนังสือจัดบ้านชื่อ The Life-Changing Magic of Tidying Up หรือ 'ชีวิตดีขึ้นทุก ๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว' ของคนโดะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยขายไปได้มากกว่า 8.5 ล้านเล่มทั่วโลกในเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว เมื่อปลายปี 2017 เธอเพิ่งเปิดคอร์สออนไลน์สอนจัดบ้านผ่านโฮสต์ Udemy โดยใช้ชื่อว่า Tidy Up Your Home และเธอยังได้ประกาศผ่านทางโซเชียลมีเดียอย่างเป็นทางการว่าเธอได้ตอบตกลงสร้างซีรีส์พิเศษ 8 ตอนร่วมกับบริษัทสตรีมมิงระดับโลกอย่าง Netflix โดยมี เกล เบอร์แมนโปรดิวเซอร์สาวจาก The Jackal Group มาอำนวยการสร้างซีรีส์ทั้ง 8 ตอนให้โดยเริ่มฉายทาง Netflix ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา
หากได้ลองเข้าไปชมซีรีส์ชุดนี้ ก็จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนโดะเธอเป็นคนที่มีเสน่ห์และน่ารักอย่างมาก แม้จะเป็นผู้หญิงร่างเล็ก แต่เธอก็พูดจาฉะฉาน มีความมุ่งมั่น และเต็มไปด้วยพลังบวก ในซีรีส์แต่ละตอนจะเห็นว่าคนโดะไม่กลัวที่จะเดินสำรวจปีนป่ายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ของบ้านอย่างมุ่งมั่น แต่ขณะเดียวกัน เธอก็มีความโก๊ะกังเดินสะดุดนั่นนี่ และมอบความเพลิดเพลินให้กับคนดูด้วยท่าทางน่ารักสดใสสไตล์โมเอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาพูดว่า 'Spark Joy' จนเหมือนมีประกายอะไรสักอย่างออกมา
แต่เหนือสิ่งอื่นใดเธอเป็นมิตรและปรับตัวเข้าหาคนได้เก่งมาก เธอสามารถสื่อสารและรับมือเจ้าของบ้านชาวอเมริกันในแต่ละตอนได้หมด ไม่ว่าพวกเขาจะมีคาแรกเตอร์แบบไหน บทความจากเว็บฝั่งญี่ปุ่นถึงขั้นบอกว่าเธอจงใจบุกตลาดอเมริกัน เพราะเชื่อว่าความคาวาอี้แบบนี้จะเป็นที่หลงรัก และหลังจากโด่งดังที่เมืองนอกแล้ว เธอก็สามารถ Re-import ตัวเองกลับเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ (ในบทความรวบรวมคอมเมนต์ทางทวิตเตอร์ของชาวญี่ปุ่นที่ออกไปในทางหมั่นไส้และเหม็นหน้าคนโดะกันพอควร)
วิธีการจัดบ้านแบบ KonMari Method นั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ และนำไปใช้ได้ง่ายและใช้ได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นการม้วนเสื้อผ้าเพื่อลดพื้นที่ การพับเสื้อผ้าให้เป็นลักษณะสามเหลี่ยม เทคนิคการเก็บของในกล่องซ้อนกล่องไปเรื่อย ๆ หรือการตัดใจทิ้งสิ่งของที่ไม่จำเป็นหรือแทบไม่ได้ใช้ อย่างไรก็ดี ซีรีส์ชุดนี้ไม่ได้บอกอย่างชัดเจนมากนักว่าเราควรจัดการกับข้าวของกองพะเนินที่เลือกจะทิ้งอย่างไร แม้ในบางตอนเราอาจจะเห็นเจ้าของบ้านเอาไปบริจาคหรือขายที่ตลาดมือสองก็ตาม
ซึ่งเรื่องของ 'การทิ้ง' นี่เองที่กลายเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งที่คนโดะถูกโจมตี ตัวอย่างคือการที่เว็บ Daily Mail ออกมารายงานข่าวว่าในออสเตรเลียเกิดกระแสคนแห่เอาของไปบริจาค จนหน่วยงานต่าง ๆ ต้องขึ้นป้ายงดรับของชั่วคราว และในข่าวยังระบุด้วยว่า KonMari นี่เหมือนจะกลายเป็นลัทธิเสียแล้ว อีกประเด็นคือการทิ้งหนังสือที่ทำให้ชาวหนอนหนังสือหัวร้อนและออกมาด่าว่าการทิ้งหนังสือเป็นเรื่องให้อภัยไม่ได้ หนังสือบางเล่มเราก็ไม่รู้หรอกว่าวันหนึ่งอาจจะได้ใช้มัน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ได้รับคำชื่นชมอย่างมากจากซีรีส์ Tidying Up with Marie Kondo คือ การดำเนินเรื่องที่ไม่ใช่แค่การโฟกัสไปที่แค่เรื่องการจัดบ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นการจัดการชีวิตและสภาพจิตใจของสมาชิกในครอบครัวอย่างลงตัวอีกด้วย เพราะบางครอบครัวที่ภายนอกดูมีความสุขดี แต่ในบ้านเต็มไปด้วยข้าวของยุ่งเหยิงที่เป็นสิ่งบั่นทอนการใช้ชีวิตของพวกเขา และหลังจากคนโดะเข้าไปช่วยแนะแนวทางก็ดูเหมือนพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น สบายใจสบายกายขึ้น หรืออีกตอนหนึ่งที่ว่าด้วยแม่หม้ายที่ต้องตัดใจทิ้งข้าวของของสามีผู้ล่วงลับ ก็เป็นการปล่อยวางอีกอย่างหนึ่งที่ทรงอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมได้อย่างน่าประทับใจมาก
สำหรับแนวคิดหลักอย่าง Spark Joy ที่แม้จะมีความน่ากังขาอยู่บ้าง แต่คนโดะก็มี 'ระเบียบ' และ 'ลำดับ' ที่ชัดเจน โดยเธอจะให้เริ่มต้นจากการจัดของง่าย ๆ อย่างเสื้อผ้าและหนังสือก่อน แล้วค่อยจัดสิ่งของที่มีคุณค่าทางใจเป็นลำดับสุดท้าย เพราะนั่นคือด่านที่ยากที่สุด ท้ายที่สุดแล้ว คนโดะอาจจะเป็นเพียงคนให้แนวทางการจัดระบบของบ้าน เครื่องใช้ และชีวิตเท่านั้น แต่กับคำถามที่ว่า 'ความสุขคืออะไร' หรือ 'อะไรทำให้เรามีความสุข' นั้น เป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องค้นหาด้วยตัวเอง