แม้ข้าวขาวจะยังเป็นอาหารหลักของชาวเอเชีย รวมถึงชาวไทยส่วนใหญ่ แต่เทรนด์รักสุขภาพและอาหารออร์แกนิกที่ยังมาแรงต่อเนื่อง บวกกับการขยายตัวของชนชั้นกลางกำลังซื้อสูง ควบคู่กับการพัฒนาทางการเกษตรที่รุดหน้า ทำให้มีการบุกเบิกผลิตและจำหน่ายข้าวสายพันธ์ใหม่ๆอย่างข้าวไรซ์เบอรี ข้าวพันธุ์พื้นเมืองสีแดง เหลือง ดำ หรือข้าวธรรมดาที่ปลูกแบบออร์แกนิกและไม่ขัดขาว ขายในราคาแพงกว่าข้าวขาวทั่วไปหลายเท่าตัว
ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าข้าวพรีเมียมเหล่านี้จะช่วยยกระดับชาวนาไทยให้พ้นจากภาวะยากจนและคุณภาพชีวิตต่ำ เนื่องจากข้าวที่ขายได้ราคาจะทำให้รายได้เฉลี่ยของชาวนาสูงขึ้น และการปลูกข้าวออร์แกนิกที่ไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ก็ทำให้สุขภาพของชาวนาดีขึ้นด้วย
ข้อมูลจากสหกรณ์กรีนเนท เครือข่ายประสานงานและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเกษตรกรทางเลือกและเกษตรอินทรีย์กับภาคเอกชนและผู้บริโภคของไทย พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การทำเกษตรออร์แกนิกในไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ทุกปี ในปี 2015 มีผู้ทำการเกษตรแบบออร์แกนิกกว่า 13,000 ราย โดยประเมินว่าผู้หันมาทำเกษตรออร์แกนิกจะมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-15 เนื่องจากแม้ต้องใช้แรงงานมาก และผลผลิตต่ำกว่าการเพาะปลูกแบบปกติ แต่ก็ขายได้ราคาดีกว่า เช่นสมาชิกของสหกรณ์กรีนเนท จะขายข้าวให้สหกรณ์ในราคาสูงกว่าราคาตลาดถึงร้อยละ 40 แม้ว่าการรับซื้อข้าวในราคานี้จะทำให้ต้องขายของในราคาสูงขึ้น แต่เมื่อตัดเรื่องการขายข้าวผ่านคนกลาง เป็นการขายตรงจากสหกรณ์สู่ลูกค้า บวกกับการเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก 100% ก็ทำให้ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อได้ราคาที่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย
เดวิด ดอว์ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ UNFAO ยืนยันว่าในทศวรรษที่ผ่านมา ชาวเอเชียร่ำรวยขึ้น และก็ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จากเดิมที่ข้าวเป็นอาหารพื้นฐานที่มีไว้เพื่อให้อิ่มท้อง ก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกเลือกสรรมากขึ้น ธุรกิจนี้จึงเติบโตได้อีกมาก แต่การที่ชาวนาจะใช้เทรนด์นี้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองได้แค่ไหน ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับมือความท้าทายต่างๆในการทำเกษตรออร์แกนิก ได้แก่การขายข้าวตรงถึงมือผู้บริโภคโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และการสร้างรายได้แบบสร้างสรรค์และหลากหลายจากกิจการของตนเอง
หนึ่งในตัวอย่างของชาวนาที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับรายได้จากการทำเกษตรออร์แกนิก ก็คือฟ้ามุ่ย ฟาร์มเกษตรที่เชียงราย ซึ่งขายข้าวและผลิตภัณฑจากข้าวไรซ์เบอรี โดยเฉพาะข้าวกล้องเพาะงอก หรือข้าวกาบา โดยสามารถอัพเกรดราคาข้าวจากตันละ 8,500-13,000 บาท เป็นตันละ 128,000 บาท และหากเป็นข้าวกาบา สามารถขายได้ราคาสูงถึงตันละ 320,000 บาท
อย่างไรก็ตาม การจะให้ธุรกิจข้าวออร์แกนิกเป็นแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่อยู่ในภาคเกษตรยังเป็นเรื่องยาก สถิติล่าสุดพบว่าชาวนาส่วนใหญ่อายุ 54 ปีขึ้นไป ขณะที่คนรุ่นหนุ่มสาว 15-24 ปี ยังคงอพยพเข้าไปทำงานในเมือง อีกปัญหาใหญ่ของชาวนาไทยคือหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยสุงกว่า 100,000 บาทต่อหัว ทำให้ชาวนาไม่สามารถหาเงินทุนมาเริ่มต้นทำเกษตรออร์แกนิกได้ แม้ในระยะยาวจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าก็ตาม นอกจากนี้ การจำทำเขตการค้าเสรีอาเซียนและการไหลบ่าเข้ามาของสินค้าเกษรจากจีน ยังเป็นความท้าทายสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น การแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น เป็นอุปสรรคต่อชาวนารายย่อยที่อาจไม่สามารถทำต้นทุนให้ต่ำเท่าอุตสาหกรรมใหญ่ได้