ภาคส่งออกเป็นฟันเฟืองสำคัญในเศรษฐกิจของไทย ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ลูกค้าสำคัญของไทยคือกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV ที่กำลังเติบโตด้านเศรษฐกิจอย่างมาก คนในประเทศเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น ทำให้ประเทศเหล่านี้เป็นฐานลูกค้าสำคัญของภาคส่งออกของไทย
ที่ผ่านมา สินค้าไทยหลายชนิดได้รับการยกย่องว่าเป็นสินค้ามีคุณภาพ โดยเฉพาะในตลาด CLMV หรือ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ซึ่งชื่นชอบสินค้าไทยหลายประเภทโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค หลายปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศ CLMV ก้าวขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย เทียบเท่ากับประเทศพันธมิตรด้านอุตสาหกรรมอันดับต้นๆอย่างสหรัฐฯ จีน หรือญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศอาเซียนเดิม อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย
ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกร สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยัง CLMV ในปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 6.9 ของการส่งออกทั้งหมด และได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 10.3 ในปี 2559 นอกจากนี้ ตามข้อมูลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ไทยมีอัตราส่งออกสินค้าไปยังตลาด CLMV ขยายตัวในระดับร้อยละ 7-8 ทุกปี และใน 3 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 9.5
กลุ่มประเทศ CLMV ติดอันดับอยู่ในกลุ่ม 15 ประเทศที่จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า และยังมีอัตราการเจริญเติบโตของ GDP สูงเนื่องจากเป็นตลาดเกิดใหม่ ตามข้อมูลกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประเทศในกลุ่มนี้ที่นำเข้าสินค้าจากไทยมากที่สุดคือเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา และลาว
สินค้าจากไทยที่เป็นที่ต้องการของกลุ่มประเทศเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยเมียนมา ซึ่งเพิ่งเปิดประเทศ และกัมพูชาที่กำลังขยายเมือง ทำให้ต้องการอุตสาหกรรมก่อสร้างและสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น สุขภัณฑ์ อุปกรณ์เพื่อการสาธารณูปโภคโดยเฉพาะกัมพูชา ที่เอกชนเริ่มลงทุนสร้างสิ่งก่อสร้างและศูนย์การค้าต่างๆมากขึ้น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจกัมพูชา ทำให้ต้องการอุปกรณ์ด้านสิ่งก่อสร้างจำนวนมาก
คุณ พีรพงษ์ อริยะแจ่มเลิศ ผู้อำนวยการตลาดและผลิตภัณฑ์ บริษัทผู้ผลิตก็อกน้ำเอน่า ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่มีชื่อเสียงในหลายประเทศ และส่งออกไปยังตลาด CLMV ได้รับความนิยมจนถึงขั้นมีสินค้าลอกเลียนแบบ บอกถึงความสำคัญของตลาด CLMV ต่อผู้ประกอบการไทย
นอกจากสินค้าด้านการก่อสร้าง สินค้าด้านการเกษตรจากไทย ยังมีโอกาสเติบโตในกลุ่มประเทศนี้อย่างมาก โดยปัจจุบัน เมียนมาต้องการให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในหลายด้าน เช่น อสังหาริมทรัพย์ และการศึกษา และด้านหนึ่งคืออุตสาหกรรมการเกษตร เช่น ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์พืช ยาฆ่าแมลง ผู้ประกอบการไทยเองก็ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ ขณะที่ไทยและกัมพูชา ได้มีการร่วมค้าและลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าการเกษตรด้วย
สำหรับลาว นอกจากสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป รวมถึงรถยนต์และส่วนประกอบแล้ว สินค้าเด่นที่ไทยส่งออกไปลาวคือสินค้าด้านแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ เช่น เสื้อผ้า หรือเครื่องสำอาง
ด้านเวียดนาม ถึงแม้ว่าจะมีความคล้ายคลึงกับไทย จนถูกมองว่าเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่ง แต่เวียดนามก็นำเข้าสินค้าจากไทยมากที่สุดในกลุม CLMV เพราะเวียดนามยังขาดอุตสาหกรรมต้นน้ำ ก็คือวัตถุดิบ และอุตสาหกรรมกลางน้ำ เช่น สินค้าแปรรูป จึงนำให้ต้องนำเข้าจากไทยไปผลิตป้อนเป็นสินค้าส่งออก เช่น ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยในเวียดนามมีโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่ด้วย เช่น ซัมซุง หรือ แอลจี ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติเกาหลีใต้ ที่ก่อนหน้านี้ย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนาม เพราะมีค่าแรงถูกกว่าและรัฐบาลเวียดนามมีนโยบายดึงดูดนักลงทุนที่ดีกว่า
ถึงแม้ว่า CLMV จะเป็นฐานลูกค้าสำคัญของการส่งออกไทย แต่ยังเหลือช่องโหว่ให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาตนเองได้อีกมาก เช่น พัฒนาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปในตลาดนี้ และช่องทางการเข้าถึงตลาด เช่น อีคอมเมิร์ซ อย่างในลาวที่การค้าออนไลน์กำลังขยายตัว ส่วนอุปสรรคอื่นๆขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า แต่อุปสรรคที่ใหญ่มากของการทำตลาด CLMV คือของลอกเลียนแบบและราคา
การที่จีนเข้ามามีบทบาทใน CLMV เป็นแรงผลักดันสำคัญให้ผู้ประกอบการไทยต้องพัฒนา เพราะบางรายยังนำสินค้าไม่ได้คุณภาพ เช่น สินค้าโล๊ะสต็อกไปขายในประเทศกลุ่มนี้ ขณะที่พวกเขามีตัวเลือกสินค้ามากขึ้นจากจีน