ผู้บริหารกูเกิลยอมรับว่า 'โปรเจกต์ดรากอนฟลาย' มีอยู่จริง แต่ไม่ทราบรายละเอียดการใช้งานอื่น ๆ
กูเกิลออกมายอมรับเป็นครั้งแรกแล้วว่า 'โปรเจกต์ดรากอนฟลาย' เสิร์ชเอ็นจินที่มีระบบควบคุมข้อมูลในจีน ซึ่งเปิดโอกาสให้รัฐบาลจีนเข้าแทรกแซงข้อมูล มีอยู่จริง แต่ผู้บริหารที่ยืนยันข้อมูลนี้ระบุว่า เขาไม่ทราบรายละเอียดอื่น ๆ ของโปรเจกต์นี้
ทั้งนี้ คีท เอ็นไรต์ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลส่วนตัวของกูเกิล กล่าวต่อสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า โปรเจกต์ดรากอนฟลายมีอยู่ แต่ขอบข่ายการทำงานนั้นไม่ชัดเจน ซึ่งก่อนหน้านี้ The Intercept เคยรายงานว่ากูเกิลเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชันเสิร์ชเอ็นจินนี้ขึ้นมา เพื่อรัฐบาลจีนโดยเฉพาะ โดยมีการขึ้นบัญชีดำเว็บไซต์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ศาสนา และประเด็นละเอียดอ่อน ไม่ให้ผู้ใช้เข้าถึงได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับการเปิดตัวบริการเสิร์ชเอ็นจินในจีนของกูเกิล และการใช้งานที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชน เอ็นไรต์กลับตอบว่า กูเกิลไม่ได้ใกล้ที่จะเปิดตัวบริการเช่นนั้นในจีนเลย และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่ แต่หากวันหนึ่งมีการพัฒนาบริการดังกล่าวจริง และดำเนินการมาถึงขั้นตอนสุดท้ายก่อนเปิดตัว ก็จะมีการตรวจสอบความเป็นส่วนตัวของระบบอย่างรอบด้าน ให้สอดรับกับค่านิยมของบริษัทอย่างแน่นอน