หลุยซา ราเกอร์ อุปทูตคณะผู้แทนอียูประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์เดอะการ์เดียนของอังกฤษ หลังถูกองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' หรือ HRW ยื่นเสนอรายงานเรื่อง “โซ่ที่ซ่อนไว้: การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย” เรียกร้องให้อียูกดดันรัฐบาลไทยให้แก้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงานบังคับที่ยังคงเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมประมงไทย
ราเกอร์ยอมรับกับเดอะการ์เดียนว่า การแก้ปัญหาประมงไทยยังมีจุดอ่อนอยู่บ้าง แต่ขณะเดียวกันก็มีความก้าวหน้า ทำให้อียูเชื่อมั่นและพร้อมทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย เพื่อกำจัดปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไม่ได้รับการควบคุม (IUU) ให้หมดไป
ท่าของของราเกอร์เกิดขึ้นหลังจาก พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงตอบโต้ฮิวแมนไรท์วอทช์ กรณีเผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2018 โดยระบุว่าองค์กรสิทธิฯ แห่งนี้ ละเลยการนำเสนอความก้าวหน้าของไทยในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่มุ่งนำเสนอด้านลบโดยเฉพาะปัญหาค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง และน่าผิดหวังที่ฮิวแมนไรท์วอทช์เลือกรายงานข้อมูลที่ปราศจากข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ในพื้นที่ พัฒนาการด้านบวก หรือความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการค้ามนุษย์ที่สหรัฐฯ ได้ปรับสถานะของไทยดีขึ้นจากระดับ Tier 3 เป็น Tier 2 Watch List ส่วนอียูก็มีความพอใจในความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทยมากเช่นกัน
ด้านกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกแถลงการณ์โต้ฮิวแมนไรท์วอทช์เช่นกันว่า รายงานดังกล่าวเหมารวม ขาดพยานหลักฐาน และเต็มไปด้วยอคติทางการเมือง ปราศจากการนำเสนอข้อเท็จจริงและความพยายามของรัฐบาลไทย และที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศจัดให้มีช่องทางหารืออย่างไม่เป็นทางการกับองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ รวมถึงฮิวแมนไรท์วอทช์ ในไทยอยู่เสมอ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ข้อมูลที่จะช่วยสร้างความกระจ่างกับหลายประเด็นที่ถูกกล่าวหาในรายงานนี้ไปไม่ถึงฮิวแมนไรท์วอทช์ ที่นั่งเขียนรายงานอยู่อีกมุมของโลกและมักเลือกที่จะเพิกเฉยต่อพัฒนาการต่างๆ ในพื้นที่
กต.ย้ำด้วยว่ารัฐบาลไทยตระหนักดีถึงการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศ และย่อมสามารถปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยเมื่อเดือน พ.ย. 2560 รัฐบาลได้ประกาศ "วาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับปี 2561-2562" ซึ่งจะทำให้สิทธิมนุษยชนถูกกำหนดให้เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานในทุกด้านของรัฐบาล และมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคส่วนต่างๆอย่างต่อเนื่อง รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติและองค์กรภาคประชาสังคม
ในขณะที่ นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ เรื่อง “โซ่ที่ซ่อนไว้ฯ” เช่นกันว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญญาที่เกี่ยวข้องสิทธิแรงงาน การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานบังคับ โดยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับตำรวจ ทหาร กรมประมง กรมการจัดหางาน ศรชล. และ ศปมผ. ในการตรวจแรงงานในเรือประมง ทั้งก่อนทำประมง ขณะทำประมง และหลังทำประมง ตั้งแต่ปี 2558-2560 พบการกระทำผิด 110 ลำ และได้ดำเนินคดีทางอาญากับเรือที่กระทำผิดแล้ว
ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดให้การจ้างงานในกิจการประมงต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือน โดยสัญญาจ้างต้องทำเป็น 2 ชุด ให้ลูกจ้างเก็บไว้ 1 ชุด หากไม่ทำสัญญาจ้าง ลูกเรือจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงเรือประมง
การออกมาโต้ตอบของรัฐบาลนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ฮิวแมนไรท์ วอทช์ เปิดเผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2018 ในส่วนของประเทศไทยว่า รัฐบาลคสช. ไม่สามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมโลก รวมถึงสหประชาชาติ ที่ว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชนและคืนประชาธิปไตยให้กับพลเมืองได้ แม้จะประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่กลับไม่มีการยุติการกดขี่สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง กักขังผู้เห็นต่าง และยังไม่ลงโทษผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
แบรด อดัมส์ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า “รัฐบาลทั่วโลกควรผลักดันรัฐบาลทหารของไทยให้ยุติการลิดรอนสิทธิมนุษยชนโดยทันทีและเคารพในหลักสิทธิเสรีภาพ พร้อมทั้งนำประเทศกลับคืนสู่การปกครองโดยพลเรือนตามหลักประชาธิปไตย”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ที่มา :