ประกาศอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุนิยมวิทยา ปีนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ และจะสิ้นสุดราวกลางเดือนพฤษภาคม สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่แสงแดดที่ร้อนกว่าทุกช่วงของปี แต่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของมนุษย์ก็เพิ่มตามขึ้นด้วย
การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. เผยแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่รับผิดชอบ คือ กรุงเทพมหานคร,สมุทรปราการ และนนทบุรี เพิ่มขึ้น 4% โดยขยายตัวในกลุ่มที่อยู่อาศัย ธุรกิจ และหน่วยงานราชการ ขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่าค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีค จะอยู่ที่ 9,191 เมกกะวัตต์ ซึ่งค่าพีคล่าสุดอยู่ที่ 8,772.71 เมกกะวัตต์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา
แม้ว่าค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดยังไม่ถึงจุดที่คาดการณ์ไว้ แต่ กฟน. ได้เตรียมแผนงานปรับปรุงเฉพาะสำหรับรองรับการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนไว้แล้ว และจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานทั้งหมด พร้อมกันนี้ ยังนำนวัตกรรมทันสมัยอย่างระบบ SCADA และ ระบบ DMS มาควบคุมแรงดันและการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้เกิดความปลอดภัย พร้อมกับระบบ FFM ที่เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม สามารถถ่ายภาพ แจ้งเหตุไฟฟ้าขัดข้องได้ทันที ผ่านแอปพลิเคชั่น MEA Smart Life (เอ็มอีเอ สมาร์ท ไลฟ์)ทำให้ระบบการจ่ายไฟฟ้ามั่นคงตลอดฤดูร้อน
ตามที่ปรากฏในรายงานข่าวต่างๆ ว่าช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงที่เกิดอัคคีภัยมากที่สุด และสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร
กฟน.จึงเผยเคล็ดลับการประหยัดไฟฟ้าและการใช้ที่ปลอดภัย นอกจากหมั่นดูแลบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้พร้อมใช้งานแล้ว ยังต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ด้วย โดยยึดหลัก “ปิด - ปรับ - ปลด - เปลี่ยน” คือปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26 องศาเซลเซียส ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน เปลี่ยนไปใช้เครื่องปรับอากาศที่มีค่าประสิทธิภาพสูง และหมั่นล้างเครื่องปรับอากาศ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
ไม่เปิด-ปิดตู้เย็นบ่อยๆ ไม่ควรกักตุนอาหารไว้ในตู้เย็นเกินความจำเป็น ตรวจสอบขอบยางประตูตู้เย็นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ใช้หลอดไฟ LED แทนการใช้หลอดแบบไส้ เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า เบอร์ 5 ปิดสวิตช์และดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้ง เมื่อไม่ได้ใช้งาน หากอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที ป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร รวมทั้งติดตั้งสายดิน พร้อมเครื่องตัดไฟรั่ว เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า