ทางการไทยกำลังมองหาช่องทางการลงทุนให้กับนักธุรกิจไทยในเมียนมา นั่นก็คือการบุกเบิกลงทุนด้านการท่องเที่ยวในรัฐฉาน แต่ธุรกิจนี้ยังมีอุปสรรคจากปัญหาการเมืองเรื้อรัง และความไม่ชัดเจนของกฎหมายเมียนมาเอง
ในยุคที่ทุนไทยหลั่งไหลไปต่างประเทศมากเป็นประวัติการณ์ เมียนมาเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักลงทุน เนื่องจากเป็นตลาดใหม่ ยังมีพื้นที่สำหรับธุรกิจอีกมาก และมีความนิยมในสินค้าไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ของไทยก็จับตามองไปที่รัฐฉาน รัฐใหญ่ที่กินพื้นที่ถึง 1 ใน 4 ของเมียนมา และมีประชากรถึง 6 ล้านคน จากทั้งประเทศ 14 ล้านคน แม้ไม่ใช่เมืองเศรษฐกิจ แต่มีพื้นที่เกษตรดีที่สุด มีศักยภาพสูง ที่สำคัญเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับอุตสาหกรรม
กระทรวงพาณิชย์ยอมรับว่าการลงทุนในรัฐฉานปัจจุบันยังไม่สามารถคาดการณ์เรื่องมูลค่าการลงทุนได้ แต่ที่ไทยวางแผนการลงทุนไว้ คือ ไฟฟ้า ธนาคาร ธุรกิจโรงแรม การแปรรูปเกษตร และปศุสัตว์ โดยจะเน้นไปที่กลุ่มนักลงทุนท้องถิ่น และนักลงทุนรายย่อยของสองฝั่งไทยกับรัฐฉานเป็นหลัก และธุรกิจที่สามารถลงทุนได้ทันที เนื่องจากไทยมีความเชี่ยวชาญ และรัฐฉานก็กำลังต้องการพัฒนา นั่นก็คือการท่องเที่ยว
จายแสงทิพย์หลวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งรัฐฉาน เปิดเผยว่ารัฐบาลท้องถิ่นรัฐฉานสามารถอนุมัติการร่วมทุนกับต่างประเทศได้ในวงเงิน 50 ล้านดอลลาร์ โดยสิ่งที่รัฐฉานต้องการที่สุด คือ การลงทุนทางด้านไฟฟ้า แต่การลงทุนโครงสร้งพื้นฐานยังต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลาง มีขั้นตอนยุ่งยาก ในขณะที่การลงทุนที่ทำได้ทันทีภายในรัฐฉาน คือ การท่องเที่ยว ซึ่งรัฐฉานกำลังประชาสัมพันธ์และสำรวจพื้นที่ เพราะยังมีพื้นที่หลายแห่งยังไม่ได้เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยรัฐฉานมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างหมู่บ้านชาวเขา เมืองโบราณ และวัดเก่าแก่ ไปจนถึงน้ำตกและหุบเขา แม่น้ำลำธารที่สวยงาม นอกจากนี้ ปัจจุบันรีสอร์ตในรัฐฉานส่วนใหญ่ยังคงเป็นของคนในท้องถิ่น ไม่มีมาตรฐานเท่าที่ควร จึงต้องการนักลงทุนต่างชาติเข้าไปช่วยพัฒนา
อย่างไรก็ตาม การลงทุนยังมีอุปสรรคเล็กน้อย นั่นก็คือกฎหมายเมียนมายังไม่อนุญาตให้นักลงทุนเป็นเจ้าของที่ดินได้ตามกฎหมาย เป็นเพียงการเปิดให้เช่าระยะเวลาอย่างน้อย 30 ปี นอกจากนี้ นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนอยู่แล้วจำนวนมากในรัฐฉานก็คือจีน ซึ่งมีอิทธิพลในพื้นที่ทั้งทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน ในฐานะเป็นมหาอำนาจชาติที่อยู่ติดกับเมียนมา และรัฐบาลจีนก็เข้ามาลงทุนเมกะโปรเจ็คหรือโครงสร้างพื้นฐานในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนไทยจึงอาจต้องเจอกับคู่แข่งที่มีศักยภาพสูงจากจีน
ปัญหาอีกประการที่จำต้องคำนึงถึงในการเข้าไปลงทุนในรัฐฉาน ก็คือปัญหาการเมืองเรื้อรังเรื่องความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และรัฐบาลกลางเมียนมา รัฐฉานเป็นหนึ่งในพื้นที่สู้รบสำคัญ มีกองกำลังไทใหญ่หลายกลุ่มที่สู้รบกับทหารพม่ามาหลายทศวรรษ แม้ขณะนี้จะมีการเจรจาทางการเมืองกันอยู่ แต่การสู้รบก็ยังไม่ได้ยุติลงอย่างเด็ดขาด หลายพื้นที่เป็นพื้นที่อิทธิพลทับซ้อนระหว่างทหารกลุ่มชาติพันธุ์และรัฐบาลกลาง ซึ่งทำให้การลงทุนมีความเสี่ยงพอสมควร
ที่สำคัญ แม้เมียนมาจะเปิดประเทศแล้ว และปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน แต่การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศก็ยังมีข้อจำกัด หลายพื้นที่ที่เป็นจุดอ่อนไหวทางการเมืองและจุดยุทธศาสตร์ ไม่อนุญาตให้คนต่างชาติเข้าไป การขอเอกสารต่างๆเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่มีระบบที่ชัดเจนในแต่ละเมือง รวมถึงถนนหนทางก็ยังไม่ดีนัก การเดินทางระหว่างเมืองใช้เวลานาน โดยเฉพาะในรัฐฉานที่เต็มไปด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ส่วนการโดยสารเที่ยวบินในประเทศ ก็มีราคาแพง
อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่ารัฐฉานเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจและท้าทายสำหรับนักลงทุน แม้จะมีความเสี่ยงมาก แต่โอกาสก็มีมาก ในฐานะพื้นที่ใหม่ที่คนไทยเริ่มสนใจเดินทางไป และมีโอกาสที่จะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับชาวจีนและตะวันตกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เทรนด์การท่องเที่ยวยุคนี้ คือการบุกเบิกหาที่ท่องเที่ยวแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร