นักวิจัยจากสหรัฐฯ พบว่า การตรวจเลือดมารดาสามารถคาดการณ์กำหนดคลอดได้ในลักษณะเดียวกับการอัลตราซาวนด์ โดยที่จะสามารถระบุเคสเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดได้ล่วงหน้า ทำให้มีโอกาสช่วยชีวิตทารกได้ทันเวลา
ทีมนักวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัย นำโดย สตีเฟน เควก จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยด้านพันธุศาสตร์ เปิดเผยผลการศึกษาที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science ฉบับล่าสุด ระบุว่าการตรวจกรดนิวคลีอิกบางตัวในเลือดมารดา สามารถคาดคะเนอายุครรภ์และกำหนดคลอดได้อย่างแม่นยำ และมีราคาถูกกว่าการอัลตราซาวนด์ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาทารกเสียชีวิตเพราะคลอดก่อนกำหนดอย่างกะทันหันลงได้
ทั้งนี้ การเสียชีวิตเพราะคลอดก่อนกำหนดอย่างกะทันหันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในทารก และการอัลตราซาวนด์ก็ไม่สามารถช่วยคาดการณ์ภาวะดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม การตรวจกรดนิวคลีอิกในเลือดหญิงตั้งครรภ์ในงานวิจัยล่าสุด ทำให้นักวิจัยสามารถระบุเคสคลอดก่อนกำหนดได้ล่วงหน้าเป็นเวลา 2 เดือน
ปัจจุบัน มีทารกคลอดก่อนกำหนดทั่วโลกแต่ละปีรวมทั้งสิ้นราว 15 ล้านคน ซึ่งแม้ว่างานวิจัยฉบับนี้ยังคงต้องทดสอบเพิ่มเติมกับกลุ่มตัวอย่าง เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่แม่นยำยิ่งขึ้น แต่ทีมนักวิจัยก็คาดหวังว่า วิธีนี้จะช่วยระบุภาวะตั้งครรภ์เสี่ยง และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ