มีรายงานว่ากูเกิลกำลังซุ่มพัฒนาเสิร์ชเอนจินที่จะรองรับการเซนเซอร์ของทางการจีน เพื่อหวังตีตลาดใหญ่ที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน
เว็บไซต์ข่าว The Intercept รายงานว่า บริษัทกูเกิลกำลังพัฒนาแอปพลิเคชันค้นหาข้อมูลสำหรับมือถือระบบแอนดรอยด์ที่ใช้ชื่อว่า ‘ดรากอนฟลาย (Dragonfly)’ โดยจะจำกัดการเข้าถึงข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ศาสนา และการประท้วงอย่างสันติ ซึ่งแอปฯ นี้จะระบุและคัดกรองเว็บไซต์ที่ถูกระงับโดย ‘Great Firewall’ ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมเนื้อหาอินเทอร์เน็ตของจีน โดยอัตโนมัติ
โดยสำนักข่าว AFP ได้เผยข้อมูลจากแหล่งข่าวภายในว่า พนักงานในกูเกิลต่างกังวลกับข่าวดังกล่าว ซึ่งบางส่วนนั้นก็ไม่พอใจกับการตัดสินใจของบริษัทครั้งนี้ ซึ่งผู้แทนของกูเกิลได้ปฏิเสธที่จะชี้แจงว่าโครงการนี้มีอยู่จริงหรือไม่ บอกเพียงแค่ว่าบริษัทได้ให้บริการแอปพลิเคชันบนมือถือหลายอย่างในจีน ไม่ว่าจะเป็น Google Translate และ Files Go นอกจากนั้น ยังร่วมลงทุนในเว็บไซต์ขายส่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังอย่าง JD.com
ก่อนหน้านี้ กูเกิลประสบปัญหาในการทำธุรกิจในจีน โดยมาตรการเซนเซอร์ที่เข้มงวดของประเทศได้ทำให้โซเชียลมีเดียชื่อดังหลายเจ้าถูกบล็อก ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก รวมถึงเว็บไซต์ข่าว The New York Times ซึ่งกูเกิลได้ปิดการให้บริการเว็บเสิร์ชเอนจินในจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ปี 2010 เพราะถูกเซนเซอร์ และยังโดนแฮกซอร์สโค้ด รวมถึงบัญชีอีเมลของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวจีนอีกด้วย แต่ทางบริษัทยังคงว่าจ้างพนักงาน 700 คน ในจีนเพื่อทำงานในโปรเจกต์อื่นต่อไป
อย่างไรก็ตาม ข่าวนี้ได้ทำให้นักสิทธิมนุษยชนหลายฝ่ายกังวล โดยแพทริก พูน นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประจำประเทศจีน ได้ออกแถลงการณ์ว่า หากกูเกิลยอมรับมาตรการเซนเซอร์อันสุดโต่งของจีนเพียงเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการตลาด ก็จะถือเป็นยุคมืดของเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต เพราะการที่กูเกิลให้ความสำคัญกับกำไรมากกว่าสิทธิมนุษยชนเช่นนี้ อาจทำให้บริษัทอื่นทำตาม และไม่ต่างอะไรกับการหยิบยื่นชัยชนะให้กับรัฐบาลจีน