กระทรวงแรงงาน เผยแรงงานไทยในต่างแดน ปีนี้ สร้างรายได้ส่งเงินกลับประเทศ ผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งเงินกลับประเทศกว่า 94,000 ล้านบาท
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากสถิติแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศพบว่า จำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศประจำปี 2560 ตั้งแต่มกราคม-กันยายน มีจำนวนทั้งสิ้น 90,277 คน โดยการไปทำงานต่างประเทศของคนไทย มีหลายวิธี ทั้งผ่านบริษัทจัดหางานที่ดทะเบียนกับกรมการจัดหางาน การจัดส่งของกรมการจัดหางาน ซึ่งเป็นบริการของรัฐ การแจ้งไปทำงานด้วยนเอง ผ่านนายจ้างในประเทศไทย โดยวิธีที่แรงงานเดินทางไปต่างประเทศมากที่สุดคือการผ่านบริษัทจัดหางาน จำนวนทั้งสิ้น 22,148 คน
สำหรับประเทศที่แรงงานไทย เดินทางกลับไปทำงานมากที่สุดคือ ไต้หวัน จำนวน 26,839 คน รองลงมาเป็นเกาหลีใต้ จำนวน 9,989 คน ญี่ปุ่น อิสราเอล และมาเลเซีย จำนวน 5,159 คน โดยสามารถสร้างรายได้ส่งเงินกลับประเทศไทยโดยผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2560 เป็นเงิน 94,174 ล้านบาท
ตามข้อมูลของกรมการจัดหางาน แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศในไต้หวัน ที่เปิดเผยในเดือนธันวาคมปี 2559 ทำงานในตำแหน่งคนงานทั่วไป ช่างทั่วไป ช่างฝีมือ และช่างฝีมือระดับสูง โดยก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤศจิยนปี 2559 กระทรวงแรงงานไต้หวันปรับแก้กฎหมายการจ้างงาน ให้แรงงานต่างชาติที่ทำงานครบตามสัญญา 3 ปี สามารถต่อสัญญาจ้างงานในไต้หวันได้โดยไม่ต้องกลับประเทศอย่างน้อย 1 วัน โดยนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางานระบุว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อแรงงานไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะแรงงานไม่ต้องเสียค่าบริการจัดหางานรอบใหม่ ซึ่งนายจ้างไต้หวันยังมีความต้องการแรงงานไทยอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับแรงงานชาติอื่น ๆ โดยกฎหมายดังกล่าว ยังกำหนดการเก็บค่าธรรมเนียมดูแลแรงงานของบริษัทจัดหางาน ไม่ให้แพงจนเกินไปด้วย
อย่างไรก็ตาม การทำงานของคนไทย ไม่ได้จำกัดอยู่ในการทำงานที่ถูกกฎหมายเท่านั้น การลักลอบทำงานผิดกฎหมายก็มีจำนวนมากเช่นกัน เช่น ในเกาหลีใต้ โดยจากข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า มีคนไทยพำนักอยู่ในเกาหลีใต้ผิดกฎหมาย โดยการอยู่เกินกำหนดเวลาถึง 50,000 คน โดยตามข้อมูลของกรมการจัดหางานในเดือนพฤษภาคม ปี 2559 เกาหลีใต้ เป็น 1 ในประเทศที่แรงงานไทย ลักลอบไปทำงานอย่างผิดกฎหมายมากที่สุดด้วย
ขณะเดียวกัน การหลอกหลวงแรงงานไปทำงานในต่างประเทศก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียด้วยวิธีแตกต่��กันไป ซึ่งก่อนหน้านี้ นาย สมบัติ นิเวศรัตน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ได้กล่าวว่า การหาคนไปทำงานต่างประเทศในโซเชียลมีเดีย ร้อยละ 99 เป็นการหลอกลวง โดยผู้ที่ต้องการไปทำงานที่ต่างประเทศ สามารถขอคำแนะนำ ตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางาน หรือติดตามข้อมูลการรับสมัครไปทำงานต่างประเทศได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694